เปิดแผนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มั่นใจหาวัคซีนทัน

เข้าใจรัฐเบรกเอกชนซื้อวัคซีน หวั่น ซัพพลาย​เออร์สับสน​ เช็ก ห้าง-ปั๊ม​-บริษัท​ 14​ แห่ง พร้อมหนุนกระจายวัคซีน​ 20,500 โดสต่อวัน​ ดีเดย์ทดสอบ​ 20​ พ.ค.​ นี้

เมื่อวันที่​ 30​ เม.ย.​ 2564​ หอการค้าไทย ได้จัดประชุมร่วมกับทีมปฏิบัติงานด้านสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน 14 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา

นายสนั่น อังอุบลกุล​| ประธานกรรมการหอการค้าไทย

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีที่​นายกรัฐมนตรีระบุวัคซีนมีเพียงพอ เอกชนไม่ต้องจัดหาเพิ่มว่า​ บริษัทเจ้าของวัคซีนต้องการให้รัฐเป็นผู้ซื้อ​ จะมีความรวดเร็วมากกว่า อีกทั้งรัฐต้องรับผิดชอบชีวิตประชาชนหากมีผลข้างเคียง​ ส่วนจะให้เอกช​นดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงหรือไม่นั้น ชี้แจงว่าหากเอกชนร่วมจัดหาด้วย ก็จะเหมือนไปแย่งรัฐบาลซื้อวัคซีน​ ซึ่งไม่เป็นผลดี สร้างความสับสนต่อผู้จัดหา (supplier)

ทั้งนี้ มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถจัดหาวัคซีนทางเลือก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศออกมาแล้วว่า นอกจากซิโนแวค​และแอสตราเซเนกาแล้ว​ อีก​ 35​ ล้านโดส​ 5​ ยี่ห้อ​ คือ​ ไฟเซอร์​ 5-10 ล้านโดส, สปุต​นิก​ 5-10​ ล้านโดส, จอห์น​สัน​แอนด์​จอห์น​สัน​ 5-10 ล้านโดส, โมเดอร์นา​ 5-10​ ล้านโดส​ และ​ ซิโนฟาร์ม​ 5-10​ ล้านโดส​ ได้ก่อนการเจรจาของหอการค้า ที่หากจัดหาเองจะได้วัคซีนในไตรมาส 4 ของปี 2564 แต่รัฐบอกว่าสามารถจัดหาได้เร็วกว่าเอกชนแน่​

เล็ง​ กทม. เป็นโมเดล​ รัฐ-เอกชน​ ขยายผลช่วยกระจายวัคซีน​ 76 จังหวัด

ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า หากวัคซีนสามารถเข้ามาในประเทศได้ในช่วงไตรมาส 3​ และ เริ่มดำเนินการฉีดได้​ ในช่วงไตรมาส 4 จะครอบคลุมประชากรได้ 70% หรือ 50 ล้านคน โดยภาคเอกชนได้เตรียมสถานที่ไว้รองรับประชาชนในการฉีดวัคซีนจำนวน 14 แห่งในกรุงเทพฯ​ โดยต้องการวัคซีน​ ครอบคลุม​ประชากร​ใน กทม. ประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งต้องดำเนินการฉีดวัคซีนภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่ มิ.ย.ไปจนถึงเดือน ธ.ค.​ ดังนั้น 1 เดือนต้องฉีดให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านเข็ม หรือ 50,000​ คนต่อวัน ซึ่งกระบวนการฉีดวัคซีน 1 คน จะใช้เวลาประมาณ 45 นาที​ ขณะนี้โรงพยาบาลมีสถานที่ไม่เพียงพอรองรับประชาชนในการเข้าฉีดวัคซีน​ ขณะที่บริษัทเอกชนที่แสดงเจตจำนงที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนมีประมาณ 2,000 บริษัท คิดเป็นจำนวนพนักงาน 9 แสนคน

“โมเดลที่ภาคเอกชนร่วมมือกับรัฐแบ่งเป็น 4 ทีมในการช่วยรัฐฉีดวัคซีนให้กับประชาชน นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะนำไปขยายผลต่อให้ครบทั้ง 76 จังหวัด ใช้รูปแบบเดียวกันนี้ให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างหอการค้าที่มีทุกจังหวัดกับผู้ว่าราชการจังหวัด”

แบ่งงาน กทม.ฉีดกลุ่มเสี่ยง-ผู้สูงอายุ​ใน รพ.​ ส่วนเอกชนฉีด ปชช.ทั่วไป​ 14​ จุด

พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าเดือนมิถุนายน 2564 กรุงเทพมหานคร จะได้รับการจัดสรรวัคซีนสำหรับนำไปให้บริการแก่ประชาชน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity) โดยมีเป้าหมายฉีดครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากรในกรุงเทพมหานคร หรือประมาณ 5 ล้านคน ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการวัคซีน แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุม กรุงเทพมหานครจึงกำหนดจัดให้บริการวัคซีนในโรงพยาบาลควบคู่กับการให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ซึ่งการจัดให้บริการวัคซีนภายนอกโรงพยาบาล มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประชาชนสามารถเดินทางไปยังสถานที่ฉีดวัคซีนได้อย่างสะดวก โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และพนักงานจิตอาสา ที่มีมาตรฐานในการให้บริการ ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง ปลอดภัย และลดการแพร่ระบาดจากการเดินทางข้ามพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการจัดจุดบริการฉีดวัคซีนในสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า จำนวน 14 แห่งกระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง | ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

สำหรับหน่วยบริการวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 14 แห่ง จะมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสำนักอนามัย​ กรุงเทพมหานคร สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ และที่ประชุมคณบดี สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสถาบันการศึกษา สาขาพยาบาลศาสตร์ของรัฐ สนับสนุนพยาบาลสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย และบุคลากรร่วมในการให้บริการวัคซีนโควิด-19

กรุงเทพมหานครมีแผนการให้บริการวัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกในโรงพยาบาลทุกสังกัดในกรุงเทพมหานคร กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

ส่วนที่สองเป็นหน่วยบริการวัคซีนกรุงเทพมหานคร 14 แห่ง สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 59 ปี ที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และได้ทำการจองรับวัคซีนมาแล้ว สามารถรับวัคซีนได้ที่ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ SCG บางซื่อ 2,000 คน/วัน และศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว 2,000 คน/วัน กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ 4 แห่ง ได้แก่ สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน 1,500 คน/วัน ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค เขตสวนหลวง 1,000 คน/วัน True Digital Park เขตพระโขนง 1,000 คน/วัน และเอเชียทีค เขตบางคอแหลม 2,000 คน/วัน กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 3 แห่ง ได้แก่ เดอะมอลล์ บางกะปิ 2,000 คน/วัน โรบินสัน ลาดกระบัง 1,000 คน/วัน และโลตัส มีนบุรี 1,000 คน/วัน

กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย 1,000 คน/วัน และไอคอนสยาม เขตคลองสาน 1,000 คน/วัน

กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. พระราม 2 เขตบางขุนเทียน 1,500 คน/วัน เดอะมอลล์ บางแค 2,000 คน/วัน และบิ๊กซี บางบอน 1,500 คน/วัน รวมให้บริการได้ทั้งสิ้น 20,500 คนต่อวัน

14​ เอกชน​ กทม.​ นัด​ TestRun ซ้อมฉีดวัคซีนเสมือน​จริง​ 20​ พ.ค.​ นี้​

แพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์​ ผู้​อำนวยการสำนักอนามัย​ กรุงเทพ​มหานคร​ เปิดเผยว่าการประชุมกับผู้ประกอบการทั้ง 14 แห่งที่จะเข้าร่วมเป็นหน่วยให้บริการวัคซีนนอกพื้นที่นอกโรงพยาบาล ได้นัดหมายกันซักซ้อมเสมือนจริงวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ โดยจะมีทีมแพทย์และพยาบาล ไปประจำตามจุดให้วัคซีนต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยและมีรถพยาบาลฉุกเฉิน หากเกิดมีผู้รับวัคซีนมีอาการไม่พึงประสงค์ โดยคาดว่าหลังวันที่ 20 พฤษภาคม ภาคเอกชนจะมีความพร้อม 100% ในการฉีดวัคซีน​ เหลือเพียงรอวัคซีน ซึ่งเป็นของแอสตราเซเนกา​ คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ให้กับกลุ่มประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งกลุ่มประชาชน​ภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และประชาชนที่เป็นประชากรแฝงคือทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ แต่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่นก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนใน 14 จุดบริการนอกโรงพยาบาลของเอกชนได้

‘สนั่น’​ ชี้โควิด -19 ทำเศรษฐกิจพัง 3แสนล้าน​ หวังรัฐเยียวยาดันจีดีพีโต 1.5-3%

ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า จากการประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ประมาณ 3 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์เสียหาย 6 แสนล้านบาท โดยเชื่อว่าภาครัฐจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นจากงบประมาณที่เหลืออยู่ประมาณ 3 แสนล้านเช่นกัน ก็จะสามารถประคองเศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ 1.5-3%

โดยในไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตได้ประมาณ 1% ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ แต่เชื่อว่าหากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายใน 2-3 เดือนต่อจากนี้ และ เดือน ก.ค. เริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาจะทำให้จีดีพีไตรมาส 3/64 เติบโตได้ประมาณ 3%

ส่วนไตรมาส 4/64 เชื่อว่าจีดีพีจะเติบโตได้ 4% เพราะสามารถกระจายวัคซีนไปยังประชาชนได้ทั่วถึงตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ และ ทำให้เห็นเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่ในช่วงต้นปีหน้า

“เราประเมินไว้ว่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจรอบนี้น้อยกว่าปีก่อน เพราะปีก่อนมีล็อกดาวน์ ถ้าถามเรา เราก็ไม่อยากให้ล็อกดาวน์”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS