นักวิจัย-ชาวบ้าน ร้อง กรมควบคุมมลพิษ ระงับฟื้นฟูห้วยคลิตี้ เฟส 2 พบ ฟื้นฟูรอบแรกจบ ค่าตะกั่วยังปนเปื้อนสูง

หวั่น ขัดคำสั่งศาล ฟื้นฟูไม่บรรลุเป้าหมาย ผลักภาระให้ชาวบ้านต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำชุมชน สิ่งแวดล้อมเสี่ยงอันตรายซ้ำ

คณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้
ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

วานนี้ (3 มี.ค. 2564) คณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้  พร้อมตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เข้าพบ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เพื่อขอให้ทบทวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ระยะที่ 1 และขอให้ระงับการดำเนินโครงการฟื้นฟูระยะที่ 2 ไปก่อน เนื่องจากกังวลว่าการฟื้นฟูในระยะแรก อาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชน และอาจไม่สำเร็จตามเป้าหมายการฟื้นฟูที่ตั้งเป้าทำให้ชุมชนคลิตี้เกิดความปลอดภัย

ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และในฐานะหนึ่งในกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วฯ ที่นำทีมนักวิจัยลงเก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอนดิน ในจุดที่ผ่านขั้นตอนการฟื้นฟูด้วยวิธีดูดตะกอน เพื่อบ่งชี้ว่าการฟื้นฟูเป็นไปตามข้อกำหนดการจ้างหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบตัวอย่างตะกอนดิน และน้ำในลำห้วยหลายจุด พร้อมทั้งข้อมูลตามการรายงานขอกรมควบคุมมลพิษเอง (11 ก.พ.64) ยังพบค่าการปนเปื้อนของตะกั่ว 14,000 – 15,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งหากอ้างอิงจากค่าเป้าหมายการปนเปื้อนตะกั่วตามธรรมชาติ ซึ่งงานวิจัยระดับโลกให้การยอมรับ กำหนดไว้ที่ประมาณ 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ค่าเป้าหมายการฟื้นฟูของกรมควบคุมมลพิษนั้นกำหนดไว้ที่ 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งจะเห็นว่าค่าที่ได้จากการตรวจสอบตัวอย่างหลังการฟื้นฟูลำห้วย ยังคงมากกว่าค่าเป้าหมายที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด    

ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ทีมนักวิจัย ได้สำรวจการรั่วไหลของแร่โดยใช้ Stable Isotope ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ก็พบการรั่วไหล มากกว่า 30 หลุม โดยเฉพาะพื้นที่คลิตี้บน เพราะเป็นที่ตั้งของโรงแต่งแร่ตะกั่ว แต่ละจุดถูกขุดขึ้นเพื่อฝังหางแร่ตะกั่ว นั่นอาจทำให้ผลวิเคราะห์จากกรมควบคุมมลพิษสูงเกินกว่าค่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติอยู่มาก

ตามหลักวิชาการเราต้องตั้งเป้าการฟื้นฟูเพื่อทำให้ชาวบ้านกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม แต่การตั้งค่าเป้าหมายถึง 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นั่นหมายถึงยังพบการปนเปื้อนในปริมาณสูง แล้วกลับมาบอกให้ชาวบ้าน ปรับวิถีชีวิต หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในห้วย เลี่ยงใช้ดิน จะไปต่างอะไรกับก่อนหน้านี้ที่ชาวบ้านรวมตัวกันฟ้องศาล

ทีมวิจัยยังเสนอทางเลือกการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ให้กรมควบคุมมลพิษพิจารณาดังนั้น

  1. ถ้ากรมควบคุมมลพิษมั่นใจว่าการฟื้นฟูมาถูกทาง แล้วจะดำเนินโครงการฟื้นฟูระยะที่ 2 ต่อ ด้วยงบประมาณ 180 ล้านบาทที่ตั้งไว้ ก็ต่อเมื่อโครงการฟื้นฟูระยะแรก ผ่านค่าเป้าหมายการฟื้นฟูแล้วเท่านั้น (ตกลงค่าเป้าหมายว่าอยู่ที่  563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือ 1,800  มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)
  2. ถ้ากรมควบคุมมลพิษไม่มั่นใจว่าการฟื้นฟูมาถูกทางหรือไม่ ควรกลับมาเริ่มต้นใหม่ โดยตั้งกรรมการที่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาควิชาการ เพื่อถอดบทเรียนความผิดพลาดของการออกแบบกระบวนการ และทบทวนวิธีการฟื้นฟู เพื่อให้สามารถรับประกันการฟื้นฟูที่ต้องบรรลุเป้าหมาย โดยอาจทำเป็นโครงการสาธิตก่อน โดยการร่างข้อกำหนดการจ้าง (TOR) เลือกเทคโนโลยี เลือกบริษัทที่ดำเนินการ และการตัดสินใจต่าง ๆ ต้องโปร่งใส อิงหลักวิชาการ มีการร่วมตัดสินใจโดยชุมชน ฝ่ายวิชาการของชุมชน และภาคประชาสังคม
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ด้าน อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวภายหลังรับหนังสือจากคณะทำงานฯ ว่า ขณะนี้การฟื้นฟูในระยะแรก อยู่ในขั้นตอนการตรวจรับ และเก็บค่าปรับเกินเวลากับบริษัทที่ได้รับการว่าจ้าง แต่ยืนยันว่า การฟื้นฟูระยะที่ 2 จะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านเห็นด้วย ซึ่งก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาอาจมีปัญหาด้านการสื่อสาร ซึ่งในการประชุมคณะทำงานชุดใหญ่ ก่อนปิดโครงการระยะแรก ได้ให้ตัวแทนมาร่วมสื่อสารเป็นภาษาถิ่น ส่วนการตั้งค่าเป้าหมายอยู่ที่ 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามที่ทีมวิจัยเสนอนั้น อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยอมรับว่า ไม่สามารถพิจารณาได้จากเสียงของนักวิชาการคนใดคนหนึ่ง แต่จะส่งทีมลงไปสำรวจเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ ศักยภาพแร่ในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร ก่อนนำมากำหนดค่าที่ปลอดภัยต่อคนในชุมชนให้มากที่สุด

สำหรับการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะที่ 1 กรมควบคุมมลพิษว่าจ้าง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ให้ดำเนินการฟื้นฟูตาม TOR และสัญญาจ้าง โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาโครงการและผู้ควบคุมงาน เริ่มดำเนินโครงการฟื้นฟูมาตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2560 – สิงหาคม 2563 เป็นระยะเวลา 1,000 วัน ด้วยงบประมาณ 454 ล้านบาท ต่อมาหลังครบกำหนดกรมควบคุมมลพิษ ได้ขยายเวลาดำเนินการมาจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และก่อนหน้านี้เพิ่งได้รับการอนุมัติงบฯ อีกกว่า 205 ล้านบาท สำหรับการดำเนินโครงการฟื้นฟูระยะที่ 2

ทีมนักวิจัย คณวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำในลำห้วยคลิตี้ไปตรวจสอบหลังการฟื้นฟู เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563

ท่ามกลางข้อสังเกตจากคณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาฯ ต่อโครงการฟื้นฟูที่เกิดขึ้นในรอบแรกหลายประเด็น โดยเฉพาะผลการตรวจสอบตัวอย่าง ตะกอนดิน น้ำ ผัก ปลา ในพื้นที่ก่อนหน้านี้ ที่ยังพบค่าตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูง เรื่องนี้กรมควบคุมมลพิษจะรับผิดชอบอย่างไร เนื่องจากอาจอาจขัดคำสั่งศาลปกครอง ที่ระบุชัดเจนว่าต้องฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้กลับคืนสู่ค่ามาตรฐานให้ได้มากที่สุด แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎจะบอกว่าการฟื้นฟูผ่านเกณฑ์ได้หรือไม่ ในเมื่อหลายจุดยังเกินค่าเป้าหมายที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดขึ้นเองหลายเท่า และเมื่อการฟื้นฟูไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ ก็ต้องตั้งคำถามต่องบประมาณที่ใช้ไปเกือบ 500 ล้านบาทว่าคุ้มค่าหรือไม่ แล้วใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ


Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน