สปสช.เตรียมวัคซีน​ไข้หวัดใหญ่ 6.4 ล้านโดส​ 7​ กลุ่ม​เสี่ยง​ ช่วยลดความสับสน​โรคโควิด-19

ชี้อาการป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 คล้ายกันมาก หากเรามีการฉีดวัคซีนที่ช่วยลดอัตราการป่วยไข้หวัดใหญ่ ก็จะช่วยลดความสับสนกับโควิด-19 ลง​ พร้อมเปิดจองคิว-นัดฉีด ตั้งแต่วันนี้ – 30 เม.ย. นี้ เริ่มฉีดจริงตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถึงวันที่ 31 ส.ค. 2564

เมื่อวันที่​ 7​ มี.ค.​ 2564​ พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีส่วนช่วยประเทศให้สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ด้วย เพราะหากสามารถลดภาระจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ นอกจากจะช่วยลดความสับสนระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 ได้แล้ว ยังจะลดอุปสรรคในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 รวมถึงค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขที่ลดลงไปด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากอาการป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 นั้นมีลักษณะคล้ายกันมาก และไม่สามารถแยกได้ด้วยอาการ ฉะนั้น ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งเมื่อเจอเคสแล้วจะต้องมีการตรวจความเสี่ยง ตามไทม์ไลน์ สอบสวนโรคต่าง ๆ หากเรามีการฉีดวัคซีนที่ช่วยลดอัตราการป่วยไข้หวัดใหญ่ ก็จะช่วยลดความสับสนกับโควิด-19 ลงไปได้

พญ.สุชาดา กล่าวว่า สำหรับข้อดีอีกประการคือ กลุ่มเป้าหมายของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับวัคซีนโควิด-19 นั้นใกล้เคียงกัน และมีหลายกลุ่มที่ซ้อนทับกันอยู่ ฉะนั้น การเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาล ผู้รับวัคซีนก็จะมีโอกาสได้พบกับเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบถึงสิทธิในการได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงให้ได้มากขึ้นด้วย

“แม้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดจะฉีดพร้อมกันไม่ได้ โดยต้องเว้นห่างอย่างน้อยประมาณ 1 เดือน แต่การเข้ารับวัคซีนตัวหนึ่ง ก็จะได้ทำนัดในการรับอีกตัวหนึ่งไปเลย เพื่อให้แพทย์สามารถจัดตารางการให้วัคซีนได้ ในกรณีของกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัว” ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ระบุ

พญ.สุชาดา กล่าวว่า เนื่องด้วยไทม์ไลน์ของการให้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนั้นยังใกล้เคียงกัน โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่กรมควบคุมโรคดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง จำนวน 6.4 ล้านโด๊ส นั้น มีแผนให้ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป ส่วนวัคซีนโควิด-19 ก็จะเริ่มมีเข้ามาฉีดสำหรับประชาชนในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ดังนั้น การเข้ารับวัคซีนก็จะเหมือนกับการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือเมื่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลก็จะสามารถเช็คสิทธิได้เลยว่าได้รับอะไรบ้าง

“หลักการของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดเองก็มีลักษณะเดียวกัน คือไม่ได้หมายความว่าเมื่อฉีดแล้วจะมีภูมิขึ้น สามารถป้องกันโรคได้ 100% ทุกคน แต่จุดมุ่งหมายของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับวัคซีนโควิด-19 คือช่วยลดอาการป่วยรุนแรง และลดโอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคเหมือนกัน” พญ.สุชาดา กล่าว

พญ.สุชาดา กล่าวอีกว่า ในส่วนสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันพบว่ามีการลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยช่วงที่เราควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องมีมาตรการใส่หน้ากาก รักษาความสะอาดต่างๆ ได้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในโรคที่เกิดจากการสัมผัสไอจามลงได้ อย่างไรก็ตาม การรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ยังคงมีความจำเป็นสำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และระบบการจัดการในภาพรวม

สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีสิทธิรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี ได้แก่

  1. หญิงมีครรภ์
  2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
  3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
  4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  7. โรคอ้วน มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

สำหรับหญิงมีครรภ์แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เมื่อมีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน สปสช. ได้เปิดช่องทางให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถจองสิทธิและนัดหมายเข้ารับการฉีดวัคซีนล่วงหน้าได้ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 และเข้ารับการฉีดระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2564 ส่วนหญิงตั้งครรภ์สามารถขอลงทะเบียนและฉีดวัคซีนได้ตลอดทั้งปี โดยมี 4 ช่องทางในการจองสิทธินัดฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้าดังนี้

  1. สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 1 หลังจากนั้นกด 8 ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น.
  2. หน่วยบริการประจำหรือโรงพยาบาลในระบบบัตรทอง
  3. Line @UCBKK สร้างสุข (เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองหรือพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร) ให้บริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8.30-18.00 น. และวันเสาร์ถึงวันอาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น.)
    เฉพาะผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป สปสช.เปิดทางเลือกให้สามารถลงทะเบียนจองสิทธิและนัดฉีดผ่าน ภายใน
  4. แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เมนู Health Wallet หรือกระเป๋าสุขภาพ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS