คพ.เปิดรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 2563

โควิด-19 ส่งผล คุณภาพน้ำ – อากาศ – น้ำทะเล ดีขึ้น ขยะมูลฝอยลดลง แต่ขยะพลาสติกเพิ่ม จาก Work From Home

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิด รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2563 ในส่วนสถานการณ์คุณภาพน้ำ จากเกณฑ์พอใช้ขยับสูงขึ้นเป็นเกณฑ์ดี แม่น้ำตาปีตอนบนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554-2563) คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดี ไม่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก คุณภาพน้ำทะเลในภาพรวมดีขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ยกเว้นบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก ที่เสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ทั่วไปภาพรวมคุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าปี 2562 เป็นผลจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประชาชนลดกิจกรรมการเดินทาง อุตสาหกรรมลดกำลังการผลิต และการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศลดลง

ส่วนมลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง PM2.5 ฝุ่นละออง PM10 และก๊าซโอโซน จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ นราธิวาส สตูล ภูเก็ต สงขลา และยะลา ตามลำดับ ซึ่งไม่มีจำนวนวันที่มลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน

สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลดลงกว่าปี 2562 และมีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากมีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น เช่น การเร่งรัดให้มีการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ติดตามตรวจสอบและรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในพื้นที่เป็นประจำทุกวัน วันละ 3 เวลา คือ 7.00 น. 12.00 น. และ 17.00 น. เพื่อแจ้งเตือน สื่อสาร และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา การใช้ข้อมูลทางวิชาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

หมอกควันภาคเหนือ มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 112 วัน ซึ่งเท่ากับปี 2562 จุดความร้อนสะสมลดลง ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ฝุ่นละออง PM10 มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานและปริมาณฝุ่นละออง PM10 เฉลี่ยรายปีลดลง

สาเหตุหลักยังคงมาจากการเผาในพื้นที่เกษตรจำนวนมากประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้มีการลุกลามของไฟป่าอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือดำเนินการภายใต้กลไก พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยกำหนด 4 พื้นที่ คือ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ชุมชน

และใช้ 5 มาตรการ ได้แก่ ระบบบัญชาการ การลดเชื้อเพลิง การสร้างความตระหนัก การสร้างเครือข่าย/จิตอาสา และการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการยกระดับ 12 มาตรการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง การนำอากาศยานมาสนับสนุนภารกิจดับไฟป่า การกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาด และการตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาไฟป่า

สถานการณ์ขยะมูลฝอย เกิดขึ้นประมาณ 27.35 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 4 สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยลดลงเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. – 31 พ.ค. 2563 พบว่า อปท. บางแห่งและพื้นที่กรุงเทพมหานครบางเขต มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนลดลง เนื่องจากมีการควบคุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม มาตรการกำหนดให้ปฏิบัติงาน Work From Home ทำให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดประมาณ 6,300 ตัน/วัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 15 จากในช่วงสถานการณ์ปกติที่มีขยะพลาสติกประมาณ 5,500 ตัน/วัน

สถานการณ์ของเสียอันตราย จากชุมชน ปี 2563 เกิดขึ้นประมาณ 658,651 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 428,113 ตัน หรือร้อยละ 65 และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ประมาณ 230,538 ตัน หรือร้อยละ 35

ผลจากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการจัดการวางระบบการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน โดยให้ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีจุดรวบรวมของเสียอันตรายในชุมชนและมีศูนย์รวบรวมในระดับจังหวัด ทำให้ของเสียอันตรายจากชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องประมาณ 121,695 ตัน หรือร้อยละ 18.5 ของปริมาณของเสียอันตรายชุมชนที่เกิดขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแต่ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ทั้งนี้ สาเหตุที่การจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนอย่างถูกต้องยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีการคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะทั่วไป และยังขาดความตระหนักรู้ ประกอบกับ อปท. ยังไม่มีการบังคับใช้กฎระเบียบรองรับในการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน รวมถึงยังไม่มีกฎหมายที่จะนำมากำกับดูแลในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

สถานการณ์มูลฝอยติดเชื้อ ปี 2563 เกิดขึ้น 47,962 ตัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 10 โดยเกิดจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงอื่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน สถานพยาบาลสัตว์ และห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 47,440 ตัน หรือร้อยละ 98.91

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ทำให้มีมูลฝอยติดเชื้อเป็นจำนวนมากทั้งจากกิจกรรมการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ในสถานพยาบาล การเฝ้าระวังโรคและการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย รวมถึงสถานพยาบาลชั่วคราวที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น และสถานที่ซึ่งจัดไว้สำหรับการกักกันหรือผู้แยกสังเกตอาการ แต่ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อในภาพรวมของประเทศกลับมีปริมาณลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

สถานการณ์ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ คพ.ได้เข้าตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมจำนวนทั้งสิ้น 581 แห่ง แบ่งเป็น อาคารบางประเภทและบางขนาดของเอกชน จำนวน 295 แห่ง มีน้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 40.81 น้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 59.19 และอาคารบางประเภทและบางขนาดของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 286 แห่ง น้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 38.73 น้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 61.27

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว