จับตา ฝุ่น PM 2.5 แม่สาย แตะระดับสีแดงติดต่อกัน 10 วันแล้ว

เปิดข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี PM 2.5 แม่สาย รุนแรงสุด ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานติดต่อกันนานนับเดือน กองกำลังผาเมืองเร่งถกเมียนมา ลดเผาพื้นที่เกษตร

จับตา ค่าฝุ่น PM 2.5 อ.แม่สาย แตะระดับสีแดงติดต่อกัน 10 วันแล้ว

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ปีนี้ ที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังเริ่มติดอยู่ในระดับสีแดง หรือ PM 2.5 มากกว่า 90 มคก./ลบ.ม. ต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 10 วันแล้ว โดยเมื่อวานนี้ (9 มี.ค.2564) วัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้สูงถึง 227 มคก./ลบ.ม. ขณะที่วันนี้ (10 มี.ค.2564) เมื่อเวลา 09.00 น. วัดได้ 197 มคก./ลบ.ม.

ข้อมูลจากเวบไซต์ Air4Thai วันที่ 10 มี.ค. 2564

เมื่อดูข้อมูลค่าฝุ่น PM 2.5 ย้อนหลัง 2 ปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีความรุนแรงที่สุด เพราะแทบจะเป็นพื้นที่เดียวของประเทศไทยที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 ในระดับสีแดงติดต่อกันทุกวันนานนับเดือน โดยปีพ.ศ.2562 พบค่าฝุ่น PM 2.5 ในระดับสีแดงติดต่อนานถึง 39 วัน (ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. – 18 เม.ย. 2562) ขณะที่ปี พ.ศ. 2563 พบติดต่อกัน 36 วัน (ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. – 10 เม.ย. 2563)

ภาพสถานการณ์ฝุ่นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 7 มี.ค. 2564

กรีนพีซวิเคราะห์ จุดความร้อนหนาแน่นเพื่อนบ้าน พาฝุ่นข้ามพรมแดนมาแม่สาย

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ต้องตกอยู่ในดงฝุ่นนานนับเดือน ทั้งที่จุดความร้อนที่พบในพื้นที่มีน้อยมาก โดยสาเหตุสำคัญมาจากการที่ อ.แม่สาย ตกอยู่ในวงล้อมของจุดความร้อนสะสมหนาแน่นในเมียนมาและ สปป.ลาว ที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันนี้ทุกปี และเป็นที่มาของฝุ่นข้ามแดน

รายงานวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ของกรีนพีซ พบว่า ปี พ.ศ.2563 พบร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสูงที่สุดในเดือนมีนาคมสูงถึง  7,004,171 ไร่ และยังพบจุดความร้อนมากที่สุด 75,115 จุด รองลงมาคือเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 6,524,028 ไร่ และเดือนเมษายนจำนวน 5,344,935 ไร่

ขณะที่รัฐฉานของเมียนมา เป็นพื้นที่ที่พบร่องรอยเผาไหม้และจุดความร้อนมากที่สุด คือ 2,001,539 ไร่ / 66,855 จุด หรือร้อยละ 50.84 ของจุดความร้อนทั้งหมด ตามมาด้วยพื้นที่ตอนบนของ สปป.ลาว 986,761ไร่ / 34,890 จุด หรือร้อยละ 26.53 และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย 606,692 ไร่ / 29,753 จุด หรือร้อยละ 22.63 ของจุดความร้อนทั้งหมด

ที่สำคัญ รายงานดังกล่าวยังระบุถึงภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ปลูกข้าวโพดและจุดความร้อนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงพบว่า จุดความร้อนที่ตรวจพบและอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดนั้น พบมากที่สุดในเดือนเมษายนเกือบทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับจุดความร้อนที่เริ่มมีมากตั้งแต่ช่วงต้นปี และสะสมมากที่สุดประมาณช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายนของทั้งสามประเทศ

การต้องตกอยู่ในวงล้อมของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นหนาแน่นนานนับเดือน ทำให้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย กลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของการกระจายตัวฝุ่น PM 2.5 ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไปโดยปริยาย (อ้างอิงจากข้อมูลแผนที่แสดงการกระจายตัวและความเข้มข้นของหมอกควันพิษข้ามพรมแดน (regional haze situation) ของศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียน (ASEAN Specialised Meteorological Centre: ASMC) ระหว่างวันที่ 14 มี.ค. – 12 เม.ย. 2562 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า อ.แม่สาย คือตัวแทนพื้นที่ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่อยู่ ณ ใจกลางดงฝุ่น

ขณะที่ข้อมูลจุดความร้อนล่าสุดวันนี้ (10 มี.ค. 2564) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีจุดความร้อนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง 6,773 จุด ส่วนอันดับสองคือ ประเทศไทย 2,408 จุด อันดับสามคือ ราชอาณาจักรกัมพูชา 1,858 จุด และอันดับสี่คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 1,435 จุด

กองกำลังผาเมืองถกเมียนมา เร่งแก้วิกฤต PM 2.5 ฝุ่นควันข้ามแดน

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา เว็บไซต์ข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 ระบุว่า กองกำลังผาเมือง โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 ได้ใช้กลไกการประชุม คณะกรรมการชายแดนท้องถิ่นไทย – เมียนมา ขอความร่วมมือประเทศเมียนมาในการควบคุมการบริหารจัดการพื้นที่การเผา

นอกจากนี้ พ.อ.สัมฤทธิ์ ฉัตรวัฒนาสกุล ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 ยังได้มีหนังสือถึง พ.อ.ต่อสิ่นอู ผบ.บก.ยศ.ท่าขี้เหล็ก เพื่อขอความร่วมมือทางฝั่งประเทศเมียนมาในการบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร และควบคุมการเผา เพื่อลดปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ และไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวตลอดจนสุขภาพของประชาชนตามนโยบายของกองทัพภาคที่ 3 และกองทัพบก

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2562 ได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นข้ามแดนไว้ว่า มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Transboundary Haze – Free Roadmap) และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 เพื่อป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (Chiang Rai 2017 Plan of Action for Transboundary Haze Pollution Control in the Mekong Sub-Region)

รวมทั้ง การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ โดยใช้กลไกในทุกระดับ ได้แก่ ระดับอาเซียน ระดับคณะกรรมการชายแดนภายใต้กระทรวงกลาโหม และระดับจังหวัดชายแดนคู่ขนานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดนจากการขนส่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว