ศูนย์เอราวัณ กทม. สายไหม้ ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเสี่ยง เร่งโทรขอเตียง-แจ้งข้อมูล

ระบุ มีเคสส่งเข้าศูนย์ฯ วันละ 200-300 คน พบปัญหาผู้ป่วยเปลี่ยนใจไม่ไปกับรถที่ไปรับ ทำเจ้าหน้าที่เสียเวลา-ผู้ป่วยที่ยังรออยู่เสียโอกาส

สถานการณ์ที่กรุงเทพมหานครพบผู้ติดเชื้อโควิดแล้วกว่า 5,000 คน ทำให้ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ต้องปฎิบัติภารกิจหนักต่อเนื่องตลอด 24  ชั่วโมง เพื่อรับสายโทรศัพท์จากทั้งผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อเตรียมพร้อมรับตัวผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงและศูนย์โรงพยาบาลสนาม ในกรุงเทพมหานคร

นายแพทย์พรเทพ แซ่เฮ้ง ผอ.ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. ระบุว่า ขณะนี้ศูนย์เอราวัณเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้เป็นศูนย์กลางประสานงานจัดส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเข้ารับการรักษา โดยตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสายด่วน 1668 กรมการแพทย์ และสายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ซึ่งเป็นภารกิจที่เพิ่มเติมขึ้นจากการรับแจ้งเหตุทั่วไป และเหตุฉุกเฉินที่ศูนย์เอราวัณมีภารกิจหลักอยู่แล้ว

ซึ่งจากทั้งภารกิจหลักและภารกิจโควิด ทำให้ปัจจุบันมีสายโทรศัพท์โทรเข้ามาเฉลี่ยวันละ 3,000 สาย  ครึ่งหนึ่งเป็นสายที่แจ้งเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องโควิด ทั้งสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และแจ้งขอให้ช่วยจัดหาเตียง โดยเฉพาะเรื่องเตียงมีเฉลี่ยวันละประมาณ 80 คน

นายแพทย์พรเทพ กล่าวว่าหากย้อนไปก่อนวันที่ 13 เม.ย. 2564 ก่อนที่ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินจะถูกปรับเป็นศูนย์กลางประสานงานจัดส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะนั้นมีเคสอยู่ในมือแล้วเกือบ 300 คน ขณะที่การบริหารจัดการแต่ละวันสามารถทำได้วันละ 100-120 เคส และเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยที่มีอาการหรืออาการหนักเพิ่มขึ้น 100-200 เคสในบางวัน และบางวันก็มีเคสที่ถูกส่งเข้ามาหาเข้ามากว่า 300 คน ยังไม่รวมเคสที่ยังไม่ได้ส่งเข้ามาอีก

ส่วนเคสที่เข้ามาที่ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. นั้น เป็นการรับต่อมาจากทั้งสำนักการแพทย์,  สำนักอนามัย กทม. และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่มีกลุ่มผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก กลุ่มผู้ป่วยตามสถานที่ต่าง ๆ และอีกส่วนคือกลุ่มที่ประชาชนที่โทรศัพท์มาหาสอบถามและแจ้งเองว่าเป็นผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง ผ่านทางสายด่วนของศูนย์เอราวัณ 1669 

นายแพทย์พรเทพ ระบุว่า แม้จะมีผู้ป่วยมาก แต่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่พร้อมทำงานเต็มตลอด 24  ชั่วโมง โดยแบ่งกันผลัดละ 8 ชั่วโมง พร้อมให้ความมั่นใจว่า กรณีที่ผู้ป่วยติดต่อมาเองนั้น ทางศูนย์เอราวัณพร้อมประสานในการส่งตัวต่อให้แน่นอน แต่อาจต้องใช้ระยะเวลา และบางกรณีก็มีกรณีที่ไปรับตัวผู้ป่วยแล้ว แต่ผู้ป่วยเปลี่ยนใจไม่ไปด้วย จึงทำให้เจ้าหน้าที่เสียเวลาในการเดินทางไปรับตัว และเสียโอกาสต่อผู้ป่วยเคสอื่น ๆ ที่รอคอยการส่งตัวไปด้วย รวมทั้งเส้นทางการรับผู้ป่วยก็มีผลต่อระยะเวลาในการทำงานเช่นกัน

“อย่างกรณีวางแผนงานไว้แล้วว่า จะเดินทางไปรับผู้ติดเชื้อ 10 คนที่อาศัยอยู่โซน-เส้นทางเดียวกัน แต่คนละบ้าน แต่พอไปถึงแล้ว มี 3 คนเปลี่ยนใจไม่ไป ก็มีผลต่อ 3 คนอื่น ที่ยังไม่ได้รับโอกาส แล้วต้องรอเดินทางในรอบถัด ๆ ไป หรือบางกรณีแม้อยู่โซนใกล้กันแต่คนละบ้าน แต่การรับตัวแต่ละบ้านให้ครบ 10 คน ก็ต้องใช้ระยะเวลาเช่นกันเพราะบ้านไม่ได้อยู่ติดกัน”

ส่วนคำแนะนำในกรณีมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปหา นายแพทย์พรเทพแนะนำว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปหา ก็ขอความร่วมมือในการตอบคำถาม และขอให้ตอบคำถามด้วยความกระชับ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการใช้เวลาในการสื่อสารด้วยความรวดเร็ว เพื่อดำเนินการให้แต่ละเคสได้รับการช่วยให้ไวที่สุด โดยถ้าได้รับจัดสรรเตียงอยู่สถานที่ใด ก็ขอให้ยอมรับและเข้าใจในการไปอยู่ในช่วง 14 วันนี้ เพราะเชื่อว่าดีกว่าติดเชื้อแลัวอยู่บ้าน ซึ่งหากมีอาการยิ่งทรมาน และหากอาการยิ่งรุนแรงมากขึ้น ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

ส่วนกรณียังไม่มีรถไปรับ ขอความกรุณากักตัวเอง เพราะอย่างน้อยแม้ไม่มีรถไปรับ แต่ก็ลดความเสี่ยงไม่เอาเชื้อไปแพร่ให้คนอื่น ซึ่งอาจทำให้ปริมาณผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้น

นายแพทย์พรเทพ ระบุด้วยว่า สำหรับการรับตัว มีแนวทาง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ หรือ อาการไม่รุนแรง (กลุ่มสีเขียว) และกลุ่มที่มีอาการเปลี่ยนแปลงโดยมีอาการมากขึ้น (สีส้ม)  ซึ่งกรณีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หากรอก่อนได้ก็ขอให้รอก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงก่อน แต่ขอให้มั่นใจว่า ทุกเคสที่ติดต่อมาจะได้รับการช่วยเหลือแน่นอน แม้อาจต้องใช้ระยะเวลารอคอยบ้างตามสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และข้อจำกัดจากเรื่องสถานที่-ระยะเวลาในแต่ละเส้นทาง

สำหรับการรับเคสผู้ป่วยโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงของศูนย์กลางประสานงานจัดส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเข้ารับการรักษา ประชาชนสามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน 1668 กรมการแพทย์ และสายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้โดยตรง ซึ่งทั้งสองหน่วยจะแจ้งส่งต่อเคสมาที่ศูนย์นี้

ส่วนเบอร์สายด่วน 1669 ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. ขอสำรองให้สำหรับเคสฉุกเฉินและเคสทั่วไปกรณีต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโควิด ที่ยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์หลายกรณีเกิดขึ้นแต่ละวันและรอคอยการช่วยเหลือเช่นกัน โดยมีรถของทางศูนย์ฯ และเครือข่ายพันธมิตรด้านการแพทย์ฉุกเฉินสนับสนุนภารกิจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active