โควิด-19 รุกคลองเตย ชุมชน ชี้ สถานที่ไม่เอื้อต่อการ “รอ” บางรายพบเชื้อตั้งแต่ 19 เม.ย.

สำรวจพบ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างน้อย 5 คน ต้องอยู่บ้านรอเตียง เด็ก 2 ขวบ มีอาการท้องเสียติดต่อกัน 3 วัน ยังไม่ได้รับการรักษา ต้องเร่งตัดวงจรแพร่เชื้อชุมชนแออัด เหตุ บ้านไม่เหมาะแยกกักรักษาโควิด-19

“บ้านชั้นเดียวพื้นที่จำกัด ผ้าห่มคือม่านกั้นระหว่างภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ 4 เดือน ติดเชื้อโควิด-19 และ สามี ลูก “

นี่คือสภาพบ้านที่ นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ ประธานชุมชนสร้างสรรค์พัฒนา 7-12 เขตคลองเตย กทม. บรรยายให้ผู้เข้าร่วมประชุมสถานการ์โควิด-19 เขตคลองเตย ฟัง เธอยังยืนยันว่าขณะนี้ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉพาะที่ดูแลอยู่อย่างน้อย 5 คน ที่ต้องกลับมารอเตียงอยู่ที่บ้านในสภาพแออัดไม่ต่างกัน

เธอเล่าถึงเคสเด็กอายุ 2 ขวบ ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการท้องเสียมา 3 วันแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการรักษา แม่ที่ดูแลลูกก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ ส่วนอีกกรณีคือ หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือน เธอตรวจพบเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. แล้วกลับมากักตัวที่บ้าน โดยสภาพบ้านเป็นบ้านชั้นเดียว พื้นที่มีจำกัด ไม่สามารถเว้นระยะห่างระหว่างเธอ สามีและลูก ได้ ล่าสุดวันนี้ (23 เม.ย. 2564) มีโรงพยาบาลมารับตัวไปรักษาแล้ว ส่วนลูกชายและสามีรอผลตรวจ คาดทราบผลภายในวันนี้  

“บอกว่าเตียงพอ เป็นแค่คำโฆษณา เคสคนติดเชื้อเยอะกว่าเตียงที่มี อย่างเด็ก 2 ขวบ เมื่อตรวจพบเชื้อเขาควรได้รับการรักษาทันที แต่ต้องกลับมากักตัวที่บ้าน ท้องเสียมา 3 วัน ยังไม่มีใครติดต่อไปรักษา บ้านก็แออัด แม่ก็ต้องคอยดูแล แล้วแบบนี้จะติดเชื้อกันหมดไหม” 

สมพิศ ผอบเพ็ชร ประธานชุมชนแฟลต 21-22 ยังตั้งคำถามถึงสถานการณ์การติดเชื้อในชุมชน ว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อและต้องกลับมารอเตียงที่บ้านกี่คน ผู้เสี่ยงสูงต้องกักตัวอีกกี่คน พร้อมเสนอให้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุก และจัดหาสถานที่รองรับผู้กักตัว

ด้าน นายแพทย์วรการ โตวายุนันทะ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ระบุว่าหากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถแจ้งมายังศูนย์ฯ โดยจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนการตรวจโควิด-19 จะตรวจให้เฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนคนเสี่ยงต่ำให้กักตัวตามมาตรการก่อน แต่หากทั้งสองกลุ่มแสดงอาการไข้สูง ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หรืออาการที่เข้าข่ายให้มารับการตรวจที่ศูนย์ฯ ได้ทันที

ส่วนเรื่องการหาสถานที่รองรับมีการเสนอให้ใช้อาคารของวัดสะพาน ภายในชุมชนเขตคลองเตย แต่ยังต้องหารืออีกหลายฝ่าย และยืนยันว่าจะใช้เป็นสถานที่รองรับการกักตัวผู้เสี่ยงสูง ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อโควิด-19

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส