ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ย้ำ ไม่อนุญาตให้กินอาหารในร้าน

เหตุพบผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ติดเชื้อจากร้านอาหาร เตรียมปูพรมตรวจ-เฝ้าระวัง 680 ชุมชนแออัด 746 ตลาด ทั่ว กทม. ให้ประชาชนใน 3 ชุมชนคลองเตย และชุมชนบ่อนไก่ ติดตามประกาศและเข้ารับการตรวจเชิงรุก

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ (3 พ.ค.2564) มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,041 คน ทำให้ยอดรวมผู้ป่วยสะสมที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามใกล้แตะ 3 หมื่นคน (29,765 คน)   ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 981 คน และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 278 คน

ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 31 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการระบาดในประเทศไทย โดย กทม.และนนทบุรี เป็นพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 10 คน/จังหวัด อายุเฉลี่ยผู้เสียชีวิตต่ำสุด 31 ปี โดยประเด็นที่ ศบค.ให้ความสำคัญคือ มีปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดมาจากการใกล้ชิดสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ติดเชื้อยืนยันก่อนหน้าถึง 6 คน นอกจากนี้ยังพบว่ามี 2 คนที่เสียชีวิตก่อนที่จะทราบผล และทราบผลในวันที่เสียชีวิต 1 คน โดยเมื่อตรวจสอบประวัติผู้เสียชีวิต 3 คน พบว่า ในช่วงแรกอาการยังไม่มีภาวะรุนแรง ทำให้ไม่ได้ตระหนักว่าติดเชื้อ

นอกจากนี้ยังพบว่า การสัมผัสผู้ป่วยร่วมบ้านเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุด โดยในพื้นที่ กทม. ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากสถานบันเทิง แต่ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ร่วมบ้านหรือผู้ร่วมงานเริ่มมีตัวเลขที่สูงขึ้นกว่าปัจจัยเสี่ยงจากสถานบันเทิง

ส่วนการติดเชื้อจากผู้เดินทางต่างประเทศวันนี้มี 1 คน เดินทางมาจากกัมพูชา อย่างไรก็ตาม พญ.อภิสมัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงเช้าที่ประชุม ศบค. ได้มีการหารือในประเด็นนี้ และมีการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานความมั่นคงตามแนวชายแดน จากที่ก่อนหน้าเน้นเฝ้าระวังเข้มข้นชายแดนเมียนมา แต่ตอนนี้ให้ดูแลเข้มข้นในชายแดนทุกพื้นที่ ทั้งมาเลเซีย กัมพูชา และลาว

ส่วนภาพรวมการกระจายผู้ติดเชื้อ หลายพื้นที่เริ่มปรับเป็นสีเขียว แต่ยังเข้มข้นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดย กทม.วันนี้ (3 พ.ค.) มีผู้ติดเชื้อ 675 คน และปริมณฑล 489 คน ซึ่งปริมณฑลก็ยังเข้มอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศตอนนี้มีจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีขาว 13 จังหวัด, สีเขียว 36 จังหวัด, สีเหลืองเพิ่มเป็น 21 จังหวัด และสีส้ม 7 จังหวัด

“กทม.และปริมณฑล ยังมีทิศทางผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดมีทิศทางชะลอตัวและควบคุมได้ดีขึ้น”

ย้ำ ห้ามนั่งกินในร้านอาหาร เหตุพบผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ติดเชื้อจากร้านอาหาร

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กทม.ได้รายงานการวิเคราะห์ผู้เสียชีวิตในระลอกเดือนเมษายนอยู่ที่ 52 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 21-97 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของผู้เสียชีวิตพบว่ามีประวัติร่วมบ้านกับผู้ป่วยยืนยัน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ทั้งการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในพื้นที่มหาวิทยาลัย โรงเรียน และร้านอาหาร

“จึงเป็นคำตอบว่าทำไมถึงไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารในร้าน เพราะจากการตรวจสอบประวัติผู้เสียชีวิต พบว่าจำนวนมากติดเชื้อมาจากการรับประทานอาหารในร้าน ซึ่งก็เห็นใจผู้ประกอบการที่หลายร้านก็ทำมาตรการได้ดี แต่เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม.ที่ค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องออกมาตรการเข้มข้นสูงสุด”

ปูพรมตรวจขุมชนแออัด – ตลาด ทั่ว กทม.

ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัด พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการหารือในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (3 พ.ค.) โดย ศปคม.ได้รายงานว่า จะมุ่งการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกใน 39 ชุมชนของ กทม. โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 304 คน ในจำนวนนี้ 193 คน พบในพื้นที่ชุมชนแออัด โดย กทม.ได้นำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาแล้ว 100%

ส่วนจากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 39 ชุมชน มี 3 ชุมชนในเขตคลองเตยที่พบผู้ติดเชื้อหนาแน่น คือ ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชน 70 ไร่ และชุมชนริมคลองวัดสะพาน ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกจากจำนวน 1,336 คน พบเชื้อ 99 คน ทั้งนี้เป็นข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีจำนวนเกือบ 1 พันคน ซึ่งหน่วยงานก็กำลังระดมตรวจแบบปูพรม และเมื่อตรวจพบ ก็จะมีการคัดแยกระดับความรุนแรงตามอาการ รวมทั้งการระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดหนัก

ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังมีการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน โดยพบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 59 คน โดยมีการจัดการในลักษณะเดียวกับชุมชนคลองเตย ทั้งการปูพรมตรวจที่วางเป้าหมายว่าจะตรวจให้ได้มากถึง 4 พันคน

นอกจากนี้ จากรายงานแผนที่ของจิสด้า พบว่าจากชุมชนแออัดทั่ว กทม. ทั้งหมด 680 จุด มีผู้ติดเชื้อในระดับอาการสีแดง 301 คน ใน 6 เขต ส่วนตลาดมี 746 จุด ทั้งที่เป็นตลาดถาวรและตลาดนัดชั่วคราว และได้มีการวางแผนว่า ในพื้นที่มีประชาชนอาศัยรวมกันหนาแน่น มีตลาด ในพื้นที่เหล่านี้จะต้องมีการเฝ้าระวังและกำหนดมาตรการคัดกรองเชิงรุก รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษา

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว