3 กลุ่มติดอาวุธ ทบทวนข้อตกลงหยุดยิงกับเมียนมา

นายกฯ ยืนยัน ไม่ได้ผลักดันผู้อพยพ แต่ถามชาวบ้านแล้ว บอกไม่มีปัญหา เลยให้กลับไปก่อน ตัวเลขชาวเมียนมาเสียชีวิตพุ่งเกิน 500 คนแล้ว

3 กลุ่มติดอาวุธ ประกาศทบทวนข้อตกลงหยุดยิงกับเมียนมา

จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดที่เมียนมา ที่เริ่มขยายวงจากพื้นที่เมืองใหญ่ ประชิดชายแดนมากขึ้น หลังกลุ่มติดอาวุธชนพื้นเมืองของเมียนมาทางตอนเหนือของรัฐฉาน กลุ่มกองกำลังพันธมิตรทางเหนือ (Northern Alliance) 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มพรรคเพื่อความจริงและความยุติธรรมแห่งชาติเมียนมา, กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNTJP/MNDAA) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง, กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (PSLF/TNLA) และกลุ่มสหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA)

ภาพ : The Irrawaddy

พวกเขาร่วมกันออกแถลงการณ์ว่า ตามที่ 3 กลุ่มได้ทำประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2562 – 31 มี.ค. 2564  แต่เนื่องจากกองทัพเมียนมาได้ทำการยึดอำนาจ ดังนั้น จึงขอนำสัญญาหยุดยิงฝ่ายเดียวกลับมาทบทวนอีกครั้ง และพร้อมกันนี้ ขอให้กองทัพเมียนมาหยุดยิงประชาชนที่เดินขบวนอย่างสันติทันที รวมทั้งแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยเร่งด่วน ซึ่งหากกองทัพเมียนมาไม่ปฏิบัติตาม กองกำลังพันธมิตรทางเหนือ 3 กลุ่ม จะเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ดำเนินการทางทหารในช่วงฤดูร้อนนี้ ทำการปกป้องตัวเองต่อไป

ส่วนสถานการณ์ชายแดนไทย จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากฝ่ายความมั่นคงไทยไม่อนุญาตให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่อพยพหนีระเบิด ที่กองกำลังความมั่นคงของเมียนมายิงถล่มทางอากาศ ในพื้นที่กองพลน้อยที่ 5 กองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ KNU ข้ามมาฝั่งไทย โดยพบว่าจนถึงขณะนี้ชาวบ้านก็ยังไม่กล้ากลับเข้าพื้นที่ แต่อาศัยพื้นที่แถวริมแม่น้ำสาละวินตรงข้ามชายแดนหลบภัยชั่วคราว

ขณะที่วันนี้ (30 มี.ค.) มีการส่งตัวชาวบ้านกะเหรี่ยงที่บาดเจ็บจากเหตุทหารเมียนมาทิ้งระเบิดมารักษาตัวที่ฝั่งไทย จำนวน 6 คน โดยนำส่งทางเรือข้ามแม่น้ำสาละวินเมื่อช่วงเช้า เข้าฝั่งไทยที่ท่าเรือแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และนำตัวไปรักษาที่ รพ.สบเมย

นายกฯ ย้ำ ไม่ได้ผลักดันผู้อพยพ

ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงเรื่องนี้อีกครั้ง หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (30 มี.ค.) กล่าวถึงกรณีผู้อพยพว่า ไม่ได้ถึงขนาดผู้อพยพทะลักเข้าไทย เป็นแค่ภาพบางสื่อที่เอามาเผยแพร่ ซึ่งจริง ๆ ก็มีการพูดคุย หลายคนเข้ามาก่อน พอมาเจอเจ้าหน้าที่ก็ชี้แจง และพอถามว่าในประเทศของเขามีปัญหาตรงไหน เขาบอกไม่มี ก็เลยบอกให้เขากลับไปก่อนได้ไหม

“ไม่ได้เอาปืนไปไล่จี้ให้เขากลับไป แต่จับไม้จับมืออวยพรให้กันด้วยซ้ำ นั่นคือมนุษยธรรม เอาไว้สถานการณ์รุนแรงขึ้นค่อยแก้แล้วกัน”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พร้อมกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้แล้ว มีศูนย์อพยพมากถึง 9 ศูนย์ ดูแลผู้อพยพ 4 แสนกว่าคน เดิมเคยมีข้อตกลงว่าจะส่งกลับ แต่พอเหตุการณ์เกิดขั้นในตอนนี้ก็ต้องหยุดไว้ก่อน ของใหม่ก็ต้องเตรียมการให้พร้อม

“เราต้องดูแลมนุษยธรรม ประสบการณ์เราเยอะ ไม่ต้องห่วง เราผลักดันไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเขารบกันอยู่จะผลักดันกลับไปได้อย่างไร แต่ถ้าไม่มีก็กลับไปก่อนได้ไหม”

เมื่อถูกถามว่าจะอำนวยความสะดวกให้อย่างไร นายกฯ ตอบว่า ทำไมจะต้องพูดตรงนี้ มันเป็นเรื่องความมั่นคง ถ้าถึงเวลาก็จะตัดสินใจเอง จะไปพูดป่าวประกาศรับเข้ามา มันใช่หรือเปล่า ถ้าเข้ามาแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก็ต้องเตรียมแผน ถ้าจำเป็นต้องเข้ามา เราก็ดูแลเขา ก็เท่านั้นเอง

“มันเป็นเขตแดนไทย การจะเข้ามาก็ต้องเข้ามาโดยถูกกฎหมาย แต่ในสถานการณ์การสู้รบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเกิดการบาดเจ็บล้มตายเขาก็อาจจะเข้ามา เราก็ต้องหามาตรการของเรา ผมเตรียมไว้แล้ว ยืนยันว่าไม่ผลักดัน ถ้าเดือดร้อนจริง มีการสู้รบจริง ก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ทั้งนี้จะไปประกาศรับเต็มที่ ก็คงไม่ใช่”

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการไปทุกหน่วยงานแล้ว ทั้งผู้บัญชาการทหารบก กระทรวงกลาโหม ฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีวิธีการของตนเองในการจัดการ

ตัวเลขชาวเมียนมาที่เสียชีวิตจากการปราบปราม พุ่งเกิน 500 คน

ขณะที่สถานการณ์การประท้วงในเมียนมา วันนี้ (30 มี.ค.) ในหลายเมืองก็ยังมีผู้ประท้วงออกมาเดินขบวนตามท้องถนน โดยสำนักข่าว The Irrawaddy รายงานการเดินขบวนประท้วงที่ Hsipaw ทางตอนเหนือของรัฐฉาน การเดินขบวนของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทวายและมหาวิทยาลัยคอมพิวเตอร์ศึกษาสมาชิกรุ่นเยาว์ของสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย และช่างเสริมสวย LGBT ที่ทวาย เมืองหลวงของเขตตะนาวศรี

การประท้วงของเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการจาก Kanbalu และ Zigon ในเขตสะกาย พากันขี่รถมอเตอร์ไซค์เป็นระยะทาง 110 กม. จาก Zigon ไปยัง Koe Taung Poe โดยมีผู้ประท้วงคนอื่นๆ เข้าร่วมตลอดทาง ไปจนถึง การวางกองขยะบนถนนในเขต Thaketa ของย่างกุ้ง เพื่อขัดขวางไม่ให้ทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วง

ภาพ FB : The Irrawaddy

ขณะที่ รอยเตอร์ รายงานว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 510 คนแล้ว โดยอ้างอิงข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) โดยวันเสาร์ที่ 27 มี.ค. 2564 วันเฉลิมฉลองกองทัพเมียนมากลายเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 141 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว