นักวิชาการ ย้อนปมนายกฯ ติงสื่อ “นั่งไขว่ห้าง” สะท้อนอคติ เมินสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ

เชื่อมุ่งจับผิดกริยา มารยาทขัดธรรมเนียมไทย แต่กลับเป็นการกดขี่ทางเพศผ่านเรือนร่าง เรียกร้องสังคมร่วมขบคิดมองคนเท่ากัน

จากกรณีนายกรัฐมนตรีตักเตือนนักข่าวหญิงที่นั่งไขว้ห้างระหว่างตอบคำถามสื่อมวลชน ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา จนสำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สั่งห้ามนักข่าวคนดังกล่าวเข้าทำเนียบรัฐบาล แม้ภายหลังได้ออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับการนั่งไขว่ห้างสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีก็ตาม

ประเด็นนี้ยังได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยโดย ภาคีนักเรียนสื่อ เปิดวงเสวนาออนไลน์ผ่าน ClubHouse ภายใต้กิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า “ขวั่ยห้างเสวนา ตอน #เพศสภาพกับงานสื่อ” ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นเพศสภาพกับการทำงานสื่อสารมวลชน ร่วมกับ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และผู้สื่อข่าวภาคสนาม

ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรี จี้ถามผู้สื่อข่าวหญิงเรื่องการนั่งไขว่ห้าง ไม่ใช่ปัญหาในเรื่องของมารยาท วัฒนธรรมที่ดีงาม แต่เป็นเรื่องของอคติทางเพศ (gender bias) ขณะเดียวกัน ก็ตั้งคำถามกรณีที่สื่อหลายสำนัก กลับนำเสนอข่าว โดยมุ่งเน้นว่าผู้สื่อข่าวหญิงแสดงกริยา มารยาทขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ไม่ได้ชี้นำสังคมว่านี่เป็นตัวอย่างของการเหยียดเพศ ซึ่งกำลังสะท้อนภาพของความมืดบอดในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะสมาคมวิชาชีพสื่อต่าง ๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล กลับไม่ได้ออกมาปกป้องผู้สื่อข่าวหญิงคนดังกล่าว กลับกันหากเป็นผู้สื่อข่าวชาย การนั่งไขว่ห้างอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ

ชเนตตี ทินนาม ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

ท่านั่งไขว้ห้าง ในทางภาษากาย หมายถึง เรากำลังแสดงความมั่นใจในตัวเอง เป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้ที่มีแนวคิดปิตาธิปไตย กำลังกลัวผู้ตั้งคำถามที่มีความมั่นใจในตัวเอง จึงต้องการที่จะกด ข่ม อำนาจนั้นลงรวมถึงสังคมเองก็ถูกมายาคติว่าอวัยวะของเพศชายเป็นของสูง ขณะที่อวัยวะของเพศหญิงเป็นของต่ำ ดังนั้นเราจึงมีทัศนคติต่อท่านั่งไขว้ห้างที่แตกต่างกัน และมีมุมมองต่อปรากฎการณ์นี้โดยใช้แว่นของวัฒนธรรมประเพณี ไม่ใช่แว่นของสิทธิความเท่าเทียม

ด้าน หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการ เดอะอีสานเรคคอร์ด  ฉบับภาษาไทย สะท้อนปัญหาการทำงาน ว่า แม้หลายสำนักข่าวจะมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าครึ่ง แต่ส่วนใหญ่มักอยู่ในภาคปฏิบัติ ส่วนในภาคบริหารกลับเป็นผู้ชาย ซึ่งยังส่งผลต่อการตรวจสอบในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานด้วย ที่ทำให้ผู้หญิงอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งก็เคยมีกรณีที่เกิดขึ้นมาแล้ว 

ขณะเดียวกันก็ยังมีผลต่อสมดุลในการนำเสนอข่าวที่สัดส่วนเรื่องเพศแทบจะไม่มี ขณะที่สื่อมวลชนต่างประเทศ หากนำเสนอข่าวหนึ่งชิ้นที่มีแหล่งข่าว 5 คนจะต้องประกอบด้วยผู้ชาย ผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในสัดส่วนที่สมดุลกัน ขณะที่สื่อไทยอาจไม่ได้คิดว่าการมีเสียงของผู้หญิงเข้ามาอยู่ในข่าวจะมีความสำคัญอะไร 

สอดคล้องกับ วศิณี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว Workpoint Today กล่าวถึงข้อจำกัดในการลงพื้นที่ทำข่าว ว่า ผู้สื่อข่าวหญิงมักถูกมองว่ามีสิทธิพิเศษมากกว่าผู้สื่อข่าวชาย ในการเข้าถึงแหล่งข่าวโดยเฉพาะแหล่งข่าวชายที่เป็นผู้มีอำนาจ ซึ่งมีบางส่วนที่เป็นเรื่องจริง รวมถึงการถูกเนื้อต้องตัว การใช้คำเรียก แม้แต่ในองค์กรเองซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าของเพศหญิงให้ต่ำลง รวมถึงเป็นการคุกคามทางเพศรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นแม้แต่ในองค์กรเองก็ต้องชี้ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ อาจจะต้องใช้เวลารวมถึงการเปิดพื้นที่ ให้การพูดคุยเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติในสังคม 

ขณะที่ รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ เพจ The active สะท้อนว่า ภายในองค์กรมีกลไกการตรวจสอบ ในการให้พื้นที่คนทุกกลุ่มบนพื้นที่สื่ออยู่ส่วนหนึ่งแล้ว แต่อีกส่วนที่สำคัญ คือการนำเสนอในเชิงประเด็นที่ต้องนำเสนออย่างต่อเนื่องเพื่อให้สังคมขบคิด และนำไปสู่การสร้างความเข้าใจ 

ปัญหาของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ผ่านมากลับถูกมองว่าไม่ใช่นโยบายสำคัญหรือจำเป็นเร่งด่วน แต่กลับนำเสนอในเชิงการสร้างความบันเทิงหรือสีสันตามหน้าข่าวเท่านั้น ดังนั้นบทบาทของสื่อต้องทำงานควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยส่วนตัวเชื่อว่าสังคมเริ่มเข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการชุมนุมที่ผ่านมา ประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีทั้งผู้ชายและผู้หญิงให้การสนับสนุน แต่จะหยุดแค่นี้ไม่ได้

ปัจจุบันไทยมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศปี 2558 หากในวงการสื่อหรือองค์กรต่าง ๆ มีปัญหาเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศ  ชเนตตี ย้ำว่า สามารถยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย ที่ครบถ้วนรอบด้าน ผลวินิจฉัยจะถูกเสนอไปยังภาคนโยบาย ที่สามารถสั่งการไปยังต้นสังกัด ให้เกิดการยุติการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในองค์กรได้

ฟังเสวนาย้อนหลังได้ทาง https://fb.watch/4Fui4GCRUY/

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน