ชง เปิดช่องกฎหมาย “ล้มละลายแบบสมัครใจ” สำหรับบุคคล ทางออกแก้หนี้ช่วงโควิด-19

คนไทยเป็นหนี้ “เร็วขึ้น นานขึ้น” ร้อยละ 80 ฟุ่มเฟือย หรือเพราะนโยบายส่งผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ผลักสู่หนี้ที่ไม่เป็นธรรม ‘นักการเงิน’ ตั้งคำถาม ใคร? ต้องร่วมรับผิดชอบ

คนไทยจนเพิ่ม 5 ล้านคน จนเร็วและนานขึ้น แถมไร้กำลังจ่ายหนี้

ปี 2563 โควิด-19 ฉุดคนไทย “จนเพิ่ม” 5 ล้านคน กลายเป็นหนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้น คนกู้ต้องแบกรับสิ่งที่ตัวเองก่อหรือเป็นผลพวงจากนโยบายเข้าถึงสถาบันการเงินที่รัฐต้องร่วมรับผิดชอบ 

Active Talk ชวนวิเคราะห์ผ่านมุมมอง “สฤณี อาชวานันทกุล” นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ถึงโอกาสในวิกฤตโควิด-19 รัฐจะสามารถสร้างนโยบายแก้หนี้ทั้งระบบได้หรือไม่

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) พบว่า หนี้ครัวเรือน ไตรมาส 3 ปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี จากสิ้นปี 2562 โดยคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มทำลายสถิติทุกปี ถ้าเทียบต่อรายได้ประชากรในอนาคตอาจจะถึง 90 % ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย จนถึงวัยเกษียณ โดยมีแนวโน้มมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ก็เดือดร้อนมากขึ้น

สฤณี ระบุว่า หากให้นิยามคำว่า “หนี้” อาจต้องมองว่า ลำพังเป็นหนี้ไม่เป็นไร หากเราใช้คืนได้ แต่ปัญหาคือการเป็นหนี้แต่ไม่มีกำลังผ่อน ถ้าแบ่งตามระดับปัญหาแบ่งได้ 3 แบบ

  1. หนี้ที่จำเป็นต้องเป็นหนี้ คือ ไม่อยากเป็นแต่จำเป็นต้องมี เช่น คนไม่มีรายได้ ผู้ที่ตกงานในช่วงโควิด-19 ส่วนอีกกรณี คือ มีเหตุฉุกเฉิน ป่วยถ้าใครมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท) ก็โชคดีไป แต่บางครั้งไม่ครอบคลุมกับโรคบางประเภท หรือกรณีเสียชีวิต ถ้าไม่เคยมีเงินออมมาก่อนก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน 
  2. หนี้ที่กู้มาลงทุน เช่น การตัดสินใจทำวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สตาร์ตอัพ บางคนไม่มีเงินเก็บจำเป็นต้องไปกู้เงินมา ถ้าใครไหวตัวทันก่อนในช่วงโควิด-19 ก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าโชคร้ายกู้มาลงทุนแล้ว เจอโควิด-19 ทันทีก็ถือว่าเป็นหนี้ที่อาจจะไม่มีกำลังผ่อน
  3. หนี้เพื่อการบริโภค ซี่งอาจจะเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น เช่น อยากได้ทีวี โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ทุกวันนี้ผ่อนได้ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะเข้าข่ายหนี้ที่กู้มาลงทุน เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก รถยนต์ไปหาลูกค้า 

แต่ประเด็นปัญหาสำคัญ คือ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ประเภทไหนแต่เราไม่มีกำลังจ่ายคืน ซึ่งปัญหาของโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรงต่อเรื่องนี้ เพราะทันทีที่เจอวิกฤต รายได้หดหายทันที มีงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ออกมาเตือนว่า คนจนในประเทศไทยก่อนโควิดมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากประมาณ 6 ล้านคน เหลือ 4-5 ล้านคน แต่เมื่อเจอผลกระทบจาก โควิด-19 อาจฉุดให้คนเกือบจนที่มีอยู่ประมาณ 5 ล้าน ตกมาอยู่ในกลุ่มคนจนรวมเป็น 9 ล้านคนในช่วงนี้ ตัวชี้วัดที่ชัดเจน คือ ในช่วงนี้ไม่มีคนนำทองไปจำนำ เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาทำให้หลายคนขายทองไปหมดแล้ว ในรอบนี้ จึงเห็นการนำเครื่องมือทำมาหากินไปจำนำแทน สะท้อนปัญหาที่หนักหน่วงถึงที่สุดแล้ว 

ปัญหาเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ผลัก SME เข้าสู่หนี้ที่ไม่เป็นธรรม

“หนี้นอกระบบ” อีกด้านหนึ่งยังสะท้อนปัญหาของภาครัฐที่ยังไม่สามารถขยายบริการทางการเงินในระบบ (Financial Inclusion) ไม่ครอบคลุมได้มากพอ ทั้งที่รัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย พูดเรื่องนี้มากขึ้น มีนโยบายขยายสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) แต่ สฤณี ยอมรับว่ายังมีช่องว่าง หากดูตัวเลขของลูกหนี้ที่เป็นรายย่อยจำนวนมาก ใช้หนี้ที่เป็นรายย่อย เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล แต่จริง ๆ เอาไปทำธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะเข้าไม่ถึงสินเชื่อธุรกิจ 

ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อของ SME ซึ่งมีความเสี่ยงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ วัฒนธรรมส่วนใหญ่ของธนาคารยังมีค่อนข้างอนุรักษ์นิยม คือมีความกังวลต่อความผันผวนในอนาคต จึงไม่อยากปล่อยสินเชื่อให้ง่าย ๆ กับอีกส่วนคือติดขัดเรื่องระบบหลักทรัพย์ในการประกัน โดยมีข้อเสนอว่า ไทยควรนำรูปแบบให้ภาคธุรกิจนำของที่ไม่ใช่ประเภทที่ดินมาค้ำประกัน บัญชีลูกหนี้การค้า หรือสิทธิบัตร ที่จับต้องไม่ได้ มาเป็นหลักประกันแทน เช่น พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ที่เปิดทางให้อสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีระบบรองรับที่เอื้อให้เข้าถึงได้โดยง่าย 

“จริง ๆ มีเครื่องมือที่อาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยที่บ้านเรายังไม่ได้ใช้ เช่น ในหลายประเทศมีสิ่งที่เรียกว่า “ทะเบียนหลักประกันระดับชาติ” ซึ่งเป็นทะเบียนออนไลน์ที่หลอกด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Blockchain) ที่มีความปลอดภัยสูงป้องกันว่าใครจะปลอมแปลงข้อมูลประโยชน์ คือ ถ้าเจ้าหนี้เอารถไถมาเป็นหลักประกัน สามารถเช็กได้จากระบบออนไลน์ได้ทันที สิ่งนี้รัฐต้องทำโดยอาศัยธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ผักดันร่วมกันซึ่งถ้ามีจะช่วยลดต้นทุนของเจ้าหนี้ได้มากในการปล่อยสินเชื่อทำให้การตัดสินใจเรื่อง SME อาจจะง่ายขึ้นโยงเข้ากับมาตรการจูงใจให้ธุรกิจออนไลน์เข้ามาสู่ระบบภาษี ก็จะลดปัญหาหนี้เสียได้มาก”

ขณะที่มาตรการปล่อยกู้ซอฟต์โลน จากวงเงิน 500,000 ล้านบาท SME เข้าถึงเพียง 1.22 แสนล้านบาท หรือประมาณ  70,000 คน ธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอรัฐใช้เงินที่เหลืออุ้มธุรกิจโรงแรมการท่องเที่ยวรายเล็ก ด้วยมาตรการ “โกดังเก็บหนี้” (Asset Warehousing) มองว่า เป็นแนวคิดที่ดี เพื่อป้องกันธุรกิจรายใหญ่ไล่ช้อนธุรกิจขนาดเล็ก แต่ยังต้องอาศัยแรงจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ 

ในส่วนของปลายน้ำ มาตรการที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. 2564 ธปท. ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่ง สฤณี เห็นว่า เกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สาคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง 

  1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้บนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงเท่านั้น
  2. การกําหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3% 
  3. การกําหนดลําดับการตัดชําระหนี้โดยให้ ตัดค่างวดที่ค้างชําระนานที่สุดเป็นลําดับแรกเพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน

กฎหมายล้มละลายแบบสมัครใจสำหรับบุคคล ถนนเส้นสุดท้ายฟื้นวิกฤตรากหญ้า

สฤณี ยังเสนอว่าแนวทางฟื้นฟูกิจการขนาดเล็กที่ไทยยังขาดคือการเปิดช่อง กฎหมายล้มละลายแบบสมัครใจสำหรับบุคคล โดยยกตัวอย่างกรณีของสายการบินไทยที่ต้องฟื้นฟูกิจการโดยศาลล้มละลายกลางให้โอกาสในการฟื้นฟู ทำให้ระหว่างทางไม่ต้องจ่ายหนี้แต่ต้องมีแผนระยะเวลาในการชำระที่ชัดเจน ซึ่งกฏหมายนี้มีขึ้นตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 เพื่อเยียวยาปัญหาของวิกฤตในภาคธุรกิจ ซึ่งในทางปฏิบัติสากล รัฐก็ต้องเปิดช่องให้กับหนี้ทุกประเภทด้วย

“ถ้าเราบอกว่าโควิด-19 เป็นวิกฤตใหญ่ คล้ายกับวิกฤตต้มยำกุ้งตรงที่คนเดือดร้อน ครั้งนั้นเป็นวิกฤตของภาคธุรกิจ แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตของคนรากหญ้า ทำไมเราจึงไม่เปิดช่องฟื้นฟูกิจการให้รายย่อยด้วย โดยลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่เพิ่มความจริงใจ โปร่งใสในการตรวจสอบหลักฐาน คิดว่าจะเป็นโอกาส และเป็นเหมือนถนนเส้นสุดท้ายให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอยู่ในเวลานี้”

เหยื่อจากนโยบายขายฝัน หนี้ที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น

สฤณี ยังสะท้อนมุมมองการเยียวยาผลกระทบในส่วนของกลุ่มเกษตรกร โดยระบุว่า บางส่วนเป็นการกู้หนี้ที่เกิดจากนโยบายขายฝัน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายรัฐบาล บางครั้งรัฐไม่ได้การันตีให้สุดทาง เช่น เรื่องของการตลาด เมื่อทำแล้วไม่เป็นไปตามผลผลิตที่ได้ตามที่รัฐเคยพูด แย่กว่านั้นคือบางนโยบายเป็นการคอร์รัปชัน ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นหนี้ที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น รัฐก็ต้องรับความเสี่ยงด้วยในฐานะที่เป็นคนมาบอกให้เกษตรกรทำตั้งแต่ต้น รวมถึงแนวคิดนโยบายพักชำระหนี้ที่เป็นการพักต้นแต่ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ กลายเป็นวงจรหนี้ที่แก้ไม่จบ

ส่วนกลุ่มนักเรียน ที่เป็นหนี้ กยศ. จบออกมาแล้วไม่มีงานทำ ตกงานหลักแสน ถ้ารัฐไม่สามารถจ้างงานให้มีงานทำ เรื่องหนี้สินรัฐก็ควรจะช่วย ซึ่งตอนนี้มีเพียงมาตรการลดดอกเบี้ยปรับ ซึ่งก็ยังมีความลักลั่นอยู่ถ้าเรามองว่าเยาวชนคืออนาคตของชาติ ก็ควรจะต้องช่วยมากกว่านี้ ซึ่งสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โจไบเดน ประกาศขยายเรื่องการพักชำระหนี้ของนักศึกษาทั้งเงินต้นดอกเบี้ย

ขณะที่อาชีพอิสระ ต้องอาศัยกลไกฟื้นฟูปัญหาแก้หนี้นอกระบบ ใช้โอกาสออกกฎหมายนิรโทษกรรมหนี้นอกระบบ เพื่อที่เราจะได้มีฐานข้อมูลวันนี้ว่าหนี้นอกระบบมีแค่ไหน 

หลักการสำคัญที่รัฐควรคำนึงถึงในเวลานี้ คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนยังสามารถรักษางานที่มีไว้ได้ และรายได้ไม่ลดลงแทนที่จะเป็นการให้เงินเยียวยาเอาไว้พอประทังชีวิตในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะโควิด-19 เป็นวิกฤตที่ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน