สธ.แจง หมอ-พยาบาล ได้รับวัคซีนครบทุกคนภายในสองสัปดาห์

ย้ำ หากบุคลากรสาธารณสุขคนใดตกหล่น ให้รีบบอก แจง ส.ส.รับวัคซีน อยูในโควตากลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจเสี่ยงจากการพบประชาชน ยืนยัน ยารักษาโควิด-19 มีพอ กำลังสั่งซื้อเพิ่มอีก 2 ล้านเม็ด

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าการฉัดวัคซีนว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 17 เม.ย. 2564 มีการฉีดวัคซีนไปแล้วรวม 608,521 โดส แบ่งเป็นการฉีดเข็มแรก 526,706 คน และเข็มที่สอง 81,815 คน ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังมีการฉีดในจำนวนน้อยนั้น นายแพทย์โอภาส ชี้แจงว่า ตัวเลข 608,521 โดสนี้มาจากวัคซีน Sinovac จำนวน 1 ล้านโดสที่ประเทศรับมาล็อตแรกเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (17 เม.ย. 2564) ก็มีการตรวจรับวัคซีนจาก Sinovac ล็อตที่สองอีก 1 ล้านโดส

ส่วนการกระจายวัคซีน Sinovac ล็อตที่สองนี้ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ให้นโยบายว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในขณะนี้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่ด่านหน้า จึงให้จัดวัคซีนส่วนแรกสำหรับกลุ่มนี้จำนวน 599,800 โดส ให้ได้ 100% ภายในสองสัปดาห์

“หมายความว่าถ้าภายใน 30 เมษายนนี้ ถ้าท่านเป็นบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่แล้วยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ให้รีบแจ้งมาทันที”

มีรายงานล่าสุดวันนี้ (18 เม.ย.2564) ที่โรงพยาบาลประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ได้สั่งปิดโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 วัน เพื่อทำความสะอาด และบุคลากรทางการแพทย์ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หลังมีผู้เข้ารับการรักษาแต่ไม่แจ้งข้อมูลและพบว่า ติดเชื้อโควิด-19 ภายหลัง เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลกะเปอร์ จ.ระนอง ที่พบบุคลากรโรงพยาบาลติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ต้องเร่งทำ Big Cleaning ทั้งโรงพยาบาลและยังส่งผลให้มีผู้เสี่ยงสูงเป็นบุคลากรทางการแพทย์อีก 18 ราย

ส่วนที่สองจำนวน 100,000 โดส สำหรับควบคุมโรคระบาดในพื้นที่สีแดง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนที่สามจำนวน 147,200 โดส สำหรับประชาชนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มนี้จะมีรายชื่อในโรงพยาบาลอยู่แล้ว โดยโรงพยาบาลจะเรียกมาฉีดต่อไป

ส่วนที่สี่จำนวน 54,320 โดส สำหรับเจ้าหน้าที่และบุคลากรอื่น เช่น ตำรวจ ทหาร ศาล อัยการ ที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก และมีรายงานการติดเชื้อในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีนี้รวมทั้งกลุ่ม ส.ส.ที่ไปฉีดวัคซีนด้วย เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีภารกิจต้องพบปะผู้คนจำนวนมากและมีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

ส่วนกลุ่มสุดท้ายจำนวน 98,680 โดส เป็นการสำรองไว้ฉุกเฉิน เช่น กรณีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ในบางจุด เช่น บางแค ตลาดกลางกุ้ง หรือสถานบันเทิง ก็นำไปฉีดให้กับพนักงานและชุมชนที่อยู่โดยรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้กระจายออกไป   

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศแผนการนำเข้าวัคซีนของประเทศไทยเป็น 3 ช่วง โดยช่วงแรก เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 นำเข้าจาก Sinovac จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้นำเข้าครบจำนวนแล้ว, ช่วงที่สอง เดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564 นำเข้าจาก AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดส แบ่งเป็น เดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส, เดือนกรกฎาคม 10  ล้านโดส และเดือนสิงหาคมอีก 10 ล้านโดส

ส่วนช่วงที่สาม เดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 นำเข้าจาก AstraZeneca อีก 35 ล้านโดส แบ่งเป็น เดือนกันยายน 10 ล้านโดส, เดือนตุลาคม 10 ล้านโดส, เดือนพฤศจิกายน 10 ล้านโดส และเดือนธันวาคม 5  ล้านโดส

นอกจากนี้ นายแพทย์โอภาส ได้ชี้แจงกรณีที่มีความห่วงใยว่า ยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 จะเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น โดยยืนยันว่า ตอนนี้มียาตัวนี้อยู่ 5 แสนเม็ด ยังสามารถใช้รักษาผู้ป่วยในขณะนี้ได้ โดยตอนนี้มีอัตราการใช้ประมาณ 1 หมื่นกว่าเม็ด ยังเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม องค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อเพิ่มเติมแล้วอีก 1 ล้านเม็ด ซึ่งขณะนี้ได้ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะมีการสั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 1 ล้านเม็ด โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ในปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว