สสส.นำร่องโครงการสนับสนุนนักศึกษาจบใหม่ คนตกงาน และชุมชน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต อาชีพรายได้ และความมั่นคงทางอาหาร หวังรัฐ-เอกชนร่วมขยายผล ขยายเครือข่ายแก้ปัญหา
วันนี้ ( 15 เม.ย.2564 ) นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ละระลอก สร้างผลกระทบโดยตรงกับวัยแรงงานอย่างรุนแรง เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน
จากผลสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤตโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ปี 2563 พบว่า ประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน จึงทำให้ลดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพหรือทักษะในการประกอบอาชีพจากการไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานร้อยละ 14 หรือกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคนว่างงานร้อยละ 17.9 หรือกว่า 6 ล้านคน
ที่สำคัญยังพบว่า แรงงานทั้งในและนอกระบบส่วนมากยังไม่มีแผนการออม ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ด้วยสถานะของแรงงานในระบบทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลายเป็นบุคคลที่มีทักษะเชิงเดี่ยวไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง
จากปัญหาดังกล่าว สสส. จึงริเริ่มโครงการ “ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ” โดยมีเป้าหมายสนับสนุนทุนให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โครงการละ 50,000-100,000 บาท ภายใต้ประเด็นการทำงาน 3 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และทักษะด้านการเงิน เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ในสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนค่าใช้จ่ายและการออม การลงทุน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมใช้พลังกลุ่มแก้ปัญหา เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง
2.ส่งเสริมให้คนในชุมชนพัฒนาแหล่งอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
และ 3.ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ-รายได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ เกิดกิจกรรมสุขอนามัยในย่านชุมชน เช่นตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหาร
“ ยกตัวอย่าง เช่นกลุ่มบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาในปีนี้ และคาดว่าจะได้รับผลกระทบ จากการไม่มีงานทำ เราได้สนับสนุนโครงการให้กับกลุ่มนี้ ซึ่งพวกเขาจะใช้องค์ความรู้ที่มีไปทำงานร่วมกับชุมชนหลักหก จังหวัดปทุมธานี ในการช่วยเหลือชาวบ้านพัฒนาอาชีพ รวมทั้งเกษตรกรที่มีรายได้ลดลง ในการพัฒนาสินค้า ทำตลาดออนไลน์ รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่รกร้าง ให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงอาหารให้กับผู้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร หรือรายได้ลดลง เพื่อรับมือวิกฤตโควิด 19 ”
ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความคาดหวัง ว่าแนวคิดของการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ให้คนถูกเลิกจ้าง ตกงาน หรือมีรายได้ลดลง มีอาชีพคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากในชุมชน จะสามารถต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจชุมชนได้ และเห็นโอกาสว่าในระหว่างทางของการดำเนินโครงการต่างๆนี้ หน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น และเอกชน ที่มีแนวทางการทำงานในลักษณะเดียวกัน สนใจเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ หรือต่อยอดขยายเครือข่ายการทำงานโครงการในลักษณะเดียวกันได้ ก็จะเป็นการเพิ่มและขยายความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่างๆมากขึ้น
ล่าสุดทาง สสส.ได้สนับสนุนโครงการต่างๆครบแล้ว 118 โครงการ ส่วนประชาชนท่านใดประสบปัญหาตกงาน และสนใจเข้าร่วมโครงการต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนแล้ว สามารถติดต่อเพื่อเข้าร่วมโครงการในชุมชนของตนเอง ทั้ง 118 แห่งได้ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สร้างสรรค์โอกาส www.facebook.com/Section6TH”