นักเศรษฐศาสตร์ ชี้อย่าปล่อยโอกาสหลุดมือ กระทุ้งรัฐ-ท้องถิ่น วางแผนระยะยาว เตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน เปิดกว้างช่องทางทำกิน รองรับผู้คนที่ถูกผลักออกจากแหล่งงานในเมืองหลวง เสนอรวมกลุ่มเครือข่ายจังหวัด Work From Hometown ต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ คู่ขนานฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
ภายหลังการระบาดโควิด-19 ระลอกล่าสุด จนทำให้ความพยายามลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อ ด้วยมาตรการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home ถูกให้ความสำคัญอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งบางส่วนอาจยังลังเล และบางคนก็ตัดสินใจอยู่ทำงานที่บ้านเกิด จนนำไปสู่ทางเลือก Work From Hometown
ประเด็นนี้ เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ว่า การสนับสนุนให้ผู้คนทำงานที่จังหวัดบ้านเกิด เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามทำกันมาตลอดหลาย 10 ปี ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความพยายามจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์เชิงพื้นที่ เพื่อผลิตคนให้เหมาะสมกับตลาดงาน แต่ในความเป็นจริงนักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบ กลับไม่ได้ทำงานในพื้นที่ เกือบทั้งหมดหลั่งไหลเข้าสู่เมืองหลวง และเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค
ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่พบ คือ งานในท้องถิ่น ไม่สอดรับกับสิ่งที่เรียนจบมา งานไม่มีอนาคต รายได้น้อย และไม่ใช่สิ่งที่ถนัด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ความพยายามดึงคนกลับบ้านที่มีมาอย่างต่อเนื่องไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม่แต่ในช่วงเวลานี้ เพราะเชื่อว่า Work From Hometown อาจเป็นเพียงกระแส ที่ทำเต็มรูปแบบได้ยาก เพราะยังไม่รู้ว่าโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่รัฐจัดวางเอาไว้ก่อนหน้านี้ ตอบโจทย์การทำงานที่บ้านเกิดเพียงพอหรือไม่
โครงสร้างธุรกิจไทย ไม่ได้รองรับการทำงาน Work From Hometown เต็มรูปแบบ เพราะนี่คือคือการกลับบ้านของคนทำงาน ที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบของธุรกิจ แต่โควิด-19 คือไฟท์บังคับให้แหล่งงาน ภาคอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ต้องไล่คนกลับบ้าน บางงาน บางอาชีพอาจปรับตัวได้ แต่ถ้าเป็นอาชีพในกลุ่มธุรกิจที่ต้องดูแลลูกค้า งานบริการ จะมีปัญหา ทำให้การใช้ Work From Hometown กับทุกอาชีพยังทำยาก เพราะเรายังไม่พร้อม ดังนั้น Work From Hometown จึงเป็นเพียงปรากฎการณ์ ที่อาจมีแค่ธุรกิจใหญ่ ๆ ที่พร้อมมากกว่า สำหรับการผ่องถ่ายคน ผ่องถ่ายงาน โดยมีระบบหลังบ้านที่เข้มแข็งรองรับ การทำงานที่บ้านจึงไม่ส่งผลกระทบ แต่ไม่ใช่สำหรับธุรกิจ SME ที่ยังไม่พร้อม ดังนั้นการกลับไปทำงานที่บ้าน เพียงเพื่อซื้อเวลาแบบนี้ อาจไม่ทำให้ธุรกิจ และคนทำงานอยู่รอดในวิกฤตแบบนี้ได้
เกียรติอนันต์ ยังระบุถึงงานวิจัยที่เคยศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงานทั่วประเทศ ในช่วงตั้งแต่ปี 2562 ย้อนหลังกลับไป 5 ปี พบว่า โครงสร้างตลาดแรงงานไม่เคยปรับเปลี่ยน ทำให้เห็นเด็กจบใหม่ที่จะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดมีเพียง 2 ทางเลือก คือ ยอมรับกับงานฝนโลกที่เขาเคยเจอ และพยายามหนีออกมา เช่น การต้องกลับไปช่วยพ่อแม่ทำงานภาคการเกษตร กับอีกทางเลือก สำหรับคนรุ่นใหม่ที่พอมีหน่วยก้านดี มีความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันตัวเองจนเป็นนวัตกร สร้างงานใหม่ขึ้นมาได้ แต่กลุ่มนี้มีน้อยมาก
โมเดลโลกสวยที่หลายคนคิด คือ กลับไปอยู่บ้านแล้วดี ช่วยสร้างงาน สร้างท้องถิ่นให้เจริญ นั้นอาจไม่ได้เป็นไปตามที่คิดกันเอาไว้ ตราบใดที่ภาครัฐเองยังไม่วางระบบโครงสร้างพื้นฐาน ให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเจริญเติบโตได้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่าง โปรแกรมเมอร์จากบริษัทซอฟต์แวร์ ยักษ์ใหญ่ หวังกลับไปทำงานที่บ้านด้วยทักษะที่ตัวเองถนัด แต่อินเทอร์เน็ตในท้องถิ่น แค่ฝนตก ฟ้าร้องสัญญาณก็ล่ม จึงไม่ตอบโจทย์งาน หรือ คนที่เคยอยู่ในสายงานบริการด้านการท่องเที่ยว แต่ต้องกลับไปหางานในบ้านเกิดที่เป็นเมืองเกษตรกรรม ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ปรากฎการณ์แบบนี้กลายเป็นข้อจำกัด ที่ตัดโอกาสทางอาชีพ
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยังยืนยันว่า การส่งเสริม Work From Home และ Work From Hometown เต็มรูปแบบ คือสิ่งที่ตอบโจทย์โลกยุคโควิด-19 ดังนั้นควรมองแนวทางทำงานแบบนี้ เพื่อให้เป็นทางเลือกในระยะยาวด้วย จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐจัดทำข้อมูล คัดแยกกลุ่มคนให้ชัดเจน หากเป็นกลุ่มที่ยังสามารถทำงานอยู่บ้านแล้วเชื่อมโยงกับแหล่งงานเดิมได้ ก็ไม่น่าห่วง แต่ สำหรับกลุ่มที่ต้องขาดจากงานเดิม ก็ต้องพยายามสร้างโอกาสให้อยู่ทำงานในบ้านเกิดได้ นี่คือโจทย์ระดับพื้นที่ จังหวัด ที่ต้องคิด
เพราะนี่คือโอกาสดีที่โควิด-19 เข้ามาล้างความเชื่อเก่า ๆ จากนี้ต้องทำให้โอกาสทางอาชีพไม่กระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองใหญ่ แต่ต้องกระจายไปตามหัวเมืองระดับภูมิภาคด้วย นี่คือโอกาสทางเศรษฐศาสตร์ ที่ควรทำให้แต่ละจังหวัดสามารถรวมกันเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อส่งเสริมแหล่งงาน แหล่งอาชีพ ที่ไม่แข่งกันเอง โดยมีจังหวัดใหญ่ตามภูมิภาคเป็นแกนกลาง สร้างเครือข่ายการทำงาน Work From Hometown เพื่อร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับจังหวัด ให้เติบโตควบคู่กันไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐ และท้องถิ่นเองต้องหันกลับมามองเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ทำให้ Work From Hometown เป็นแค่กระแสเพราะเชื่อว่าโควิด-19 ยังอยู่กับเราไปอีกนาน จึงต้องเร่งเตรียมแผนวางโครงสร้างตลาดงานแบบกลุ่มจังหวัดรองรับผู้คนที่จะหลุดออกระบบงานอีกจำนวนมาก