“เมือง” กับ “คนจนเมือง”

“เมืองกับคนจนเมือง” การต่อสู้/ต่อรองไปสู่อนาคต
บทสนทนาว่าด้วย The right to the city สิทธิที่จะมีส่วนเปลี่ยนแปลง สิทธิที่จะมีส่วนอยู่ในเมือง

The Active และ Thai PBS ร่วมเปิดเวทีสาธารณะ “เมืองกับคนจนเมือง : การต่อสู้/ต่อรองไปสู่อนาคต” แลกเปลี่ยนมุมมอง พูดคุยกันต่อจากข้อมูลสำรวจคนจนเมือง จาก 5 พื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

จากผู้ร่วมเสวนา คือ รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, เนืองนิช ชิดนอก ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค และ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ตัวแทนโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ดำเนินรายการโดย ณาตยา แวววีรคุปต์ ไทยพีบีเอส

‘เนืองนิช ชิดนอก’ ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค มองว่าเธอยังเป็นตัวแทนของคนจนได้ แม้ว่าข้อมูลจากงานวิจัยฯ จะชี้ว่า คนจนเมืองมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มียานพาหนะเป็นของตัวเอง แต่เธออธิบายจากประสบการณ์ชีวิตว่า รถคือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพ แต่ต้องผ่อนระยะยาว ดอกเบี้ยบานปลาย เข้าไฟแนนซ์แล้ว ไฟแนนซ์อีก ถึงจุดหนึ่งสินทรัพย์ตกไปเป็นของคนอื่น แต่ยังมีหนี้สิน ไม่มีเงินเก็บ และขาดโอกาส

“ชีวิตดีขึ้นได้จากความพยายามดิ้นรน แต่การพัฒนาไม่ได้ดันคนให้ขึ้นไปสู่ระดับหนึ่ง เขาได้รับการศึกษาสูงขึ้น ก็เปลี่ยนไปตามสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ลดลง”

เธอยังบอกอีกว่า แรงงานที่ขับเคลื่อนเมือง คือ แรงงานกรรมกร หรือ คนจน แต่กลับถูกพยายามให้ออกจากเมือง มีความย้อนแย้ง เพราะอย่างไรก็ต้องใช้แรงงานเขา แต่กลับมองคนจนเป็นภาระ ไม่ได้หาวิธีช่วยเหลือคนจนเมืองให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ได้ในฐานะขับเคลื่อนไม่ใช่ภาระของเมือง

ทุกโครงการเปิดเวทีแสดงความเห็น แต่หลายเวทีคนจนไม่ได้แสดงความคิดเห็นเต็มที่ ให้เข้าร่วมผ่านทางเว็บไซต์ แต่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปร่วมแสดงความเห็นได้ เพราะไม่เชี่ยวชาญในอินเทอร์เน็ต เวทีส่วนใหญ่คนที่ได้รับผลกระทบ เช่น คนที่ถูกไล่รื้อ ไม่ได้มีส่วนร่วม คุณภาพด้านอาชีพเปลี่ยนไป ส่วนการถูกย้ายไปอยู่ที่อื่นก็อยู่บนการจัดการรองรับไม่ดี แม้ย้ายออกไป คนจนก็ไม่ได้หายไป และยังกระทบชุมชนเดิม ปัญหาอื่นก็เกิดขึ้นอีก

‘นพพรรณ พรหมศรี’ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ทำงานด้านคนจนเมืองมาอย่างยาวนาน เห็นสอดคล้องในประเด็นที่ว่า การเปลี่ยนแปลงของเมือง การพัฒนาของเมือง คนจนไม่ได้มีส่วนร่วม และการพัฒนาเน้นเพียงมิติทางด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่มีคนจนอยู่ในนั้นเลย คนจนต้องดิ้นรนตลอดเวลาให้อยู่รอด แต่ไม่เคยมีสิทธิในการพัฒนาเมือง ปัจจุบันขอบเขตการพัฒนาเริ่มขยายมากขึ้น เกิดไล่รื้อชุมชนเป็นวงกว้าง กระทบคนจนทั้งหมด ขณะที่ในเมืองต้องการแรงงานแต่ไม่เคยจัดการที่อยู่อาศัยรองรับ กลับเป็นคนจนเองที่ต้องจัดการชีวิตของตัวเอง

นอกจากนี้ คนจนเมืองยังมีหลายรูปแแบ เช่น คนร่อนเร่ คนใต้สะพาน คนจนในชุมชนเช่า ซึ่งอยู่อย่างกระจัดกระจาย เมื่อจะมีชีวิตเป็นของตัวเอง มีความสามารถในการจ่ายค่าเช่า แต่หากเจอปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจ ก็อาจหลุดเป็นคนจนเมืองได้ เพราะไม่มีระบบคุ้มครอง หรือที่เรียกว่าระบบสวัสดิการ

คนจนได้ประโยชน์จากการพัฒนา เปลี่ยนแปลงทั้งอาชีพและรายได้ ในมุมมองความเห็นของคนที่ทำงานกับคนจน ไม่ได้เชื่อว่าเกิดจากผลพวงของการพัฒนา แต่เกิดขึ้นจากรวมกลุ่มกันต่อสู้ในระดับชุมชน การได้มาของประปา ไฟฟ้า ทะเบียนบ้าน ล้วนเกิดขึ้นจากการต่อสู้ทั้งสิ้น มีกระบวนการต่อสู้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายในระดับประเทศ เป็นพัฒนาการของคนจนเพื่อรับมือและต่อสู้ให้ชีวิตดีขึ้น และไม่ใช่แค่การเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังก้าวไปสู่นโยบายของการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อให้มีระบบประชาธิปไตยที่กำหนดชีวิตและการดำรงอยู่ของตัวเองได้

“สถานะทางเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้นจากผลพวงการพัฒนา แต่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มต่อสู้เรียกร้องอย่างเข้มแข็งคู่ขนานกับการดิ้นรนของคนจนเอง”


ด้าน ‘ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา’ ตัวแทนโครงการวิจัยฯ ย้ำว่า หนึ่งในข้อค้นพบจากงานวิจัย คือ คนจนเมือง ได้เปรียบในพื้นที่มากกว่า แต่ต้องแลกเปลี่ยนกับความเป็นอยู่ที่แย่กว่าคุณภาพชีวิตของคนทั่วไป ดังนั้น นโยบายการไล่รื้อเพื่อการพัฒนา จึงกำลังทำให้ข้อได้เปรียบเดียวที่เขามีอยู่กำลังหายไป

ขณะที่ ‘ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ’ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า โลกาภิวัตน์ของที่ดินเปลี่ยนไป เกมที่เรากำลังจะเล่นไม่เหมือนอดีตอีกแล้ว เมืองเปลี่ยน ตลาดที่ดินเปลี่ยน หากมองให้ทันเกมตลาดที่ดินในปัจจุบัน คือ การมองเมืองในพื้นที่ทางกายภาพ ไม่ใช่แค่ที่ตั้ง คนไม่ได้แย่งพื้นที่กันตามสี่แยกไฟแดงอีกแล้ว บริษัทที่รวยระดับโลกไม่ได้ครอบครองที่ดิน แต่ครอบครองที่ตั้งอีกแบบหนึ่ง บนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมากำหนดการเคลื่อนไหวของคน ทุน อำนาจ ดังนั้น อนาคตการต่อรองของคนจนเมือง คือ การต่อสู้การต่อรองให้ได้มาที่ตั้งที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิตบนโลกดิจิทัล

“หากไม่ทันเกมที่ดินดิจิทัล เราก็จะเดินตามหลังเหมือนที่เคยผ่านมา การแบ่งที่ตั้ง ที่ดิน เป็นเรื่องทุนใหญ่ระดับโลก และอยู่บนแพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนอดีต”


เขายกตัวอย่าง เช่น คนขับรถส่งของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ชีวิตทุ่มไปกับการส่งอาหาร เป็นการขูดรีดตามข้อจำกัดที่ไม่มีทางเลือก แต่ถ้ามองเป็นโอกาส ก็สามารถขายข้าวแกงโดยไม่ต้องเปิดพื้นที่ที่สยาม จึงมองได้ทั้งเงื่อนไข ปัญหา อุปสรรค ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองจากมุมไหน

หากการรวมตัวของคนจนเมือง คือ การเพิ่มอำนาจต่อรอง ต่อสู้ในอนาคต การรวมตัวที่งานวิจัยฯ พยายามชี้ คือ การรวมตัวในอาชีพ แต่ประเด็นนี้ ผู้ร่วมเสวนาล้วนเห็นตรงกันว่ามีความยาก แต่ก็เป็นโอกาส

ผศ.ดร.บุญเลิศ ตัวแทนโครงการวิจัยฯ สะท้อนว่า คนที่เลื่อนมาอยู่ในงานแบบภาคทางการ แม้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นพนักงานระดับล่าง มีงานประจำ มีประกันสังคม มีรายจ่ายรายได้รายวัน แต่ไม่มั่นคง เลิกจ้างได้ การทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ละคน คือ คู่แข่งขันกันในอาชีพ แข่งขันตามธรรมชาติของการจ้างงาน กรณีแบบนี้ไม่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มได้ง่าย

ด้าน ‘รศ.ดร.นฤมล นิราทร’ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าความไม่แน่นอน กลับกลายเป็นว่าคนจนมีความสามารถในการรับมือได้ดีกว่าชนชั้นกลาง แต่ความไม่มั่นคง การเข้าสู่งานที่เป็นทางการได้ ไม่ได้แปลว่าชีวิตดีขึ้น และยังเป็นเรื่องที่เชื่อมกับความไม่มั่นคง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสภาพของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและต้องเผชิญเรื่อย ๆ

“พลวัตของการรวมกลุ่มอาชีพ มีต้นทุน ใช้เวลา แต่จะลดต้นทุนจากการประกอบอาชีพได้ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน”

‘ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์’ ในฐานะประธานโครงการวิจัยฯ กล่าวทิ้งท้ายการสนทนาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า การรวมกลุ่ม เพื่อต่อรอง ต่อสู้ ของคนจนเมือง คือ การทำให้คนระดับล่าง 20 % สามารถเชื่อมต่อ ลดทอนการตัดสินใจการใช้พื้นที่ให้เล็กลง อยู่ในการควบคุมของชุมชน ไม่ใช่แค่ในระดับพื้นที่ หรือเรื่องของตัวเอง แต่ไปให้ถึงในเชิงนโยบาย

📌 ดูเพิ่ม
– เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ คนจนเมือง 2020 https://bit.ly/2WsMdWT
– ชมย้อนหลัง #เวทีสาธารณะ “เมืองกับคนจนเมือง : การต่อสู้/ต่อรองไปสู่อนาคต” https://bit.ly/3hpHhdx
– ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” https://bit.ly/32AsN6b

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active