ปอดคนภาคเหนือทนได้ไหม ? หลังค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเกือบเดือน!

กรมควบคุมมลพิษ รายงานค่าฝุ่น PM 2.5 จ.แม่ฮ่องสอน เกินมาตรฐานติดกัน 19 วัน ค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงพุ่งสูง 329 มคก./ลบ.ม. ขณะที่พบคนภาคเหนือป่วยมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่น 3- 4 เท่า

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ข้อมูล กรมควบคุมมลพิษ รายงานค่าฝุ่นตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 17 มีนาคม ระบุว่า ภาคเหนือ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง หลายจังหวัดอยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐานสีแดงเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสถานีตรวจวัดค่าฝุ่น ที่ ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน รายงานว่า ปริมาณค่าฝุ่น อยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐานตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 17 มีนาคม รวม 19 วัน แล้ว หากดูเฉพาะค่าฝุ่นในระดับสีแดงติดต่อกัน 13 วัน โดยค่าฝุ่นอยู่ตั้งแต่ 116-329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับค่าฝุ่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ส่วนที่ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีค่าฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 17 มีนาคม รวม 21 วัน แต่ค่าฝุ่นเริ่มไต่ระดับขึ้นอยู่ในเกณฑ์สีแดง ในวันที่ 1 มีนาคมจนถึง 17 มีนาคม รวมค่าฝุ่นที่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบ  17 วัน แล้ว หากดูภาพรวมทั้งหมด จะพบว่า วันที่ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม และเริ่มหนักขึ้นในเดือนมีนาคม

ข้อมูลจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทำการสำรวจผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือปี 2561 พบว่า ภาคเหนือมีผู้ป่วยมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่น ๆ 3-4 เท่า โดยสัดส่วนการสูบบุหรี่ของคนภาคเหนือไม่ได้สูงกว่าภาคอื่นๆ

รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง ผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า สัดส่วนที่พบมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิง และไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน และยังมีข้อมูลจากงานวิจัยของ Berkeley Earth  ระบุว่า การที่เราสูดฝุ่นในปริมาณที่ 22 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร เท่ากับเราสูบบุหรี่ 1 มวน ดังนั้นหากเราไม่สูบบุหรี่แต่อยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 หนาแน่น ก็เท่ากับเรากำลังสูบบุหรี่  

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและแผนกอายุรกรรม คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะ ได้ศึกษาวิจัยในอำเภอเชียงดาวและอำเภอเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2559-2560 พบว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณฝุ่น PM2.5 ทุก ๆ 10 ไมโครกรัมเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตเฉลี่ยรายวันทุกโรค โดยอำเภอเมืองอยู่ที่ 1.6% และอำเภอเชียงดาว 3.5% และยังพบว่าช่วงที่เชียงใหม่ปริมาณค่าฝุ่นสะสมหนาแน่น ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองมีอัตราการเจ็บป่วย นอนโรงพยาบาลสูงขึ้น และพบการอักเสบบริเวณปอดและพัฒนาสู่การเป็นมะเร็งในที่สุด

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันวิจัยมะเร็ง IARC องค์การอนามัยโลก ที่รายงานว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง และฝุ่น PM2.5 มีสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอันตรายมากที่สุด


ชมสารคดีชุด “ไฟป่าลามเมือง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส