โควิด-19 ระลอกดุ ทำคนไทยอยากฉีดวัคซีนมากขึ้น แม้ยังลงทะเบียนไม่ถึงเป้า

‘อนามัยโพล’ ชี้ ประชาชนกังวลใจ ต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 56.5% ด้าน ‘อธิบดีกรมควบคุมโรค’ แจง ไทยฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70%

เมื่อวันที่​ 6​ พ.ค.​ 2564​ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจอนามัยโพล ช่วงวันที่ 14 เม.ย. ถึง 2 พ.ค. 2564 มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 11,093 คน ต่อประเด็นเรื่อง ความกังวลและความรู้สึกต่อการฉีดวัคซีน โควิด-19 พบว่า ในภาพรวมประชาชนมีความกังวลใจเพิ่มขึ้น ตามช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้ป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังวันที่ 23 เม.ย. 2564 ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 2,000 คนต่อวัน ส่งผลให้ประชาชนมีความกังวลถึง 97.8%

ทำให้ความรู้สึกอยากฉีดวัคซีนเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ซึ่งพบแนวโน้มที่ต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีข่าวการเสียชีวิตของนักแสดงตลกชื่อดัง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเกินวันละ 20 คน ยิ่งเป็นความกังวลใจทำให้ประชาชนอยากฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นถึง 56.5%

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมตัวไปฉีดวัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มี 7 ข้อแนะนำ

  1. สองวันก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. วันที่ฉีดควรดื่มน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  3. ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก
  4. หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที
  5. หากมีไข้หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ด ซ้ำได้ถ้าจำเป็น แต่ให้ห่าง 6 ชั่วโมง ห้ามกินยาประเภท Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
  6. การฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
  7. หากกินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้ว ให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า แม้ประชาชนจะมีความต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญ คือ การป้องกันตัวเอง ตามมาตรการ DMHTTA ซึ่งจากข้อมูลอนามัยโพล ล่าสุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีการสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อไปในที่สาธารณะถึง 97.8% รองลงมาคือการตรวจวัดไข้ก่อนเข้าออกในสถานที่ต่าง ๆ 95.2% และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ 91%

สำหรับพฤติกรรมสุขภาพที่ประชาชนยังไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามมาตรการ คือ การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม โดยมีพฤติกรรมดังกล่าวเพียง 69.3% และมีการลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” 70.2%

จึงต้องเน้นย้ำให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนประเมินความเสี่ยงตนเองทุกวันว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือใหม่ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด หรือเลือกใช้การประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ที่ช่วยคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สู่ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และชุมชน รวมถึงลดความรุนแรงหากมีความเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาหรือพบแพทย์ได้เร็วขึ้น

คร. ชี้ ไทยฉีดวัคซีนให้ทุกคนบนแผ่นดินไทย สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% รวมคนต่างชาติ

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ว่า ตามนโยบายของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ระบุชัดเจนว่าจะฉีดให้กับทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย และจะได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน ตามความสมัครใจ ยึดตามหลักมาตรฐานสากล

“ถ้าคนใดที่อยู่ในผืนดินของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยคนต่างชาติ ถ้ามีความประสงค์ มีข้อบ่งชี้ ไม่มีข้อห้าม ต้องการได้รับวัคซีน ก็จะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน โดยสมัครใจ “

อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุอีกว่า การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศหรือชุมชน จะต้องฉีดอย่างน้อย 70% ของประชากร ซึ่งได้มีการคำนวนรวมประชากรทั้งคนไทย คนต่างชาติ ที่อยู่บนแผ่นดินไทย ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคณะทูตานุทูต คิดเป็นทั้งหมด 70 ล้านคน แบ่งเป็นคนไทย 67 ล้านคน คนต่างชาติ 3 ล้านคน ทำให้ยอดฉีดวัคซีนของประเทศไทยจะเป็นทั้งหมด 50 ล้านคน คิดเป็นวัคซีน 100 ล้านโดส ตามที่ได้คำนวนไว้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนหลักปฏิบัติในการฉีดวัคซีนให้กับคนต่างชาติดังกล่าว ก็จะยึดตามหลักมาตรฐานสากล รวมทั้งคณะทูตานุทูตที่อยู่บนแผ่นดินไทย ด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะไม่มีใครฉีดก่อนฉีดหลัง ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจ และเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข

พร้อมกันนี้ สธ. ได้จัดสถานที่ฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 1 จุด ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และคณะทูตานุทูตให้มากที่สุด ที่อาคารบางรัก สามารถเดินทางได้สะดวก

“การที่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนบนแผ่นดินไทย ทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำหลายครั้งว่า Nobody is safe until everyone is safe. ทุกคนจะปลอดภัย เราต้องทำให้ทุกคนในแผ่นดินไทยให้ปลอดภัย”

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ข่าวดีวันนี้ วัคซีนซิโนแวคเข้ามาในประเทศไทยอีก 1 ล้านโดส ทำให้ในเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ได้รับวัคซีนค่อนข้างมาก โดยจะมีกระบวนการขั้นตอนในการตรวจเชิงคุณภาพ เช่น เอกสาร การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ใช้เวลาประมาณ 7 วัน จากนั้นจะเร่งกระจายวัคซีนไปฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในจังหวัดต่าง ๆ และจะกระจายวัคซีนไปฉีดเพื่อควบคุมสถานการณ์ในจุดที่มีการระบาด เช่น เขตคลองเตย กทม. ซึ่งเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ได้ฉีดไปแล้วจำนวนมาก

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS