ปรับแผนกระจายวัคซีน​ จ่อทุ่ม “ซิโนแวค​” 1​ ล้านโดส ล็อต​ 10​ เม.ย.​ นี้ เน้นตัดวงจรระบาด​ กทม.

รมช.สธ.​ ขอ 2 วัน เปิดไทม์ไลน์​ “ศักดิ์สยาม” เผย เร่งเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่ม แต่ไม่มีเจ้าใดส่งมอบทัน​ มิ.ย.​ นี้ ด้าน​ นักวิจัยระบบสุขภาพ​ ห่วงสงกรานต์​ระบาดใหญ่กว่าทุกระลอก​ แนะเตรียมระบบบริการสุขภาพให้เพียงพอ​

เมื่อวันที่​ 7​ เม.ย.​ 2564​ ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันสาขาระบาดวิทยา และนักวิจัยระบบสุขภาพ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล​ ให้สัมภาษ​ณ์กับรายการ​ Active​ Talk​ ว่าการระบาดรอบนี้เหมือนย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว​ แต่ประเทศไทยมีความรู้มากขึ้นเรื่องสายพันธุ์​ แม้สายพันธุ์อังกฤษจะหลุดรอดเข้ามาแล้ว​ แต่ต้องสกัดกั้นสายพันธุ์แอฟริกาใต้​ ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า รองรับได้หรือไม่

อีกประเด็นสำคัญ คือ คลัสเตอร์ทองหล่อต้องสอบสวนโรคหาต้นตอให้ได้ ว่าหลุดมาจากที่ไหน โดยใช้ระบบ Contact testing และเตรียมเรื่องระบบบริการสุขภาพให้เพียงพอ รอบนี้มีความเหมือนกับรอบแรกที่ระบาดจากสนามมวยและผับบาร์ โดยจะสังเกตได้ว่าสถานที่​เสี่ยง และกิจกรรมที่รวมตัวกันหนาแน่น​ จะเป็น Superspreading event ที่แพร่เชื้อไปได้ไกล

สำหรับนโยบายในการควบคุมโรครอบนี้ยังคงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจเอง แต่ควรมีข้อพิจารณาหรือหลักเกณฑ์เดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือทำตาม ๆ กันเหมือนอย่างที่ผ่านมา​ รวมทั้งควรสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงแนวทางการตัดสินใจออกมาตรการต่าง ๆ จากรัฐด้วย

ผศ.นพ.บ​ว​รศ​ม​ ระบุต่อไปว่า​ ในเชิงระบาดวิทยาคนในพื้นที่จะรับรู้ถึงความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงกรานต์ อาจต้องคิดร่วมกันที่จะควบคุมโรคอย่างไร เมื่อทุกฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันเป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงมากที่สุด เพราะจะมีการเคลื่อนย้ายประชากร กระทรวงสาธารณสุข​ จึงพยายามปรับแผนการฉีดวัคซีนที่ปัจจุบันยังมีอยู่น้อยมาก จำนวน 2 ล้านโดส จากซิโนแวคและแอสตราเซเนกา​ เพื่อนำมาสร้างความเชื่อมั่นและส่วนหนึ่งก็แบ่งเอาไว้บริหารความเสี่ยงแต่อย่างไรก็ตามไม่มากพอที่จะใช้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่หากกรณีจะเปิดประเทศที่เกาะภูเก็ตก็จำเป็นต้องใช้วัคซีน ให้เพียงพอ กับประชากรจำนวน 70%

ดังนั้น ช่วงที่ยังรอวัคซีนล็อตใหญ่ของแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ที่จะได้ในเดือนพฤษภา​คม​นี้​ ระหว่างนี้ จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอีกช่วงหนึ่งในการควบคุมโรค

ด้าน สาธิต​ ปิตุเตชะ​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข​ กล่าวว่าการระบาดรอบล่าสุด​ ก็สามารถเรียกว่าเป็นรอบ 3 ได้ โดยคนที่ไปร่วมกิจกรรมเสี่ยงและติดเชื้อมาอยู่ในวิชาชีพที่ต้องทำงานกับผู้คนจำนวนมากเลยแพร่กระจายไปได้มาก

ในส่วนของนายกรัฐมนตรีคงไม่มีคำสั่งล็อกดาวน์​ ปิดเมือง​ แต่คนที่ทำงานด้านสาธารณสุขก็จะเหนื่อยพอสมควรกับการตามสอบสวนโรคซึ่งไม่สามารถทำได้ 100%

“ผมย้ำกับเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคว่าต้องโปร่งใส ในการแสดงไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ เพราะหากไม่จริงจังสิ่งที่ทำมาจะหมดความน่าเชื่อถือ​ กรณีของ นายศักดิ์สยาม​ ชิดชอบ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม​ ที่ติดเชื้อเมื่อวันที่ 7 เมษายน คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 วันจึงจะทราบไทม์ไลน์ ที่ชัดเจน”

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้มีการระดมเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคจากต่างจังหวัด เข้ามาที่กรุงเทพฯ​ เพราะต้องใช้จำนวนคนที่มากขึ้น ในขณะที่ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือหลายคนไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชน​เอง ทำให้ไม่ได้เข้าสู่ระบบของกรมควบคุมโรค การติดตามตัวก็จะยากมากขึ้น​ ล่าสุด มีการประสานงานกับทุกหน่วยโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนว่าหากพบผู้ติดเชื้อให้รับแอดมิดทันที​ และจะมีเจ้าหน้าที่ไปพบ

สำหรับแนวทางการจัดสรรวัคซีนโควิด-19​ ในสถานการณ์ฉุกเฉินและยังมีวัคซีนอยู่จำกัด ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนแผน​ ฉีดเน้นในจุดที่เกิดการระบาดในกรุงเทพฯ มากขึ้น

เดิม ครั้งแรกกรุงเทพฯ ได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 60,000 โดส​ ต่อมาเพิ่มเป็น 100,000 โดส และคาดว่าวัคซีนจากซิโนแวค​ ที่จะมาในวันที่ 10 เมษายนนี้​ อีกจำนวน​ 1​ ล้านโดส จะทุ่มไปที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนมาก

ส่วนการจัดหาวัคซีนในระหว่างที่ยังรอวัคซีนล็อตใหญ่​ 26​ ล้านโดส​ ส่งมอบล็อตแรก​ 5​ ล้านโดส​กลางเดือนพฤษภา​คม​นี้นั้น คณะกรรมการวัคซีนฯ​ ก็คุยกันมาตลอดและมีการเจรจากับบริษัทวัคซีนหลายบริษัท​ แต่ไม่มีเจ้าใดสามารถส่งมอบวัคซีนได้ทันก่อนเดือนมิถุนายน เช่นบริษัท Johnson & Johnson สามารถส่งมอบวัคซีน​ให้ได้ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้หากสามารถเจรจาซื้อวัคซีนได้ก่อนเดือนมิถุนายน​ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใด​ รัฐบาลพร้อมที่จะทุ่มงบประมาณเต็มที่ที่จะซื้อวัคซีนโดยเร็วที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS