ทำไมคนภูเก็ตอยากฉีดวัคซีน? แชร์ประสบการณ์คนภูเก็ต หลังฉีดวัคซีนแล้วแสนโดส

ลุ้น ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน​หมู่​ก่อนเปิดเกาะ​ 1​ ก.ค. นี้ ยังรออีก​ 2.4.​ แสนโดส​ “ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต” ยัน ซิโนแวค ลดการติดเชื้อจริง ด้าน​ “นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวฯ” ชี้ เอกชนเป็นกำลังสำคัญช่วยกระจายวัคซีน

คำยืนยันจากภาคประชาสังคมภูเก็ต คือเดินหน้า​ “โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์” รับนักท่องเที่ยววันที่ 1 กรกฎาคมนี้ต่อ แม้จะมีการระบาดระลอก 3 “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต​ เปิดเผยถึงความมั่นใจจากสัญญาณที่ได้รับจากภาครัฐ แม้ปัจจุบันยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามที่จังหวัดภูเก็ต ขอไป 5 แสนโดส เพื่อฉีดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่ประชากรทั้งเกาะให้ได้ 70% แต่เข้าใจเหตุระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ หลายคลัสเตอร์ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกระจายวัคซีน

คนภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนแล้วไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน หลังฉีดวัคซีนล็อตแรก 1 แสนโดสเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564

นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ระบุงานวิจัยผลการฉีดวัคซีนกับการระบาดรอบใหม่ พบว่าคนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จะมีอาการเพียง 20% และ 80% ไม่มีอาการเมื่อได้รับเชื้อ 

ขณะที่คนยังไม่รับวัคซีนมีอาการ 35% และไม่มีอาการ 65% ส่วนวัคซีนเข็มแรกหลังฉีด 2 สัปดาห์ สามารถลดอัตราการป่วยลงได้อย่างชัดเจน เมื่อทำการศึกษาต่อกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เข้ารับการกักตัวใน Local Quarantine หรือ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ระดับจังหวัด พบว่าคนไม่ฉีดวัคซีน มีโอกาสติดเชื้อถึง 8.43% คนฉีดวัคซีนเข็มแรกมีโอกาสติดเชื้อ 6.66% และคนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มีโอกาสติดเชื้อเพียง 2.8% 

หากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในภาคใต้หลายจังหวัด แม้จังหวัดภูเก็ตจะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นชุมชนแออัด แต่หลายจังหวัดในภาคใต้ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ใกล้แซงจังหวัดภูเก็ตไปแล้วในการระบาดรอบ 3

สื่อสาร 3 ด้านปลุกความมั่นใจ คนภูเก็ตพร้อมฉีดวัคซีน

จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่เคยสร้างรายได้ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ต่อปีไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท​ 

หลังต้องเจ็บตัวมานานจากโรคระบาด จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่พูดถึงข้อเสนอปูพรมฉีดวัคซีนทั้งเกาะ เพื่อสร้างความภูมิคุ้มกันหมู่ นำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวลดความเสียหายทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

นายกสมาคมภาคธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ไม่แปลกใจที่คนภูเก็ตต้องการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีเป้าหมายเดียวกัน แต่การจะสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นนั้นต้องทำในหลายทางจึงจะประสบความสำเร็จในทุกมิติ

  1. การสื่อสารระดับโลก ภูเก็ตได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปแล้ว ว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยววันที่ 1 ก.ค. 2564 เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดจากประเทศเซเชลส์​ (หมู่เกาะในแอฟริกาตะวันออก)​ ประเทศมัลดีฟส์​ (หมู่เกาะในเอเชียใต้)​ ซึ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน 
  2. อธิบายกับคนในประเทศ ว่าภูเก็ตกำลังจะเปิดรับนักท่องเที่ยว หลังจากฉีดวัคซีน ครบ 70% ของประชากร ซึ่งยอมเป็นสนามทดลองการฉีดวัคซีน ให้ได้ผลการศึกษาเพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายต่อไป 
  3. สื่อสารกับคนในพื้นที่ โดยใช้คำขวัญรณรงค์ว่า “ฉันฉีดแล้ว” (สำเนียงใต้) พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในแต่ละคน เท่ากับภูมิคุ้มกันประเทศ เรารอดประเทศก็รอด แม้ยอมรับว่าคนมีความกังวลและความกลัว แต่ก็พยายามอธิบายว่าฉีดแล้วจะมีผลข้างเคียงอย่างไร แต่หลังฉีดจะปลอดภัยหากจะนำรูปแบบของการสื่อสารของภูเก็ตไปปรับใช้ แต่ละจังหวัดควรจะต้องมีการสื่อสารในรูปแบบของตัวเอง

ภูเก็ตกระจายวัคซีนอย่างไร ให้เร็วและครอบคลุมมากที่สุด

เพราะมีเป้าหมายที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว 1 ก.ค. นี้ จังหวัดภูเก็ตจึงต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ของประชากร โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 4.6 แสนคน ต้องไปรับวัคซีน ภายในกลาง มิ.ย. เว้น 2 สัปดาห์ สร้างภูมิคุ้มกันหลังฉีด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต บอกว่า 1 เม.ย. ที่ผ่านมา คือวันแรกที่รับวัคซีนล็อตแรก 1 แสนโดส และทยอยรับมาต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังเหลือวัคซีนที่จะต้องได้รับอีก 2.4 แสนโดส จากแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนล็อตใหญ่ ที่คาดว่าจะได้รับในช่วงต้น มิ.ย. จะเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะเฉลี่ยแล้วจะต้องฉีดวันละ​ ไม่ต่ำกว่า 16,000 โดส ภายในเวลา 15 วัน

ที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตมีประสบการณ์การกระจายวัคซีนล็อตแรกได้สูงสุดวันละ 15,000 โดสจึงไม่ยากที่จะทำตามแผน เพียงแต่ขอให้วัคซีนมาตามกำหนด โดยล่าสุดคนภูเก็ตลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านเว็บไซต์ ภูเก็ตต้องชนะ 1.3 แสนคน และลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม เกือบ 4,000 คน 

ส่วนศักยภาพในการกระจายวัคซีนของจังหวัดภูเก็ต มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 10 แห่ง กระจายตัวบุคลากรทางการแพทย์ ออกไปหลายทีมตามจุดกระจายวัคซีนนอกโรงพยาบาล ที่ภาคเอกชนให้ความร่วมมือ ร่วมจัดการระบบให้ ทั้ง สนามบิน สนามกีฬา และโรงแรมเอกชน 

ส่วนการจัดระบบการลงทะเบียนช่วยได้มากในการจัดลำดับคิวของผู้ที่เข้ารับการฉีด ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเคร่งครัดกับเรื่องการนัดหมายให้ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนมาตรงตามเวลานัดและสถานที่  เพราะเว็บไซต์มีการคำนวณจัดสรรไว้ลงตัวแล้ว​ 

เอกชนมีส่วนช่วยอย่างมากให้การกระจายวัคซีนภูเก็ต เป็นไปตามเป้าหมาย

การกระจายวัคซีนจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าขาดภาคเอกชนรวมตัวกัน เพราะมีศักยภาพ ที่จะส่งเสริมภาครัฐ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต บอกว่าก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนก็ช่วยจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่เปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2564 โดยใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า 48 ชั่วโมงมหัศจรรย์ ในการขนเตียง ฟูก พัดลม มาติดตั้ง และเปลี่ยนหอประชุมศาลากลางให้เป็นโรงพยาบาลสนาม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์รับบริจาค เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่อง 

จากบทเรียนของจังหวัดภูเก็ต สู่ข้อเสนอถึงกรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีการกระจายวัคซีนล็อตใหญ่ คือต้องมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ชัดและสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน สำหรับคนจังหวัดภูเก็ตที่เจ็บมานาน ถ้าล้มอยู่นานก็อยากที่จะให้ฟื้นกลับมาโดยเร็ว ถ้าวัคซีนเป็นทางออก ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ 

“มีวิธีคิดที่สำคัญที่สุด คือ เอาปัญหาไว้ข้าง ๆ แล้วเอาวัคซีนเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างก็ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ เก่งกว่าคนภูเก็ต ศักยภาพ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ มีความพร้อมมากกว่า จะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์