“ธนาธร” ชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19

ฝากรัฐบาลตระหนักความผิดพลาดในการบริหารวัคซีนและเร่งแก้ไข “หมอหม่อง” แนะ ให้ประชาชนมั่นใจ รัฐต้องสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ หลีกเลี่ยงโทนเสียงแบบโฆษณาชวนเชื่อ

วันนี้ (11 พ.ค. 2564) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ระหว่างเข้าฟังคำสั่งอัยการที่สำนักงานอัยการสูงสุด ว่า สถานการณ์การฉีดวัคซีนตอนนี้ ที่ฉีดไปได้เพียงประมาณ 1% กว่า ๆ ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจำนวนการฉีดวัคซีนหลังจากนี้ คงจะเพิ่มขึ้นไม่มาก จนกว่าจะถึงปลายเดือนมิถุนายน ที่วัคซีนล็อตใหญ่จะเข้ามา พร้อมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีน

“ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่อสู้กับโรคระบาด และเชิญชวนประชาชนไปรับการฉีดวัคซีน ต้องบอกว่าวัคซีนแต่ละประเภทมีผลกระทบข้างเคียงกับคนแต่ละกลุ่ม แตกต่างกัน แต่ในภาพรวมของสังคมนั้น ถ้าเราไปช่วยกันฉีดวัคซีนก็จะเกิดประโยชน์ จะทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับสังคมได้ดีกว่า”

ส่วนความเห็นต่อการบริหารวัคซีนของรัฐบาล ธนาธร กล่าวว่า วันนี้สังคมก็คงตระหนักแล้วว่า การบริหารวัคซีน การตัดสินใจ รวมทั้งกลยุทธ์การจัดหาวัคซีนที่เกิดขึ้นเมื่อไตรมาส 3 และ 4 ของปีที่แล้ว มันผิดพลาด ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือแก้ไขความผิดพลาด ด้วยการจัดหาวัคซีนให้ได้หลากหลายมากขึ้นและเร็วมากขึ้น

“การจะได้วัคซีนยี่ห้อใหม่ ๆ มาในจำนวนมากในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้อาจจะยาก เพราะวัคซีนที่มีอยู่อาจจะถูกจับจองไปหมดแล้ว ฝากให้รัฐบาลตระหนักในความผิดพลาดของตนเองในปีที่ผ่านมา และเร่งลงมือจัดหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด หลากหลายที่สุด และฉีดให้เร็วที่สุด”

คนดัง ทยอยเรียกความเชื่อมั่น ชวนคนไทยฉีดวัคซีน

ขณะที่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ “หมอหม่อง” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit เชิญชวนประชาชนไม่ลังเลในการฉีดวัคซีน โดยระบุว่า การรักษาทุกชนิด มีความเสี่ยงมากน้อยต่างกันไป อย่างคนที่กินยาปฏิชีวนะแล้วเกิดอาการแพ้แต่เราก็กินเมื่อจำเป็น เพราะประเมินแล้วว่า ความเสี่ยงที่จะแพ้รุนแรงมีน้อยกว่าโอกาสที่จะแย่หรือตายจากการติดเชื้อ

“เวลาผมรักษาผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ผมฉีดยาละลายลิ่มเลือดให้ผู้ป่วย เพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะช็อก และลดโอกาสเสียชีวิต ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ยาตัวนี้มีโอกาสทำให้เลือดออกรุนแรงได้ โดยเฉพาะเลือดออกในสมองได้ ถึง 1.5% แต่เรายอมรับการรักษานี้ เพราะเรารู้ว่าอันตรายที่เกิดจากตัวโรคมากมายกว่านัก”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง

นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวว่า การรับวัคซีนเป็นการป้องกันสิ่งที่ยังมาไม่ถึงตัว ต่างกับยารักษาโรคที่เราใช้เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยแล้ว จึงส่งผลต่อจิตวิทยาต่อตัวเราเองที่แตกต่างไป สิ่งสำคัญคือ เราต้องพิจารณากันเองเรามีโอกาส ป่วยหนักหรือตายจากโควิด-19 เพียงใด มีโอกาสรับเชื้อแพร่เชื้อ ให้คนที่เรารักมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากประเมินแล้วว่า โอกาสนั้นมีไม่น้อย ก็อย่าลังเลในการรับวัคซีน

นอกจากนี้ ยังแนะนำด้วยว่าหากภาครัฐต้องการสื่อสารให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ต้องใช้ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เอาใจเขามาใส่ใจเรา และหลีกเลี่ยงการสื่อสารแนวโทนเสียงแบบโฆษณาชวนเชื่อ

เช่นเดียวกับ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Somchai Srisutthiyakorn ระบุว่า คนไทยต้องช่วยกันไปฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนไม่ใช่เพื่อตัวเองอย่างเดียวยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะป้องกันมิให้ตัวเองติดเชื้อแล้วกลายเป็นพาหะไปกระจายต่อยังผู้อื่น

“แน่นอนว่า วัคซีนทุกตัวยังไม่ 100% เพราะเป็นการคิดค้นเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจมีผู้แพ้บ้างเป็นธรรมดา ถือว่าเสี่ยงเพื่อชาติ ผมใช้สิทธิจองวัคซีนในโควต้าคนอายุมากกว่า 60 ปี ผ่าน แอป หมอพร้อม  ไม่ยุ่งยากอะไร”

สมชัย ศรีสุทธิยากร

อย่างไรก็ตาม อดีต กกต. ก็มีความเห็นว่าต่อยี่ห้อของวัคซีนว่า อยากให้มีวัคซีนตัวอื่นที่เป็นวัคซีนทางเลือก เช่น โมเดอร์นา (Moderna) เข้ามาได้เร็วกว่านี้เพื่อฉีดในโรงพยาบาลเอกชน  ถึงวันนั้น ถ้าทัน ก็ตั้งใจสละสิทธิของรัฐและไปฉีดโมเดอร์นา ของ รพ.เอกชน แม้ต้องเสียเงิน ไม่ใช่มีเงินมาก แต่ก็อยากได้อะไรที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า (ตามที่ได้อ่านมา)  และจะได้มีวัคซีนของรัฐเหลือไปฉีดให้คนอื่นมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว