ผู้ป่วยอาการหนัก–เสียชีวิต กทม. รายวัน ยังสูง

คลองเตย พบผู้ติดเชื้อสูงสุด เตรียมจัดหาเตียงเพิ่ม รองรับผู้ป่วยกลุ่ม เหลือง – แดง เพิ่มตรวจเชิงรุก

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงผล 3 การประชุมเมื่อช่วงเช้า (7 พ.ค.2564) ได้แก่ การประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน(Emergency Operation Center, EOC) การประชุม ศบค.ชุดเล็ก และการประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล

โดยในส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล วันนี้(7 พ.ค.2564) มีรายงานผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 1,372 คน เฉพาะ กทม. วันนี้พบ 869 คน ซึ่งสูงที่สุดของตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในพื้นที่ กทม. และเกินกว่า 500 คนนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม รองลงมาคือนนทบุรี 201 คน สมุทรปราการ 165 คน สมุทรสาคร 69 ปทุมธานี 39 และนครปฐม 29 คน

ส่วนข้อมูลผู้ป่วยอาการหนักในพื้นที่ กทม. ณ วันที่ 6 พ.ค. มีจำนวน 496 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกวันจากวันก่อนหน้านี้รองลงคือ นนทบุรี 129 คน สมุทรปราการ 74 คน นครปฐม 68 คน ปทุมธานี 36 คน และสมุทรสาคร 15 คน ข้อมูลนี้จะสะท้อนถึงการจัดการจำนวนเตียงที่ต้องใช้ดูแลผู้ป่วยหนักที่จะไม่สามารถพิจารณาแค่พื้นที่ กทม.เพียงจังหวัดเดียว แต่ต้องรวมข้อมูลจากอีก 5 จังหวัดนี้ด้วย

ในส่วนข้อมูลผู้เสียชีวิต พบว่า กทม.มีตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมสะสมในช่วงเดือนเมษายนสูงสุดคือ 122 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายวัน ล่าสุดวันนี้ (7 พ.ค.) 28 คน ซึ่งเรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อคือสถานที่ฌาปนกิจศพที่มีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นในบางที่ ซึ่งกรมศาสนาจะดำเนินการหาพื้นที่ที่เหมาะสม โดยประชาชนสามารถสอบถามได้ที่เบอร์ 1765

ส่วนสาเหตุการระบาดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ในขณะนี้สาเหตุหลักมาจากชุมชนและครอบครัว ซึ่งแตกต่างจากช่วงต้นเดือนเมษายนที่มาจากสถานบันเทิง

จากภาพรวมสถานการณ์ ที่ประชุม EOC จึงมีมติให้ความสำคัญต่อผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง รวมทั้งคาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการเตียงจะยังคงเพิ่มขึ้นไปอีก 2-3 สัปดาห์ จึงต้องจัดหาเตียงเพิ่มเติม โดยจะมีการติดตั้งระบบในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มเติมในโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าจะอยู่แถวแจ้งวัฒนะสามารถจัดเตียงได้มากกว่า 1,000 เตียง

ส่วนผลการประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ผู้แทนจากศูนย์อนามัยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.) จากผู้ป่วยทั้งหมด 739 คน เมื่อแยกเป็นเขตต่างๆ พบว่า 10 เขตแรกผู้ติดเชื้อสูงสุด คือคลองเตย 46 คน รองลงมาคือ ปทุมวัน 24 คน บางแค 24 คน ลาดพร้าว 13 คน ราชเทวี 10 คน ป้อมปราบศัตรูพ่าย 9 คน บึงกุ่ม 9 คน ภาษีเจริญ 8 คน บางขุนเทียน 8 คน และดินแดง 8 คน

แต่มีข้อสังเกตจากที่ประชุมว่า ตัวเลขที่รายงานยังไม่เป็นปัจจุบัน และให้ปรับการรายงานเป็นตัวเลขล่าสุดของแต่ละวัน เพื่อให้สามารถบริหารสถานการณ์ได้ทัน

ส่วนการดำเนินการ ขณะนี้ได้มีการทำงานเชิงรุกในแต่ละพื้นที่ชุมชน โดยเมื่อเจอคนติดเชื้อจะแยกตัวไปโรงพยาบาล ส่วนผู้สัมผัสซึ่งมีประมาณเฉลี่ย 6 คน ก็จะให้กักตัวอยู่ที่บ้านหรือพื้นที่ที่เหมาะสม นอกจากนี้จะเร่งทำ active case finding

ส่วนแผนการกระจายและฉีดวัคซีน ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแผนของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งก็สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้ โดยจะมีการเชื่อมประสานแผนร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย และจะมีการจัดตั้งทีมทำงานร่วมกันในระดับจังหวัด

ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งประเทศวันนี้ (7 พ.ค.) จำนวน 2,044 คน ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมระลอกใหม่เพียงหนึ่งเดือนกว่านับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ใกล้แตะ 5 หมื่นคน (49,000 คน) ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 27 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว