ผลตรวจเชิงรุกโควิด-19 คลองเตย จาก 8,022 คน พบ ติดเชื้อ 219 คน

ฉีดวัคซีนแล้ว 5,006 คน กทม. ยืนยัน เดินหน้าฉีดให้ครบ 50,000 คน ชาวบ้านสะท้อน กักตัว ขาดรายได้

วันนี้ (7 พ.ค. 2564) ที่ชุมชนคลองเตย เขตคลองเตย กทม. มีความคืบหน้าความพยายามควบคุมโควิด-19 โดยกรุงเทพมหานคร ได้สรุปข้อมูลการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (swab) ในชุมชนพื้นที่เขตคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. – 6 พ.ค. 2564 ในหลายจุด เช่น วัดสะพาน ชุมชน 70 ไร่ ลานจอดรถตลาดคลองเตย และโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา โดยทำการ swab ค้นหาผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 8,022 คน ผลไม่ติดเชื้อ 5,614 คน ติดเชื้อ 219 คน และรอผลจากแล็บ 2,189 คน

ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในชุมชนพื้นที่เขตคลองเตย กทม. ได้ตั้งจุดให้บริการฉีดวัคซีนจำนวน 2 จุด ได้แก่ โรงเรียนวัดคลองเตย และห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส พระราม 4 โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 – 6 พ.ค. มีผู้รับบัตรคิวรวม 5,495 คน รับบริการฉีดวัคซีนแล้วรวม 5,006 คน ไม่ได้การฉีดเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ 489 คน

เฉพาะวันที่ 6 พ.ค. ที่โรงเรียนวัดคลองเตย รับบัตรคิว 913 คน ฉีดวัคซีน 892 คน ไม่เข้าเกณฑ์ 21 คน ส่วนจุดที่ศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขาพระราม 4 รับบัตรคิว 1,500 คน ฉีดวัคซีน 1,312 คน ไม่เข้าเกณฑ์ 188 คน รวมทั้ง 2 จุด ให้บริการฉีดวัคซีนแล้ว 2,204 คน โดย กทม. จะให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ชุมชนเขตคลองเตยอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค. เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดจำนวน 50,000 คน

ชาวบ้านสะท้อน กักตัว ขาดรายได้

The Active ลงพื้นที่ชุมชนพัฒนาใหม่ (คั่วพริก) เขตคลองเตย พบว่า บางครอบครัวคนที่เป็นเสาหลักในการหารายได้ ติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาตัว ส่วนคนที่เหลืออยู่ในบ้านก็ต้องกักตัว 14 วัน จากที่เคยทำงานมีรายได้รายวัน ก็เริ่มกังวลว่าสิ้นเดือน จะไม่มีเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนรถ

หนึ่งในครอบครัวที่พบ มีคนติดเชื้อในบ้านทั้งหมด 8 คน คนแรกที่ติดเชื้อ คือ พ่อของเด็ก 3 คน ส่วนลูก ๆ ทั้ง 3 คน ก็ติดเชื้อจากพ่อในช่วงที่พ่อรอการจัดการเตียงอยู่ที่บ้าน ขณะที่เวลานี้ลูกทั้ง 3 คนหายดีแล้ว แต่ยังต้องอยู่ในการดูแลของครอบครัวหรือญาติคนอื่น ๆ เพราะพ่อยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาครอบครัวมีรายได้หลักจากการที่พ่อเป็นพนักงานขับรถของบริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อพ่อยังรักษาตัว ก็ทำให้ครอบครัวขาดรายได้ ขณะที่คนในครอบครัวคนอื่น ๆ ที่แม้ตรวจไม่พบเชื้อ แต่ต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง

“ผมไปวิ่งวินตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 10 โมง ไม่มีลูกค้าเลย แต่เสื้อวินก็ต้องเช่าเดือนละ 1,300 บาท แต่พอไปวิ่งแล้วไม่ได้ลูกค้า ก็ต้องเอาเสื้อไปคืนเจ้าของเสื้อวิน มีเพื่อนชวนขายหมูทอด แต่ก็ยังไม่ได้ทำเพราะกักตัว”

ชาวชุมชนคลองเตยอีกคนสะท้อนว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดที่คลองเตย ในพื้นที่ชุมชนพัฒนาใหม่ฯ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ เป็นการติดกันเองภายในบ้าน ทำให้หลายครอบครัวเจอปัญหาแบบเดียวกัน ทั้งอาชีพและรายได้ที่ไม่มั่นคง ขาดหลักประกันความเสี่ยง มาตรการที่รัฐออกมาก็ไม่เพียงพอ

“มาตรการที่ออกมาช้าไป และยังได้น้อยกว่ารายได้เฉลี่ยที่เคยได้ ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอ”

นอกจากนี้ ชาวชุมชนยังเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ เช่น ค่าไฟ ฯลฯ ให้ยกไปจ่ายงวดหน้า เพราะชาวบ้านไม่มีรายได้ที่จะมาจ่าย แต่หากรัฐไม่ช่วยเหลือ ชาวบ้านก็ต้องดิ้นรนออกไปหาเงินทั้งที่เขาเป็นกลุ่มเสี่ยง บางคนก็ต้องปกปิดข้อมูลว่าตัวเองติดเชื้อแล้วออกไปหาเงิน ก็ยิ่งทำให้เชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปอีก

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส