เปิดข้อมูล “มื้อเที่ยง” ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือ “มื้อแรก” ของเด็กบางกลอย

เหตุ พ่อแม่ยากจน ข้อมูล กสศ. ระบุ เด็กบางกลอย เกินครึ่ง เข้าเกณฑ์ นักเรียนยากจนพิเศษ

ขณะที่การชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลจนถึงขณะนี้ (12 มี.ค. 2564) ยังไม่มีข้อยุติต่อแนวทางการแก้ปัญหาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ทีมข่าว The Active ลงพื้นที่สำรวจสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านบางกลอยอีกครั้ง พบปัญหาความยากจนพ่อแม่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาวะการศึกษาของเด็ก

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโป่งลึก โรงเรียนเล็ก ๆ กลางป่าแก่งกระจาน ซึ่งเปรียบเสมือนประตูสู่โลกการศึกษาสำหรับลูกหลานชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก – บางกลอย คุณครูที่นี่จึงต้องเอาใจใส่ เสริมสร้างทักษะ และพัฒนาการแก่เด็ก ๆ ที่อยู่ในการดูแลของศูนย์ฯ โดยปีนี้มีเด็กที่อยู่ในความดูแลทั้งหมด 54 คน ช่วงอายุ 2 ขวบครึ่ง ถึง 4 ขวบ 

สาทร ปลาดุก หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโป่งลึก บอกว่า แม้พัฒนาการทางร่างกายของเด็กที่นี่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ที่น่ากังวล คือ ความต่อเนื่องของกระบวนการเรียนรู้ ที่เป็นผลจากความยากจนของพ่อแม่ ทำให้บ่อยครั้ง สาทร พบว่า มื้อเที่ยงที่ศูนย์ฯ คือมื้อแรกของวันสำหรับเด็กหลายคน

“ปัญหาหลัก ๆ ที่พบคือ เด็กที่มาจากครอบครัวที่ต้องออกไปรับจ้าง ก็จะไม่ได้กินข้าวเช้าก่อนมาโรงเรียน มื้อเที่ยงที่ศูนย์เด็กเล็กจึงเป็นมื้อแรกของเขา และยังมีปัญหาขาดเรียนติดต่อกันหลายวันและบ่อย เพราะต้องตามพ่อแม่ที่ออกไปรับจ้างทำงานข้างนอก”

แม้งบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเพียงพอให้ครูและผู้ดูแลสามารถจัดสรรเมนูอาหารที่มีประโยชน์ให้แก่เด็ก ๆ ในช่วงที่พวกเขาฝากท้องไว้ที่ศูนย์ฯ แต่ก็เป็นเพียงมื้อเดียวของวันเท่านั้น ขณะที่ความหวังที่จะให้เด็ก ๆ ได้รับโภชนาการที่เหมาะสมกับวัยในสภาวะที่ครอบครัวมีรายได้น้อย สาทร บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ที่นี่อาหารโปรตีนที่จำเป็นสำหรับเด็ก เป็นเรื่องยาก ถ้าจะมีกินก็ต้องออกไปหาปลาเอา แต่ถ้าจะซื้อเนื้อหมูนั้นยาก พ่อแม่มีเงินพอซื้อได้แค่พริก น้ำปลา ข้าวสาร แล้วเด็กก็ต้องกินอย่างนั้น เพราะพ่อแม่ไม่มีรายได้อื่น ซื้อได้แค่นั้นก็ถือว่าเต็มที่แล้ว ถ้าให้ซื้อเนื้อหมูด้วยก็เกินกำลัง”

เปิดข้อมูล กสศ. พบ นักเรียนยากจนพิเศษ ที่ ร.ร.ตชด.โป่งลึก มากถึง 66.34%

ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเท่านั้น แต่ความยากจนของพ่อแม่ที่บางกลอย ยังสะท้อนให้เห็นจากตัวเลข นักเรียนยากจนพิเศษ ใน โรงเรียน ตชด.บ้านโป่งลึก อีกด้วย

นักเรียนยากจนพิเศษ มีเกณฑ์พิจารณาสำคัญ คือ เป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 1,200 บาท/เดือน ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม และมีที่ดินทำกินไม่เกิน 1 ไร่ โดยนักเรียนที่เข้าข่ายเกณฑ์นี้ จะได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายเทอม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พ่อแม่

ข้อมูลจากโปรแกรมระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education: iSEE) ที่ กสศ. พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการรายงานข้อมูลเด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ที่ ร.ร.ตชด.บ้านโป่งลึก มีเด็กนักเรียนที่เข้าข่าย “นักเรียนยากจนพิเศษ” มากถึง 201 คน จากนักเรียนทั้งหมด 303 คน หรือคิดเป็น 66.34%

ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ชาวบ้านบางกลอยจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาด้านที่ทำกินที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ปากท้องมาไม่น้อยกว่า 20 ปี

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วกับคนที่บางกลอย อาจทำให้มีคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่ภาครัฐควรต้องยอมรับว่า นโยบายที่กำหนดให้ชาวบ้านมาตลอดนั้น ยังไม่สามารถช่วยชาวบ้านให้หนีพ้นจากความยากจน และควรพิจารณาทางออกที่มากกกว่าแค่การจ้องจับผิด แบ่งแยก และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอาจริงเอาจังกับการหาลู่ทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ความยากจน ลดทอนอนาคตของคนรุ่นต่อไป




Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น