คนจนกำลังถูกขับออกจากเมือง ทั้งที่เป็นฟันเฟืองของความเจริญ

สองนักวิจัยโครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” เสนอใช้ The Right to the City สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง แก้ปัญหา “คนจนเมือง” เก็บตกจากสารคดี “ซอกหลืบเยาวราช”

คนจนเมืองที่เปลี่ยนไป ในสังคมที่เปลี่ยนแปลง

ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิจัยโครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” มองว่า คนจนเมือง คือ คนแบกเมือง เพราะเมืองไม่สามารถอยู่ได้หากปราศจากพวกเขา งานบริการที่พวกเขาทำ ทำให้เมืองดำเนินกิจการต่าง ๆ ต่อไปได้ แต่การศึกษาเรื่องคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง พบว่าการเปลี่ยนแปลงของเมืองกำลังเบียดขับคนจนให้ออกไปจากเมือง

เดี๋ยวนี้เราเห็นการพัฒนาตึกสูงที่ไม่ใช่ตึกสูงธรรมดา แต่กลุ่มเป้าหมายการเข้าใช้พื้นที่คือนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เราเห็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าหลายสาย เราเห็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของเมือง ซึ่งกำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้กำลังจะกระทบกับคนจนเมือง พวกเขาถูกเบียดขับออก แต่เดิมเราอาจจะเห็นเขาง่าย อย่างเมื่อก่อนผมทำงานกับคนที่อยู่ใต้สะพาน แต่ปัจจุบันก็ถูกหรือย้ายไปแล้ว เพราะฉะนั้น การพัฒนาที่รู้สึกว่าไม่อยากเห็นภาพคนจนอยู่ในเมือง มองว่าเกะกะสายตา ทำให้แนวโน้มของพวกเขาถูกรื้อย้าย

เขายังกล่าวถึงกรณีของคนไร้บ้าน ที่จะพบว่า เราเคยเห็นคนไร้บ้านที่สนามหลวง แต่ปัจจุบันเขายังอยู่แต่ต้องอยู่แบบหลบ ๆ ไม่ใช่อยู่กลางสนามหลวง พวกเขาต้องถูกซ่อนมากขึ้น ส่วนคนในชุมชนแออัดก็ถูกผลักออกไปมากขึ้น จากโครงการพัฒนา เราจะเห็นคนจำนวนมากที่เคยอยู่ในชุมชนแออัด แต่เมื่อที่ดินมีราคาสูงขึ้น เจ้าของที่ก็ขายที่ดินที่เคยให้คนจนเช่าที่ราคาถูก พวกเขาก็ถูกขับไล่ออกไปต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่การพัฒนายังไปไม่ถึง เป็นพื้นที่เหลือราคาถูกให้สามารถแทรกอยู่ในเมือง แต่แถวถนนใหญ่จะเริ่มเห็นยากขึ้น

อำนาจการถือครองพื้นที่ ให้เอกสิทธิ์กับกลุ่มนายทุน มากกว่าคนที่อยู่มาก่อน

ผศ.บุญเลิศ ระบุอีกว่า การมองว่าชาวบ้านผิดที่บุกรุกที่ดินกรรมสิทธิ์ของคนอื่นเป็นการมองด้านกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ถ้ามองประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่มันมีหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่คำว่าบุกรุก พอเราพูดถึงคำว่าบุกรุก คำนี้มันตามมาด้วยภาพที่ดินล้อมรั้วและชาวบ้านตัดลวดบุกรุกเข้าไป แต่มันไม่ใช่เลย

ชุมชนที่เราเห็นว่าบุกรุกอยู่ในเมือง เขามีวิวัฒนาการมาร่วมกับเจ้าของที่ดิน เช่น ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน อยู่กันมาหลายรุ่น รุ่นแรก ๆ เช่าที่ดินรถไฟในสมัยก่อน ดังนั้น ตอนที่เขาเข้ามาอยู่เจ้าของที่ดินก็เหมือนกับได้พึ่งพาอาศัยอยู่ด้วยกัน บางชุมชนที่ใกล้กับโรงงานรถจักร คนที่เข้ามาอยู่แรก ๆ ก็คือลูกหลานพนักงานรถไฟ เพราะคุณตาทำงานอยู่การรถไฟ พอคุณตาเกษียณแล้วไม่มีที่อยู่ ก็มาปลูกบ้านอยู่ถึงทางรถไฟ ดังนั้น ตอนที่เขาเข้ามาไม่ได้เข้ามาแบบจู่โจมบุกรุกที่ดิน แต่เข้ามาโดยเจ้าของที่ดินรับรู้โดยปริยาย

เมื่อตั้งถิ่นฐานมายาวนาน เวลาเจ้าของที่ดินบอกจะให้รื้อถอน การรื้อไม่ได้พูดง่าย ๆ ว่าย้ายออกไปเลย บุกรุกอยู่มาตั้งนาน แต่ความจริงเขาจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าเรามองว่าเขาทำหน้าที่เลี้ยงเมือง ดังนั้น การที่จะขับไล่เค้าออกไปโดยไม่สนใจไม่มิติทางสังคม มองแต่มิติทางกฏหมายมันไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา

“กับดักความจน” ที่สังคมร่วมสร้าง

ผศ.บุญเลิศ กล่าวว่า เมืองที่จะเติบโตได้ต้องมีฟันเฟืองสำหรับขับเคลื่อนเมือง แต่สำหรับประเทศไทยคนที่เป็นคนเล็กคนน้อยแบบนี้ เราแบ่งปันโดยเฉลี่ยค่าผลตอบแทนหรือค่าจ้างสำหรับเขาน้อยเกินจนน่าวิตก หรือพูดตรง ๆ คือ ถูกนายจ้างขูดรีด หากยกตัวอย่างต่างประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำต้องเหมาะสมกับการอยู่รอดได้อย่างสมเหตุสมผลเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต

ทำให้การหลุดพ้นจากวงจรความยากจนเป็นเรื่องยากมาก เพราะคนจนต้องเข้าไปอยู่ในระบบที่ไม่ได้เกื้อกูลกับเขามาก โอกาสที่ลูก ๆ จะได้รับการศึกษาที่ดี แม้จะมีนโยบายเรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ระยะระหว่างทางการดำเนินชีวิตมันยากต่อการที่จะยกระดับชีวิตของตัวเอง คนที่ประสบความสำเร็จส่งลูกเรียนต่อถึงปริญญาตรีต้องอาศัยความมุมานะมากกว่าคนจนปกติสองถึงสามเท่า ยกตัวอย่างว่าหากโครงสร้างพื้นฐานในชีวิต เช่น บ้านไม่ได้เอื้อต่อการใช้ชีวิต ก็ยากที่ชีวิตของคนในรุ่นลูกจะถูกยกระดับ หรือมีการเลื่อนชนชั้นทางสังคม

ด้าน ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนจนทั้งหมดอยู่ในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ และภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้กฎหมายไม่ได้รองรับ เราจะทำอย่างไรให้กฎหมายสามารถค้ำประกันว่ารายได้ของภาคการผลิตไม่เป็นทางการจะต้องเป็นรายได้รายวันที่เป็นขั้นบันได คือ ดึงภาคไม่เป็นทางการมาเชื่อมกับภาคเป็นทางการ เพื่อทำให้เขามีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เช่น ในกรุงเทพฯ เราอาจต้องคิดถึงบ้านเช่าเพื่อที่จะรองรับชุมชน และต้องคิดมากกว่าจะโยนเงินลงมาให้ สามพัน ห้าพันเหมือนในช่วงโควิด แต่ต้องคิดถึงการปรับนโยบายในระยะยาว

ท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญ คือ ระบบของเราควรเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถได้รับการดูแลจากรัฐ ที่ผ่านมาเรามองไม่เห็นหัวคนกลุ่มนี้ ทั้ง ๆ ที่คนจนเหล่านี้คือคนเลี้ยงเมืองถ้าหากปราศจากคนจนคนเลี้ยงเมืองแบบนี้ เมืองจะหายไปในสามวันเจ็ดวัน กรณีเชียงใหม่ หากแรงงานแม่บ้านไม่ทำความสะอาดห้องน้ำหนึ่งวัน ทุกอย่างจะพังหมดเลย

The Right to the City สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง

ผศ.บุญเลิศ เสนอว่า หากจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนจนเมืองดีขึ้น ต้องประกอบด้วยหน่วยสนับสนุนทางสังคม ให้พวกเขาได้รับระบบสวัสดิการที่ดีกว่านี้ รัฐควรจะผลักดันนโยบายที่จะเอื้อต่อคนจำนวนมาก จัดสรรทรัพยากร จัดสรรงบประมาณ สำหรับคนเหล่านี้อย่างเป็นธรรม

เราพูดถึง The Right to the City การกำหนดทิศทางของเมือง ที่ผ่านมาอยู่ในภาคธุรกิจและนโยบายรัฐบาลเพื่อตอบสนองภาคธุรกิจมากกว่า แล้วจะทำอย่างไรให้สิทธิการมีส่วนร่วมในเมืองอยู่ในมือของทุกคน ไม่ใช่แค่ของทุนเท่านั้น แล้วทำอย่างไรให้เมืองเป็นเมืองเพื่อประชาชน ไม่ใช่เมืองเพื่อค้ากำไร

ด้าน ศ.อรรถจักร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องคิดถึงว่าเราไม่สามารถปล่อยให้การครอบครองที่ดินในเขตเมืองอยู่ในมือของนายทุน ควรจะคิดถึงการทำให้การจัดสรรพื้นที่เมืองมีความเป็นธรรมมากกว่านี้ ที่เชียงใหม่จะมีในบางพื้นที่เศรษฐีบางคนกว้านซื้อหมดแล้ว เช่น ในเขตไนท์บาซาร์

ไม่มีประเทศอารยะที่ไหน ปล่อยให้ที่ดินเป็นของสินค้าเสรีแบบประเทศไทย ดังนั้น หากเราพูดถึงในเขตเมือง เรื่องที่ดิน เรื่องบ้าน คือสิ่งจำเป็น ที่เราต้องคิดว่าต้องมีผังเมืองที่เป็นผังเมืองของชีวิตผู้คน ไม่ใช่ผังเมืองเชิงกายภาพอย่างเดียว เพราะบ้านเป็นหลักสำคัญในการวางเส้นทางเดินในชีวิตของคนจน

เรากำลังชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของเมืองที่กลุ่มทุนเข้ามาเปลี่ยนเมือง อาจทำให้เมืองสวยงามอาจเป็นสภาพดี แต่การที่คุณทำแบบนั้น กำลังจะเบียดขับคนจนให้เดือดร้อนมากขึ้น สิ่งที่เราพูดถึงเสมอคือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำกับเมือง เราหวังว่าเราจะสร้างตรงนี้ให้ได้ เพิ่มโอกาสให้กับคนจำนวนมาก เริ่มคิดกันว่าเราจะทำให้เกิดการกระจายสิทธิที่อยู่ในเมืองกันได้อย่างไร


อ่านเพิ่ม

ซอกหลืบเยาวราช: เมืองแบ่งชั้น ขยันแค่ไหน ก็ไปไม่ถึงฝัน

“เมือง” กับ “คนจนเมือง”

เอกสารประกอบการประชุมนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้