“ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล”

‘อธิบดีกรมการแพทย์’ ย้ำ เตียงมีเพียงพอ ทั่วประเทศยังเหลือว่าง 18,257 เตียง​ กทม. เหลือ​ 2,069 เตียง ขอเฉพาะผู้ติดเชื้อโทรสายด่วนประสานขอเตียง และอดทนรอเจ้าหน้าที่ พร้อมรถพยาบาลไปรับ

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว​ว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุข​จัดการเตียงให้เพียงพอในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยทุกคนต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล จึงวอนขอให้ผู้ติดเชื้อไม่รักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน เพราะอาจเป็นผู้แพร่เชื้อต่อให้ผู้อื่นได้​

โดยช่องทางในการประสานขอเตียง​ คือ หมายเลข 1668 สายด่วนกรมกรมการแพทย์ รับสาย 08.00 – 20.00 น. 1330 สายด่วน สปสช. 1679 สายด่วนจัดการเตียงใน กทม. ซึ่งในส่วนของสายด่วนจัดการเตียงใน กทม. จะเริ่มอย่างสมบูรณ์ในวันพรุ่งนี้ (13 เม.ย.)

ระหว่างรอเตียง และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขอให้ผู้ติดเชื้อแยกตัวเองอยู่ลำพัง ไม่สัมผัสใกล้ชิดบุคคลอื่น และอดทนรอ เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการประสานหาเตียงได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นการรักษาในสถานที่ใด ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ติดเชื้อจะไม่ถูกเรียกเก็บเงินโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะมีสิทธิประกันสุขภาพของตนเอง​ 

“ตามหลักแล้วผู้ติดเชื้อจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลักเพื่อดูอาการอย่างน้อย 3-5 วัน ก่อนที่จะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลสนามหรือ Hospital แต่หากกรณีมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนเตียงในโรงพยาบาลหลักมีไม่เพียงพอ​ ก็จำเป็นต้องส่งตัวผู้ติดเชื้อไปที่โรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ทันที”

ข้อมูลล่าสุด วันที่ 11 เม.ย. 2564 จำนวนเตียงทั้งหมด ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel จากทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งหมด 23,483 เตียง  ยอดผู้ป่วยที่ใช้เตียงจำนวน 5,226 เตียง คงเหลือเตียงว่าง 18,257 เตียง

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยจากทุกหน่วยงาน รวมทั้งรัฐและเอกชน รวมไปถึงโรงพยาบาลสนาม​ และ​ Hospitel​ มีจำนวนทั้งหมด 3,967 เตียง มีผู้ป่วยใช้เตียงจำนวน 1,898 เตียง คงเหลือเตียงว่าง 2,069 เตียง

อธิบดีกรมการแพทย์​ ระบุว่า จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ​ ซึ่งยังต้องเฝ้าระวัง อาการปอดติดเชื้อหรือปอดอักเสบ จะมีพยาบาลคอยดูแล วัดความดัน วัดไข้ และวัดออกซิเจนในเลือดทุกวัน หากมีอาการแย่ลง จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลักทันที​ และไม่ว่าจะเป็นการรักษาในสถานที่ใด ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ติดเชื้อจะไม่ถูกเรียกเก็บเงินโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะมีสิทธิประกันสุขภาพของตนเอง

“ตราบใดที่ผู้ติดเชื้อยังพุ่งไปไม่ถึง 10,000​ คนต่อวัน ก็ยังมีเตียงในระบบสาธารณสุขรองรับ ซึ่งประชาชนไม่ต้องรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ให้ต้องมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อ”

ส่วนกรณีที่มีผู้ติดเชื้อ รักษาตนเองอยู่ที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข​ แต่ยอมรับว่าคู่มือการรักษาโรคโควิด-19 ของแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ การรักษาตามอาการ นอกจากจะพบว่าปอดอักเสบ จึงจะใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอาการ แต่จำเป็นต้องกักตัวไว้เพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อ แล้วเฝ้าสังเกตอาการเป็นประจำทุกวัน เพราะ โควิด-19 ยังเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังต้องใช้เวลาในการเก็บรวบรวมอาการทางคลินิกและการรักษา ให้ชัดเจน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS