จำเลยคดีการเมือง ติดโควิด-19 แล้ว 9 คน

รุ้ง ปนัสยา จี้ กรมราชทัณฑ์เปิดข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำ iLaw เสนอ ช่องทางกฎหมายพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ลดความแออัด ป้องกันการแพร่กระจายโรค

เช้าวันนี้ (12 พ.ค.2564) รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมเปิดไทม์ไลน์ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังจากเดินทางไปศาลอาญาและออกจากทัณฑสถานหญิงกลางได้เดินทางไปโรงพยาบาลพระราม 9 และกลับไปพักที่บ้าน หลังจากนั้นอยู่บ้านพักตลอดจนถึงวันที่ 9 พ.ค. ก่อนที่จะเดินทางไปตรวจเชื้อเมื่อวันที่ 10 พ.ค. โดยเป็นการตรวจแบบ Drive Thru และเมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) เดินทางไปบริเวณหน้าเรือนจำ ช่วงเวลา 18.30-20.30 น. และรู้ผลว่าติดโควิด-19 ในเวลา 20.30 น.

รุ้ง ปนัสยา ขณะรอรับเพนกวิน – แอมมี่ ด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 10 พ.ค. : iLaw

รุ้ง ระบุว่าคนในครอบครัวไม่มีใครมีอาการใดๆ ที่แสดงว่ามีเชื้อโควิด-19 ส่วนตัวเองเพิ่งมีอาการเหนื่อยเมื่อช่วง 20.00 น. ไม่มีอาการอื่น โดยครั้งล่าสุดที่ตรวจโควิด-19 จากในเรือนจำ คือ วันที่ 22 เม.ย. และวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ภาครัฐและกรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงและเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำอย่างตรงไปตรงมา

“วันก่อนที่จะปล่อยออกมาทราบว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางแล้วมากกว่า 50 คน และหนูคาดว่าตอนนี้ทั้งในทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำอื่นคงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมหาศาล ขอให้ทางภาครัฐและกรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงและเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำอย่างตรงไปตรงมาด้วยนะคะ”

นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังคดีการเมืองอีกคนที่เพิ่งมีการรายงานวันนี้ว่าติดเชื้อด้วย คือ ปริญญา ชีวินปฐมกุล หรือ พอร์ท วงไฟเย็น ผู้ต้องหาคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ทวิตข้อความเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (12 พ.ค.) ว่า พอร์ท ได้รับทราบผลการตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (11 พ.ค.) และเขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อทำการรักษาโดยทันที

วันนี้ ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของ “พอร์ท ไฟเย็น” ในคดี ม.112 โดยอนุญาตให้ไต่สวนผ่านคอนเฟอเรนซ์จาก รพ.ราชทัณฑ์ ได้ ล่าสุด เมื่อเวลา 14.12 น.ศูนย์ทนายความฯ ได้ทวิตข้อความ ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว พอร์ท แล้ว ด้วยวงเงิน 200,000 บาท พร้อม 3 เงื่อนไข ไม่ทำกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียสถาบัน, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อความวุ่นวาย และ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

ขณะที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ทวิตข้อความว่า ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีจำเลยคดีการเมืองที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 7 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, จัสติน – ชูเกียรติ แสงวงค์, พอร์ท และ จำเลยคดีทุบรถช่วยเหลือเพนกวิน-พริษฐ์ และ ไมค์-ภาณุพงศ์เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2563 อีก 4 คน ได้แก่ ธวัช, ศักดิ์ชัย, ฉลวย และ สมคิด รวมทั้ง พรชัย ที่ทราบผลว่าติดเชื้อหลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยขณะนี้จัสตินอาการดีขึ้นแล้ว ส่วนอานนท์ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติโดย กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความได้เปิดเผยเมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) ว่า ได้ทราบจากโรงพยาบาลว่า ตอนนี้อานนท์ มีแพทย์ดูแลเป็นอย่างดีและอาการดีขึ้นแล้ว

iLaw ระบุ กรมราชทัณฑ์รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 24 เม.ย.

iLaw ระบุว่า ขณะที่สถานการณ์การพบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าวันสุดท้ายที่กรมราชทัณฑ์รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครต่อสาธารณะ คือ วันที่ 24 เม.ย. ขณะนั้นรายงานว่า มีจำนวน 10 คนแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ 1 คนและผู้ต้องขัง 9 คน

แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานต่อสาธารณะถึงจำนวนผู้ติดเชื้ออีกเลย เพียงแต่ระบุมาตรการในการกักโรคและควบคุมดูแลในเรือนจำเช่น การกักโรคผู้ต้องขังใหม่เพิ่มจาก 14 วันเป็น 21 วัน, การตรวจคัดกรองเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และการตั้งโรงพยาบาลสนาม

iLaw ระบุด้วยว่า จากคำบอกเล่าของไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก แสดงให้เห็นว่า ภายในเรือนจำปรากฏผู้ที่มีอาการคล้ายกับโรคโควิด-19 แต่ยังไม่ได้รับการดูแลเบื้องต้น จนกระทั่งเขาต้องเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจกยาสามัญอย่างพาราเซตามอล ผู้ต้องขังจึงได้รับยาสามัญ แต่ไม่ได้มีการแยกกักตัวผู้ต้องขังที่มีอาการ

นอกจากนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังเป็นอีกคนที่บอกเล่าเรื่องการป้องกันตัวจากโรควิด-19 ในเรือนจำที่ผู้ต้องขังอาจกระทำไม่ได้ เนื่องจากเรือนจำมีความแออัด ทำให้ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ทั้งยังต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ทำให้การป้องกันการแพร่กระจายของโรคอาจเกิดขึ้นไม่ได้จริง เขามองว่า เรือนจำควรจะต้องแจ้งต่อศาลว่า ไม่สามารถดูแลผู้ต้องขังได้เพื่อที่จะนำไปสู่มาตรการผ่อนคลายความแออัดในเรือนจำ

ส่วนการรายงานข้อมูลจากทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ iLaw พบว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตเรือนจำคลองเปรมและเป็นศูนย์กลางรับดูแลผู้ต้องขังและนักโทษที่ป่วยจากทั่วประเทศ ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ได้จัดให้มีแพทย์เข้าไปตรวจที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยทำการตรวจหาเชื้อให้กับผู้ต้องขังไปทั้งสิ้น 1,025 ราย

โดยก่อนหน้านี้ (1 พ.ค.) โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจและรักษาในโรงพยาบาลราชทัณฑ์อยู่เป็นประจำตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2564 ดังนี้ วันที่ 27 เม.ย. มียอดผู้ติดเชื้อ 13 คน, 28 เม.ย. มียอดผู้ติดเชื้อ 13 คน, 29 เม.ย. มียอดผู้ติดเชื้อ 38 คน, 30 เม.ย. มียอดผู้ติดเชื้อ 63 คน และรายงานผลครั้งสุดท้าย คือ วันที่ 1 พ.ค. ระบุจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 64 คน

อย่างไรก็ตาม พบว่าในวันที่ 7 พ.ค. มีการเผยแพร่ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่จำนวน 322 รายแต่ข้อมูลดังกล่าวถูกลบไปในภายหลัง อีกทั้งข้อมูลในส่วนของเรือนจำแต่ละแห่ง ก็ยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด

ผู้ต้องขังในเรือนจำคือ กลุ่มเปราะบางเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

iLaw อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคยุโรปที่ระบุว่า ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากเป็นพิเศษเนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมปิดและใกล้ชิดกัน ทั้งพวกเขาอาจมีโรคประจำตัวและสุขภาพที่แย่กว่าประชาชนทั่วไปจากสุขอนามัยที่ไม่ดี ภูมิต้านทานที่อ่อนแออันมาจากความเครียดและการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ

โดยแนะนำให้เรือนจำปฏิบัติตามมาตรการเช่น คัดกรองและประเมินความเสี่ยงบุคคลทุกคนที่เข้าไปในเรือนจำ, ควรทำความสะอาดสภาพแวดล้อมและฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อยวันละครั้ง, การจัดการปัญหาความแออัดในเรือนจำและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดควรได้รับแจ้งถึงแผนการสำหรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เรือนจำควรแยกกักตัวผู้ต้องขังที่แสดงอาการของโรคและหากจำเป็นก็ต้องส่งตรวจโรค

ปล่อยผู้ต้องขัง ลดความแออัดของเรือนจำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

iLaw ระบุด้วยว่า การรักษาระยะห่างที่เป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้ยากลำบากในเรือนจำที่มีความแออัดสูง ในสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว รัฐบาลบางประเทศได้ตัดสินใจปล่อยผู้ต้องขังในเรือนจำบางส่วนเพื่อลดความแออัดในพื้นที่ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีผลต่อการแพร่กระจายของไวรัส

ซึ่งเรือนจำไทยก็ทำได้เช่นเดียวกันผ่านช่องทางตามกฎหมายหลัก ได้แก่ การพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในกรณีผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวและมีความเสี่ยงเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 โดยมีมาตรการควบคุม เช่น ให้สวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว (EM) จำกัดการเคลื่อนไหวให้อยู่เฉพาะบริเวณบ้านหรือภายในจังหวัดภูมิลำเนา และจัดให้มีพนักงานคุมประพฤติมาคอยติดตามเป็นระยะ

ส่วนผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดจำนวน 58,842 คน หรือร้อยละ 19.11 แบ่งเป็นการฝากขังในชั้นสอบสวน 20,252 คน ชั้นไต่สวนพิจารณา 8,203 คนและชั้นอุทธรณ์และฎีกา 30,387 คน กรณีนี้ศาลอาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขประกันตัวเพิ่มเติมกรณีของผู้ต้องขังในคดีที่อัตราโทษสูง หรือจำเลยที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญาแล้ว เช่น กำหนดให้มีการรายงานตัวพนักงานคุมประพฤติ ห้ามออกนอกประเทศ สวมกำไลข้อเท้าติดตามตัว (EM)

และช่องทางสุดท้ายคือ การพักโทษตามเกณฑ์ปกติ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการพักโทษไว้คือ จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่มีคุณสมบัติ คือ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป, ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก, ได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเพื่อพิจารณาพักการลงโทษและมีผู้อุปการะ

ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการพักโทษอาจปรับเกณฑ์การพักโทษให้ยืดหยุ่นขึ้น  เช่นผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19, ผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปี และผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ควรได้รับการพิจารณาพักโทษเป็นการเร่งด่วน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว