“นายกรัฐมนตรี​” เตรียมฉีดวัคซีน​โควิด-19​ จาก แอสตราเซเนกา​ พรุ่งนี้​ (12 มี.ค.)

รัฐมนตรี​อื่นขึ้นกับความสมัครใจ​ ผู้ฉีดคือ​ “ศ.นพ.ยง​ ภู่วรวรรณ” ด้าน​ “กรมวิทย์ฯ” ยันวัคซีนจาก แอสตราเซเนกา ที่ส่งมาไทย ปลอดภัยผ่านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพแล้ว​

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.​ 2564​ ที่กระทรวงสาธารณสุข​ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ของ บริษัท แอสตราเซเนกา ที่จะฉีดให้กับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 12 มี.ค. นี้ ขณะนี้ สถาบันบําราศนราดูร มีความพร้อมอย่างเต็มที่เป็นมาตรฐานที่เตรียมเอาไว้รองรับสำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว​ ทั้งห้องสังเกตอาการ และอุปกรณ์การแพทย์

ทั้งนี้ ผู้ที่จะดำเนินการฉีดให้นายกรัฐมนตรี​ คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถานการณ์โควิด-19

อนุทิน​ กล่าวอีกว่า สำหรับคณะรัฐมนตรี ทั้งหมด​ 36 คน นายกรัฐมนตรี​ ได้สั่งการให้เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ขณะนี้มีการจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ลงมานั้นจะได้รับวัคซีนของซิโนแวค

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจ หากใครไม่ประสงค์จะรับวัคซีน ก็ไม่สามารถจะไปบังคับได้ แต่ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย ส่วนตนที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ก็เป็นปกติดี ไม่มีอาการข้างเคียงและจะเข้ารับการตรวจหาภูมิคุ้มกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

วัคซีนของ แอสตราเซเนกา ผ่านการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตามที่วัคซีนของ แอสตราเซเนกา ผลิตจากประเทศเกาหลีใต้ ได้ส่งถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2564 แต่ยังไม่สามารถให้การรับรอง รุ่นการผลิตได้นั้น เนื่องจากต้องรอการตรวจรับรองคุณภาพจากหน่วยงานกลางของบริษัท แอสตราเซเนกา ทำให้ใช้เวลาระยะหนึ่งในการส่งมอบเอกสารข้อมูลการผลิตและการควบคุมของวัคซีนรุ่นที่นำเข้ามาให้กับสถาบันชีววัตถุ และเมื่อสถาบันชีววัตถุได้รับข้อมูลดังกล่าวในวันที่ 4 มี.ค. 2564 ได้เร่งดำเนินการพิจารณาข้อมูลการผลิตและการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนสำคัญ ตั้งแต่เชื้อไวรัสตั้งต้นจนถึงวัคซีนสำเร็จรูป ซึ่งพบว่ามีกระบวนการผลิตและคุณภาพสอดคล้องตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกระบวนการรับรองรุ่นการผลิตนี้เป็นไปตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าวัคซีนจาก แอสตราเซเนกา รุ่นการผลิตที่นำเข้ามาใช้นี้มีคุณภาพ และความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวอีกว่า มีความเข้าใจถึงความต้องการและความกังวลของประชาชนในการที่จะใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคและรัฐบาลได้จัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนได้บางส่วนแล้วนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปฏิบัติ ภารกิจดังกล่าวอย่างรอบคอบ ภายใต้เวลาที่จำกัด เพื่อจะดำเนินการพิจารณาเอกสารสรุปขั้นตอนการผลิตอย่างละเอียดจากผู้ผลิต ในการออกหนังสือรับรองรุ่นการผลิตวัคซีนที่นำเข้ามา รวมถึงดำเนินการทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในห้องปฏิบัติการ ก่อนฉีดให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่กลุ่มเป้าหมายโดยเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS