เรียกร้องผู้นำอาเซียน ปฏิเสธรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน

“ก้าวไกล” ขอ พล.อ. ประยุทธ์ แสดงท่าทีอยู่ข้างประชาชนเมียนมา ไม่ใช่สหายในสงครามร่วมกับทหารเมียนมา

วันนี้ (22 เม.ย. 2564) องค์กรภาคประชาสังคมในเมียนมาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำอาเซียน เรื่องข้อเสนอแนะจากองค์กรภาคประชาสังคมต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนในวาระพิเศษเกี่ยวกับเมียนมาที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 24 เม.ย. 2564 ที่ สํานักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาร์กาตา อินโดนีเซีย

จดหมายเปิดผนึกระบุว่า องค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องให้อาเซียนและประเทศสมาชิกปฏิบัติตามความพยายามของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ศาลอาญาระหว่างประเทศ และผู้ที่มีส่วนร่วมในประชาคมระหว่างประเทศอื่นๆ ในการตัดสินใจที่จะจัดการกับการรัฐประหารที่ผิดกฎหมายและโหดร้าย รวมถึงอาชญากรรมทำลายล้างชีวิตมนุษย์จำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลทหารในเมียนมา

แต่ก็มีความกังวลเมื่อพิจารณาถึงจุดยืนที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อการรัฐประหารในเมียนมา และทำให้อาเซียนยากที่จะบรรลุฉันทามติ และเป็นผลให้เกิดความไม่แน่ชัดในการตอบสนองที่ล่าช้าจากอาเซียน ขณะที่รัฐบาลทหารยังคงโจมตีประชาชนชาวเมียนมาโดยเจตนาและมุ่งมั่นที่จะสังหารอย่างต่อเนื่อง

โดยองค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ปฏิเสธการมีรัฐบาลทหารนอกกฎหมายเป็นตัวแทนของชาวเมียนมาในการประชุมอาเซียนวาระพิเศษ และมอบที่นั่งของเมียนมาในการประชุมอาเซียนให้กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของชาวเมียนมา

รวมทั้งรับรองการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการสนับสนุนด้านสุขภาพไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดในเมียนมา รวมถึงการเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดน และให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาจากกลุ่มต่างๆ  รวมถึงชาวโรฮิงญาเป็นหนึ่งในจุดประสงค์ที่สำคัญ

และข้อเรียกร้องสุดท้ายคือใช้มาตรการที่สำคัญที่สุดต่อเมียนมา รวมทั้งระงับการเป็นสมาชิกของเมียนมาชั่วคราว เนื่องจากความล้มเหลวในการรักษาหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยอาเซียนจะยกเลิกการระงับก็ต่อเมื่อรัฐบาลทหารยอมรับอำนาจของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและตั้งตนอยู่ภายใต้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ รัฐบาลทหารจะถูกนำเข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ และประชาธิปไตยจะได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แถลงออนไลน์เมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (22 เม.ย. 2564) กล่าวว่า ถ้าไม่มีการยับยั้งสถานการณ์ ทหารเมียนมาก็จะเดินหน้าปราบปรามสังหารประชาชนมือเปล่าและชนกลุ่มน้อยต่อไป ถ้าไม่มีใครทำอะไร คนอีกนับพันอาจถูกสังหาร คนนับแสนอาจต้องพลัดถิ่น และวิกฤติทางมนุษยธรรมที่ตามมาก็จะสร้างผลสะเทือนไปทั้งภูมิภาค

พรรคก้าวไกลจึงเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนจัดตั้งกระบวนการสันติภาพที่นำโดยอาเซียน เพื่อยุติการสังหารประชาชนและนำเมียนมากลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย โดยกระบวนการสันติภาพก็มีหลายกลไกที่อาเซียนสามารถใช้ได้ เช่น จัดตั้ง กลุ่มผู้ประสานงานอาเซียน (ASEAN Troika) จัดตั้งทูตพิเศษของอาเซียน (Special Envoy) หรือจัดตั้งกลุ่มเพื่อนประธาน (Friends of the Chair)

พิธาย้ำว่า ผู้นำอาเซียนต้องไม่ปล่อยให้การประชุมผู้นำอาเซียนเป็นเวทีที่ให้การยอมรับและความชอบธรรมกับเผด็จการทหารเมียนมา และควรผลักดันผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้มีโอกาสหาทางออกร่วมกันในกระบวนการเปิดรับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากพรรค NLD คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ไปจนถึงกองทัพ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพที่เปิดกว้างและมีความจริงใจเกิดขึ้นได้

ส่วนประเทศไทย พิธา กล่าวว่า ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดและเป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน ที่ควรมีบทบาทเชิงรุกในการหาทางออกให้กับสถานการณ์ในเมียนมา แต่รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ ก็แสดงออกให้เห็นว่าไม่ได้มีสำนึกที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาวไทยและชาวเมียนมาในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดเช่นนี้ เพราะถ้าเมียนมาเกิดวิกฤต ก็จะเป็นวิกฤตของประเทศไทยที่มีชายแดนติดต่อกับเมียนมาถึง 2,400 กิโลเมตร เช่นเดียวกัน

“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จะต้องทำตามหลักการ “การคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองในระยะยาวโดยรู้แจ้งถึงสิ่งที่ถูกต้อง” (Enlightened self-interest) และแสดงออกให้เห็นว่าประเทศไทยยืนอยู่ข้างประชาชนชาวเมียนมา ไม่ได้เป็นสหายในสงครามร่วมหัวจมท้ายกับทหารเมียนมา”

ภาพ : Myanmar Now

ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมา รัฐบาลทหารก็ยังคงปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วงอย่างรุนแรง โดยข้อมูลจากสมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ยอดผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันรัฐประหาร 1 ก.พ. – 21 เม.ย. 2564 จำนวน 739 ราย ผู้ถูกจองจำอยู่จำนวน 3,331 คน และผู้ถูกออกหมายจับ จำนวน 1,059 คน ส่วนสถานการณ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกฝ่ายละเมิดสัญญาหยุดยิง ทำให้มีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประทศหลายพันคน

ส่วนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะเกิดขึ้นวันที่ 24 เม.ย. นี้ มีรายงานข่าว พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะเข้าร่วมการประชุมด้วย ขณะที่ประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าประชุมแทน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว