เตือน! คนไทยไม่ประมาท เพราะขณะนี้แพร่กระจายไปยังหลายประเทศ อาจทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
วันนี้ (27 เม.ย.2564) ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลว่า นอกจากสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกา ที่มีการระบาดในหลายประเทศ ตอนนี้ต้องเฝ้าระวังจับตาในสายพันธุ์บราซิล ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่พบในบราซิล คือ P.10 พบว่า แพร่กระจายได้เร็ว ภายใน 7 สัปดาห์ กลายเป็นสายพันธุ์ที่พบมากถึง 87% ในประเทศบราซิล โดยสายพันธุ์นี้ คาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น และขณะนี้ได้แพร่กระจายไปยังหลายประเทศแล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร โดยปลายเดือนมีนาคม 2564 ตรวจพบสายพันธุ์ P.1 ใน Wisconsin สหรัฐอเมริกา ซึ่งสองประเทศนี้พยายามเต็มที่ในการป้องกันสายพันธุ์บราซิลไม่ให้มีการระบาดมากขึ้น
ข้อพึงระวังของประเทศไทยสำหรับการกลายพันธุ์ของเชื้อ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่สำคัญ คือ สายพันธุ์ B.1.1.7 สายพันธุ์สหราชอาณาจักร เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม พบว่า แพร่ระบาดกระจายเร็วขึ้นแต่ไม่พบว่ามีความรุนแรงมากขึ้น โดยรายงานล่าสุดจากสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าอาจทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น สายพันธุ์นี้มีการระบาดในประเทศไทยแล้ว
ส่วนสายพันธุ์ B.1351 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม พบว่าแพร่กระจายเร็วขึ้น แต่ข้อมูลล่าสุดพบว่าไม่เพิ่มความรุนแรง ขณะที่สายพันธุ์ P.1 สายพันธุ์บราซิล ที่พบเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมพบว่าแพร่กระจายเร็วขึ้นและมีโอกาสติดเชื้อซ้ำ สายพันธุ์นี้ยังไม่พบในไทย
สายพันธุ์ b.1.427 และ b.1.429 พบที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ อาจมีความสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดง่ายขึ้นในสหรัฐอเมริกา และสายพันธุ์อินเดีย b.1.617 สายพันธุ์อินเดีย พบในอินเดียเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว
องค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือน โดยระบุว่า 8 สัปดาห์ของการติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันถึง 5 สัปดาห์ โดยขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กว่า 3 ล้านคน โดย 1 ล้านคนแรก ใช้ระยะเวลา 9 เดือน จากนั้น 1 ล้านคน ถัดมา ใช้เวลาแค่ 4 เดือน และอีก 1 ล้านคน ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ถือว่าในช่วงที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตเร็วขึ้น รวมถึงผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอายุน้อยลง
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สอดคล้องกับประเทศไทย ที่พบว่าช่วงที่ผ่านมาช่วงอายุที่ติดเชื้อมากขึ้น อยู่ที่ 20-39 ปี องค์การอนามัยโลกตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอายุน้อยลงนั้น เนื่องมาจาก ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีนและมีการป้องกันตัวเอง โดยอยู่กับบ้าน แต่ขณะเดียวกันคนกลุ่มหนุ่มสาวที่ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือไปทำกิจกรรมข้างนอก อาจจะเป็นกลุ่มที่ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
“ทั่วโลก ยังคงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ประชาชนคนไทยจะประมาทต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ปัจจัยแรก คือ สายพันธุ์ไวรัสมีการกลายพันธุ์ ซึ่งการกลายพันธุ์นี้เข้ามายังประเทศไทยแล้ว และการระบาดรอบนี้มีผู้ป่วยหนักมากขึ้น”
ข้อมูลจากศิริราชฯ ผู้ติดเชื้อ 1 ใน 4 ที่มารับการรักษา มีภาวะปอดอักเสบมากขึ้น มีคนไข้ผู้ป่วยหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น ตอนนี้ผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นโรงพยาบาลหลายแห่ง อยู่ระหว่างการเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤต เตียงอาจจะขยายได้แต่คนที่จะดูแลอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลเฉพาะ โดยปีที่ผ่านมาศิริราชไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่เสียชีวิตเลย แต่ปีนี้เสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย
ยาที่ต้องใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงยังคงเป็นยาหลัก คือฟาวิพิราเวียร์ ที่ต้องให้เร็วหากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงต้องรีบให้ยาทันที โดยขณะนี้มีการแย่งสั่งซื้อยาและมีการควบคุมการจำหน่ายของประเทศผู้ผลิตแล้ว ที่สำคัญคือ ขณะนี้ทรัพยากรไม่เพียงพอกับความต้องการเช่นบุคลากรทางด้านสุขภาพอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วยหนัก
ย้ำ “วัคซีน” คือเครื่องมือตัดวงจรระบาด
นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า วัคซีนยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับการแพร่ระบาด การฉีดวัคซีนจะเห็นผลเมื่อประชากรอย่างน้อยร้อยละ 25 ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งการฉีดวัคซีนได้เร็วและฉีดได้มาก จึงเป็นสิ่งจำเป็น วัคซีนที่มีการใช้ในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง
ช่วงสงกรานต์หยุดยาวที่ผ่านมาตอกย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยง บุคคลเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และช่วงเวลาเสี่ยง ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด จึงอยากให้เป็นบทเรียนเตือนทุกคนถึงความเสี่ยงที่นำมาสู่การแพร่ระบาด จึงเป็นที่มา ของตัวเลขที่เห็นผู้ติดเชื้อ 2 พันกว่าคน เกิดขึ้นเมื่อช่วง1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการทำกิจกรรม หรือการไปสถานที่เสี่ยง ต่อไปหากมีวันหยุดยาว ขอให้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น