ประมงพื้นบ้าน เตรียมทวงถามรัฐ ออกมาตรการห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

หลังมีกฎหมายแล้ว 6 ปี แต่ยังไม่คืบหน้า โซเชียล ชวนเลิกกิน “ปลาข้าวสาร” ชี้ แท้จริงเป็นตัวอ่อนปลากะตัก

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยกับ The Active เตรียมเดินหน้าทวงถามมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน หลังกำหนดไว้ใน พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 แต่ผ่านมาแล้ว 6 ปี ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่สถานการณ์การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนยังมีความรุนแรง เสี่ยงกระทบความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย

วิโชคศักดิ์ กล่าวย้อนที่มาว่า เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing – IUU Fishing) ที่ผ่านมา จึงมีทั้งการออกกฎหมายประมงฉบับใหม่ รวมถึงมาตรการกวดขันเรือประมงเถื่อน ส่งผลให้จำนวนเรือประมงที่ออกจับสัตว์น้ำลดปริมาณน้อยลง

กรณีการแก้ปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน มีการบัญญัติหลักการไว้ใน มาตรา 57 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนําสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดขึ้นเรือประมง” ซึ่งฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีหน้าที่ต้องประกาศมาตรการในรายละเอียดให้เป็นไปตามข้อกฎหมายดังกล่าว เช่น กำหนดว่า สัตว์น้ำตัวอ่อนชนิดไหนและขนาดเท่าไรที่อนุญาตให้จับได้ แต่ผ่านมาแล้ว 6 ปี ก็ยังไม่มีออกมาตรการดังกล่าว ขณะที่ปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกจับก็ไม่ได้ลดลง แม้จะมีใช้มาตรการอื่น ๆ อยู่แล้ว

“หากย้อนกลับไปดูปริมาณการจับสัตว์น้ำเดิมในทะเลไทย ก่อนปี 2558 มีประมาณล้านกว่าตัน ทุกปีต่อเนื่องกันมา ซึ่งถ้าคิดโดยตรรกะแบบพื้น ๆ ก็คือ จำนวนเรือมีลดน้อยลง เรือประมงพาณิชย์เหลืออยู่แค่ประมาณ 1 หมื่นลำ แต่ปรากฏว่าปริมาณการจับก็ยังอยู่ล้านกว่าตันเท่าเดิม”

วิโชคศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสะท้อนว่าปริมาณเฉลี่ยการจับสัตว์น้ำต่อลำเพิ่มขึ้น เพราะต้องทำให้ได้ปริมาณน้ำหนักเท่าเดิมเพื่อป้อนตลาด ทำให้สถานการณ์การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เช่น การจับลูกปลาทู หรือลูกปลากะตัก โดยมีงานวิจัยบางชิ้นบอกว่า เกือบครึ่งหนึ่งสัตว์น้ำที่ถูกจับด้วยเรือประมงอวนลาก สัตว์น้ำวัยอ่อน และในจำนวนครึ่งหนึ่งนี้ก็เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ มากถึง 30% ดังนั้น จึงถึงเวลาที่รัฐบาลต้องออกมาตรการมาได้แล้ว

นอกจากนี้ จากการสำรวจตลาดยังพบว่า ห้างค้าปลีก (Modern Trade) กลายเป็นแหล่งรับซื้อรายใหญ่ของสัตว์น้ำเหล่านี้ ที่ผ่านมาเขาและเครือข่ายฯ จึงเดินสายไปพูดคุยห้างค้าปลีกรายใหญ่ เพื่อขอให้ร่วมกันรับผิดชอบทางสังคม โดยการไม่รับซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งก็ได้รับท่าทีตอบรับที่เป็นบวก

วิโชคศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ก็จะเริ่มให้ข้อมูลต่อสาธารณะ รวมทั้งการประสานงานกับทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น โดยเป้าหมายหลักคือการเรียกร้องให้รัฐกำหนดมาตรการในเรื่องนี้ออกมาบังคับใช้

ชาวโซเชียลชวนหยุดกินปลาข้าวสาร ไม่ลดมูลค่าปลากะตัก

เพจ นี่แหละแบบไทยๆ แชร์ข้อมูลหนึ่งในชนิดปลาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ปลากะตัก ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าชื่อ ปลาข้าวสาร เนื่องจากลำตัวบางใสเหมือนข้าวสาร ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากไม่ยุ่งยากในการนำไปประกอบอาหาร และสามารถกินได้ทั้งเป็นกับข้าว หรือกินเล่น จึงมักเห็นปลาชนิดนี้ถูกนำไปแพ็กใส่ถุงวางขายในห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปจำนวนมาก

แต่แท้จริงแล้ว ปลาข้าวสารก็คือ ลูกปลากะตัก ข้อมูลจากกรีนพีซระบุว่า ปลากะตักมีหลายชื่อเรียกในช่วงชีวิต ตอนเพิ่งเกิดจะมีขนาดเล็กมาก โดยมีขนาดแค่ 2.3 – 3.7 ซ.ม. และตัวบางใส คนภาคกลางเรียกว่าปลาข้าวสาร ปลาสายไหม ปลามะลิ และยังมีชื่อ ยิวเกี๊ยะ ในภาษาจีน บูร่า ในภาษายาวี ฉิ้งฉ้าง และ หัวอ่อน ในภาษาถิ่นใต้

ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า หลังเกิดได้ประมาณ 39 วัน ปลาจิ๋วเมื่อโตเต็มวัย กลายเป็นที่รู้จักในชื่อปลากะตักหรือปลาไส้ตัน ลำตัวยาว 8-10 ซ.ม. เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำปลาชั้นเลิศ​ เป็นอาหาร​คน​ และ​เป็นอาหารให้สัตว์น้ำอื่น ๆ ในห่วงโซ่ชีวิตสัตว์น้ำทะเล เช่น วาฬ

การกินปลาข้าวสาร จึงเท่ากับเป็นการตัดวงจรชีวิตปลากะตักไม่ให้โตเต็มวัย ลดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ควรจะได้มากกว่านี้ ตัดห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเลอีกหลายชนิด และที่สำคัญยังเท่ากับเป็นการสนับสนุนการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนอีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว