สปสช. วอนชุมชนอย่ากังวล หากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวที่บ้านระหว่างหาเตียงใน รพ.

ชี้แนวปฏิบัติระหว่างกักตัวก็เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ​ พร้อมปรับรอบการจ่ายเงินโควิด-19 ให้ รพ.เร็วขึ้นเดือนละ 2 ครั้ง​ ยืนยันรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน ไม่เสียค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่​ 19​ เม.ย.​ 2564​ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. ดำเนินการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ทำหน้าที่รับแจ้งประสานจัดหาเตียงแก่ผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่โรงพยาบาลที่ตรวจให้ยังไม่มีเตียงว่างที่จะรองรับ ทำให้อาจต้องกักตัวอยู่ที่บ้านระหว่างที่รอการประสานหาเตียงในโรงพยาบาลอื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่สายด่วนจะโทรไปสอบถามติดตามอาการทุกวันนั้น

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี​ | เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ล่าสุดจากการโทรติดตามอาการของสายด่วน 1330 พบว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งตรวจพบว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และต้องกักตัวที่บ้านระหว่างรอประสานจัดหาเตียง ถูกเพื่อนบ้านเข้าใจผิดว่าหลบเลี่ยงการรักษา เกิดความไม่สบายใจว่าจะเกิดการแพร่ระบาดจนแจ้งตำรวจให้มารับตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งขอเรียนว่ากรณีนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่ได้หลบเลี่ยงการรักษาแต่อย่างใด การกักตัวอยู่ที่บ้านก็เป็นไปเพราะรอการประสานหาเตียง และได้รับการติดตามดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อยู่ตลอด อีกทั้งการกักตัวนั้นก็ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้แก่เพื่อนบ้านด้วย

“ระยะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ทำให้เตียงในโรงพยาบาลหนาแน่นและผู้ป่วยบางส่วนต้องรอการจัดหาเตียง ระหว่างนั้นก็ต้องการกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งอยากขอความร่วมมือเพื่อนบ้านในชุมชนว่าอย่าวิตกกังวลหรือแสดงอาการรังเกียจผู้ติดเชื้อ วัตถุประสงค์ของการกักตัวก็เพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออยู่แล้ว ดังนั้น หากปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคในระหว่างกักตัว โอกาสที่จะแพร่เชื้อมีน้อยมาก อีกทั้งผู้ที่อยู่ในการกักตัวก็ได้รับการติดตามอาการจากโรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ของ สปสช.อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว”

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาจากแนวปฏิบัติตัวระหว่างการกักตัวซึ่งแนะนำโดยกรมควบคุมโรค ที่ระบุว่า ต้องอยู่ในที่พักอาศัย 14 วัน ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่นาน 20 วินาทีหรือแอลกอฮอล์ 70% ต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากคนอื่นประมาณ 1-2 เมตร ทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิท ก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด จากนั้นทำความสะอาดมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ทันที เมื่อไอจามให้ใช้ทิชชูปิดปาก ปิดจมูกถึงคางทุกครั้ง ทิ้งทิชชูใส่ถุงพลาสติก ทำความสะอาดบริเวณที่พักด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% และท้าความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู หรืออื่น ๆ ด้วยผงซักฟอกและน้ำธรรมดา หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อน อุณหภูมิ 70-90 องศาเซสเซียส จะพบว่าข้อปฏิบัติเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อทั้งสิ้น

“ดังนั้นอยากจะขอความร่วมมือประชาชนทุกท่าน หากมีผู้ติดเชื้อที่กักตัวอยู่ที่บ้านระหว่างรอประสานหาเตียง ขออย่าได้กังวลว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดแก่ชุมชนโดยรอบ ในทางกลับกัน การเห็นอกเห็นใจกัน สร้างความตระหนักรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 จะยิ่งทำให้ชุมชนเข้มแข็งและเป็นปราการชั้นดีในการรับมือการระบาดในครั้งนี้”

ปรับรอบการจ่ายเงินโควิด-19 ให้ รพ.เร็วขึ้นเดือนละ 2 ครั้ง

เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยอีกว่า สปสช.ได้พิจารณาแนวทางการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่หน่วยบริการให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีรอบการจ่ายทุก ๆ 1 เดือน เป็นเดือนละ 2 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่หน่วยบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการให้รวดเร็ว เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ สปสช. ตั้งใจดำเนินการอยู่แล้วและได้พัฒนาปรับปรุงระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าวตลอดมา ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งใจนั้น อยากให้มีลักษณะของการจ่ายเงินให้รวดเร็วขึ้น เมื่อหน่วยบริการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนเสร็จก็สามารถส่งเบิกแล้วได้รับเงินชดเชย อย่างไรก็ตาม การปรับระบบที่มีข้อมูลขนาดใหญ่เช่นนี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ดังนั้นในเบื้องต้นจึงเริ่มที่รอบการจ่ายทุก ๆ 15 วันก่อน

สำหรับสถิติการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการที่เกี่ยวกับโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณที่ผ่านมา จนถึงเดือน มี.ค. 2564 มีจำนวนการเข้ารับบริการแบ่งเป็นการตรวจคัดกรอง 781,625 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 1,862,074,025 บาท บริการการรักษาโรค 31,488 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 1,499,523,760 บาท

เปิดหลักเกณฑ์เบิกจ่าย “ตรวจคัดกรอง-รักษาโควิด-19” ให้โรงพยาบาล

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ได้จัดสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรอง และบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 รองรับสำหรับประชาชนไทยทุกสิทธิการรักษา ขณะที่การรักษาพยาบาลเบิกจ่ายตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการค้นหาผู้ติดเชื้อในระยะแรก เพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันการติดเชื้อ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สปสช.ได้ออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่อง “กำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการที่มีสิทธิได้รับ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564” โดยเพิ่มเติมบริการคัดกรองโควิด-19 ตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษา ให้ถือเป็นเหตุสมควรที่ต้องรับการคัดกรอง จากเดิมที่กำหนดการให้บริการคัดกรองตามหลักเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI) ของกรมควบคุมโรค และก่อนทำหัตถการตามที่กรมการแพทย์กำหนดเท่านั้น โดยอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการอ้างอิงตามระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าด้วยอัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์และให้บริการ ฉบับที่ 3 นอกจากนี้ สปสช. ได้ประสานร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้เป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง เพื่อร่วมให้บริการคัดกรองโควิด-19 นี้ด้วย

นอกจากนี้ สปสช. ได้มีการปรับปรุง “แนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 ปีงบประมาณ 2564” ด้วยเช่นกัน โดยขยายครอบคลุมบริการตรวจคัดกรอง 4 รายการ ได้แก่

1.การตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริหารเหมาจ่าย 600 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท

2.การตรวจด้วย RT-PCR โดยการทำแบบรวมตัวอย่าง ทั้งตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled savila samples) และตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled swab samples) แยกเป็น

  • การตรวจตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 320 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 100 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
  • การตรวจตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูก และป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled nasopharyngeal and throat swab samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 400 บาท ค่าบริหารเหมาจ่าย 75 บาท และค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
  • การตรวจด้วยวิธี Realtime RT-PCR กรณีการทำ Pooled Sample มีผลตรวจเป็นบวก อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการและเก็บตัวอย่างรวมเหมาจ่าย 200 บาท

3.การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ค่าบริการเหมาจ่าย 350 บาท

และ 4.การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) สำหรับหน่วยบริการที่ทำการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 นี้ ต้องผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการและได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,200 บาท โดยในกรณีฉุกเฉินตรวจร่วมกับ RT-PCR กำหนดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ถ้ากลุ่มเสี่ยงเข้ารับการคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน

ทั้งนี้ ยืนยันว่า สปสช.จะจ่ายชดเชยให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ (Lab) ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรอง State Quarantine

สำหรับกรณีผู้ป่วยใน (IP) จะมีการจ่ายชดเชยค่า Lab ค่ายารักษา และที่สำคัญก็คือค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ก็จะมีการจ่ายชดเชยตามจริงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้เข้าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ ขณะที่ค่าห้องนั้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ทาง สปสช.ก็จะจ่ายชดเชยให้ 2,500 บาทต่อวัน ส่วนค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel หากโรงพยาบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวยังสถานที่นั้น ๆ ก็จะมีการจ่ายชดเชยให้ไม่เกิน 1,500 บาท ต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่าง ๆ ด้วย

“เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเป็นภาระต่อประชาชนในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ก็อยากจะให้ความมั่นใจว่า ถ้าท่านทำตามคำแนะนำของแพทย์ หรือหน่วยบริการนั้น ๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ในกรณีที่มีปัญหาผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง รวมไปถึงผู้ที่เข้าเกณฑ์ทุกอย่างแล้วยังถูกเรียกเก็บค่าบริการ ให้สอบถาม-แจ้งเพิ่มเติมได้ที่ 1330”

ทั้งนี้ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และยังไม่ได้เข้ารับการรักษา โทรสายด่วนเพื่อประสานหาเตียงได้ที่ สายด่วน 1668 ทุกวัน เวลา 08.00-22.00 น. และสายด่วน 1330 ทุกวัน 24 ชั่วโมง หรือลงทะเบียนผ่านไลน์สำหรับในเขต กทม.และปริมณฑล ที่ @sabaideebot

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS