ใส่หน้ากากฯ ซ้ำ ความเสี่ยงคนไร้บ้านยุคโควิด-19

เครือข่ายคนไร้บ้านเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งศูนย์ประสานงานเชิงรุก แก้ปัญหาเข้าถึงอาหาร ป้องกันลดความเสี่ยง ไม่กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ซ้ำเติมสถานการณ์ 

The Acive ลงพื้นที่ศูนย์คนไร้บ้าน “สุวิทย์ วัดหนู” เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เพื่อติดตามปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มคนไร้บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19  พบว่าการระบาดระลอกล่าสุด กลุ่มคนไร้บ้านกลับมาพักพิงในศูนย์แห่งนี้รวม 85 คน ซึ่งต่างประสบปัญหาตกงาน ว่างงาน  ไม่สามารถออกไปรับจ้าง เช่น ล้างจาน ทำความสะอาด ก่อสร้าง และค้าขายได้ 

เมื่อขาดรายได้ ปัญหาที่ตามมาคือ การเข้าถึงอาหาร เพราะการเป็นลูกจ้างรายวัน รายได้น้อยไม่มีเงินให้เหลือเก็บ  และแม้ว่าศูนย์แห่งนี้จะได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายธนาคารอาหาร ที่นำพืชผักจากเกษตรกรในเครือข่าย และข้าวสาร อาหารแห้งมามอบให้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ  เพราะสถานการณ์ระลอกนี้ยาวนาน ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร  บางคนต้องประหยัดกินประหยัดใช้ อดมื้อกินมื้อ 

ขณะที่คนไร้บ้านส่วนหนึ่ง ต้องนั่งรถสาธารณะ ออกไปรับบริจาคอาหารตามจุดต่าง ๆ ที่ได้รับแจ้งว่า มีผู้ใจบุญนำอาหารมาบริจาค  เพื่อประทังชีวิต บางคนทั้งวันได้กินแค่มื้อ 2 มื้อ

จินตนา มีชิน กรรมการบริหารศูนย์คนไร้บ้าน “สุวิทย์ วัดหนู” บอกว่า ปัญหาปากท้อง ความอดอยากของคนไร้บ้าน ที่ไม่สามารถซื้ออาหารมาตุน ต้องออกไปรับอาหารบริจาคนอกพื้นที่ คือความเสี่ยง และความกังวลของคนที่อยู่รวมกันทั้งหมดในศูนย์คนไร้บ้านแห่งนี้ เพราะแม้จะมีห้องแยกเป็นสัดส่วน แต่พื้นที่ก็ติดกัน ห้องน้ำ และครัวทำอาหาร รวมทั้งพื้นที่กินข้าวใช้ร่วมกัน ที่สำคัญมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 40 คน หรือกว่าครึ่ง หากมีใครซักคนติด ก็เสี่ยงที่จะระบาดติดกันทั้งหมด 

“ ตอนนี้ที่เราทำได้ดีที่สุด คือ การเฝ้าระวัง ใครกลับมาเราก็วัดอุณหภูมิ ซึ่งเครื่องวัดอุณหภูมิที่เรามี ก็ไม่มั่นใจว่าได้มาตรฐานแค่ไหน  และก็ให้คอยถามไถ่กันว่าใครมีอาการป่วย ผิดปกติอะไรให้รีบแจ้งกัน เราพอมีเจลล้างมือที่ทางสำนักงานเขตบางกอกน้อย กทม. นำมามอบให้ แต่หน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเงิน เงินค่าอาหารยังไม่พอ บางคนจึงต้องใส่ซ้ำอย่างน้อย ๆ ก็ 3 วัน บางคนก็เอาไปซักมาใช้ใหม่  ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ หากมีวัตถุดิบอาหารที่เพียงพอ ทำอาหารให้คน 85 คน กินครบ 3 มื้อ ก็ไม่ต้องออกไปเสี่ยงรับอาหารข้างนอกในช่วงการระบาดนี้ ก็จะช่วยป้องกัน ลดความเสี่ยงลงได้ ”

The Active ยังติดตามการลงพื้นที่ของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับเครือข่ายคนไร้บ้าน เพื่อลงสำรวจปัญหาและให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ สมพร หารพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย บอกว่า จากการลงพื้นที่ในจุดที่คนไร้บ้านมาอาศัยหลับนอน เช่น ที่หัวลำโพง ท่าน้ำนนท์ รังสิต ถนนราชดำเนิน และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พบกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นราว ๆ เกือบ 300 คน  ที่น่าตกใจคือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วย ทั้งป่วยทางกาย และป่วยทางจิตด้วย  รวมถึงที่หลุดจากบ้านเช่า จากปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ตกงาน ว่างงาน 

โดยพบว่า ความเดือดร้อนและปัญหาที่พวกเขาเผชิญหลัก ๆ เรื่องแรก คือเรื่องอาหาร เพราะมาตรการหรือหลักเกณฑ์ข้อปฏิบัติที่เพิ่มมากขึ้น ต้องผ่านการแจ้ง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงหวั่นว่าจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในข้อที่ระบุว่าห้ามมาอยู่รวมกันหนาแน่นในที่สาธารณะ ทำให้คนที่พอมีกำลังอยากช่วยเหลือ ไม่กล้านำอาหารมาบริจาค  คือ มีผู้มาบริจาคอาหารน้อยลงกว่าระลอกแรกอย่างมาก 

เรื่องการป้องกัน อย่างเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย มีคนมาบริจาคให้บ้าง แต่ไม่เพียงพอ พวกเขาต้องใส่ซ้ำอยู่หลายวัน   รวมทั้งหากพวกเขามีความกังวล หรือแสดงอาการที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จะเข้ารับการตรวจคัดกรองที่ไหน หรือแม้แต่วัคซีนคนกลุ่มนี้เขาจะเข้าถึงได้ยังไง ตรงนี้ไม่มีการให้ข้อมูลหรือทำงานเชิงรุกเลย

“ จริง ๆ แล้วรัฐ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เขามีศูนย์ช่วยเหลือ แต่ก็เป็นการจัดตั้งศูนย์ไว้ในเชิงรับ ไม่มีการทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่สาธารณะที่คนกลุ่มนี้เขาอยู่ เพื่อให้ความช่วยเหลือให้ข้อมูลว่า ถ้าเขาอยากป้องกันตัวเอง เขาจะสามารถไปตรงไหนได้ อยากกักตัว 14 วัน เขาไปตรงไหนได้ ถ้าไปเขาจะได้อยู่แบบไหน มีอาหารการกินครบไหม ครบ 14 วัน เขาจะได้ออกมาข้างนอกหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่รัฐควรมีศูนย์ประสานงานทำงานเชิงรุก ไม่ใช่ให้พวกเขาเป็นคลัสเตอร์ระบาด แล้วค่อยมาแก้ไข” 

ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายคนไร้บ้าน เห็นว่า สิ่งที่รัฐต้องทำอย่างเร่งด่วนตอนนี้ คือ ต้องมีศูนย์ประสานงาน ในพื้นที่สาธาณะที่คนไร้บ้านอยู่ เพื่อให้ความรู้การป้องกันยังไงไม่ให้แพร่เชื้อ หรือป้องกันการติดเชื้อกับผู้อื่นอย่างไร  ช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์การป้องกันต่าง ๆ  และอีกส่วนที่สำคัญคือเรื่องอาหาร จะทำให้เขาเข้าถึงอาหารครบ 3 มื้อ ซึ่งตรงนี้รัฐอาจไม่ต้องจัดระบบเองทั้งหมด เพียงแต่เปิดโอกาสให้คนที่เขาอยากแบ่งปัน อยากมาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้  เข้ามาตรงนี้ได้ แค่หนุนเสริมช่วยจัดระเบียบ เป็นการทำงานร่วมกัน ให้เข้าถึงอาหาร มีสุขภาพแข็งแรง โอกาสที่พวกเขาจะติดโรคก็น้อยลง รวมทั้งสิทธิสวัสดิการมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ที่เขาควรได้รับด้วย

ส่วนคนไร้บ้านที่อยู่ในศูนย์พัฒนาศักยภาพ รัฐต้องทำการหนุนเสริม ไปดูว่าจะสนับสนุนเรื่องงานเฉพาะหน้าก่อนอย่างไรให้เขามีรายได้ และที่สำคัญเรื่องอาหาร สนับสนุนช่วยเหลือเขาเบื้องต้น ทำยังไงให้คนที่อยู่ในศูนย์พักพิงต่าง ๆ ที่เขาขาดรายได้ มีอาหารครบ 3 มื้อ และตรวจสอบดูด้วยว่า พวกเขาเข้าถึงการเยียวยา หรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่ควรได้รับทุกคนหรือไม่ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ