แฉยับ “นิพนธ์ บุญญามณี” ใช้อำนาจ รมต. มิชอบ เอื้อกลุ่มทุน โครงการนิคมจะนะ

“รมช.มหาดไทย” ปัดใช้อำนาจบีบบังคับซื้อที่ดินจะนะ “นายกฯ” ห่วงอภิปรายกระทบการลงทุน ยัน ทุจริตตรวจสอบได้

ชี้ “นิพนธ์” วิ่งเต้นดันโครงการ “จะนะ” ทั้งที่ไม่เคยมีอยู่ในโครงการเมืองต้นแบบตั้งแต่แรก

ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีมีผลประโยชน์เบื้องหลังโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ จ.สงขลา ระบุว่า โครงการที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่โครงการพัฒนา แต่เต็มไปด้วยการทำลายทรัพยากร อาชีพ และเศรษฐกิจ ของชาวจะนะ มูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 100-500 ล้านบาท

ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า หลายคนเชื่อว่าโครงการนี้เกิดขึ้นในปี 2563 แต่ความจริงมีเค้าลางมาตั้งแต่เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน โดย นายนิพนธ์ ในฐานะ นายก อบจ. สงขลา ขณะนั้น ได้แถลงต่อสภา อบจ. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2556 ว่าจะพัฒนาพื้นที่พลังงาน ท่าเรือน้ำลึก และอุตสาหกรรม ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.นาหม่อม และ อ.เทพา ซึ่งคนในพื้นที่รู้ดีว่า มีการเอางบฯ อบจ. ไปลงในพื้นที่อำเภอแถบนั้นมากผิดปกติ

กระทั่งต่อมา วันที่ 16 ก.พ. 2561 นิพนธ์ ในฐานะนายก อบจ. ได้เข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเวลานั้นเพื่อหารือแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ของเอกชน โดยยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมพลังงานครบวงจรหรือ Energy complex จนนำมาสู่มติ ครม. วันที่ 7 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นมติ ครม. ทิ้งทวนของ คสช. หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ในช่วงที่อยู่ในสูญญากาศระหว่างการตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีมติเห็นชอบขยายผลโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนไปสู่พื้นที่ อ.จะนะ

“ดังนั้น การที่นายนิพนธ์ ให้ข่าวว่าโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จึงผิด เพราะเป็นคนวิ่งเต้นเอาโครงการจะนะไปสอดไส้โครงการเดิม เพราะโครงการเดิมตามมติ ครม. 2559 มีแค่ 3 พื้นที่คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ,อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และอ.เบตง จ.ยะลา แต่ไม่ได้มี อ.จะนะ รวมอยู่ด้วย”

อัดแค่โครงการ “ขายฝัน” โครงการใหญ่ “ร้าง” ไร้เงานักลงทุน

ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลนำโดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ขายฝันกับชาวบ้านว่าจะมีการลงทุนบนพื้นที่ประมาณ 16,753 ไร่ เม็ดเงินลงทุน 18,680 ล้านบาท จะเกิดอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา เมืองที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ ศูนย์รวมและกระจายสินค้า โรงไฟฟ้าขนาด 3,700 เมกกะวัตต์ และอื่นๆ อีกมากมาย

รวมทั้งมีการโฆษณาว่า จะมีการจ้างงานในพื้นที่ 100,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะหากประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นชัดเจนว่า ต่างชาติไม่มาลงทุนเนื่องจากเศรษฐกิจแย่และรัฐบาลยังบริหารล้มเหลว มีโรงงานปิดไปแล้วมากมาย เห็นได้จากนิคมอุตสาหกรรม Rubber City และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ที่ไม่มีเอกชนไปลงทุน

โดยการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ได้อนุมัติงบประมาณให้นิคมอุตสาหกรรมสงขลาไปแล้วอย่างน้อย 1,280 ล้านบาท ไม่รวมเงินที่เช่าที่ธนารักษ์อีก 2,000 กว่าล้านบาท แต่มีคำขอส่งเสริมการลงทุนจริง 8 โครงการ คิดเป็นเงินเพียง 1 ใน 10 จากที่ตั้งเป้าไว้เท่านั้น

ประเสริฐพงษ์ ชี้ว่า การที่รัฐบาลและนายทุนขายฝันเสนอโครงการต่างๆ บอกว่าจะเกิดงาน 1 แสนตำแหน่ง แต่ไม่เคยมีบอกว่ามาจากงานอะไร ทดแทนงานเดิมหรือเพิ่มงานใหม่ เป็นงานรายได้สูงหรือรายได้ต่ำ จะจ้างงานคนในพื้นที่หรือไม่ ทั้งที่สิ่งที่จะสร้าง คือโรงไฟฟ้าและปิโตรเคมี ซึ่งจ้างงานน้อยมาก

“ความเป็นไปได้ที่โครงการจะทำให้เกิดการจ้างงานนับแสนตำแหน่ง จึงเป็นไปไม่ได้ สำหรับคนที่มีความฝัน วาดวิมานในอากาศสวยหรูว่าจะเกิดการลงทุนเท่านั้นเท่านี้หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานแสนตำแหน่งนั้น แบบนี้คนใต้เค้าเรียก “ฝัดด้งเปล่า” หรือถ้าตามพจนานุกรมแปลเป็นภาษากลางว่า วืด เสียเที่ยว”

ตั้งคำถาม “เปลี่ยนสีผังเมือง” ทำเพื่อคนใต้หรือเพื่อใคร

ประเสริฐพงษ์ กล่าวต่อว่า แม้โอกาสที่อุตสาหกรรมจะเกิดมีน้อยมาก แต่รัฐบาลและนายนิพนธ์ กลับเร่งรัดผลักดันโครงการเมืองจะนะให้เกิด ซึ่งพบว่า กลุ่มทุนคือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ที่มาพร้อมแผนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3,700 เมกกะวัตต์ โดยในเอกสารเตรียม EIA ของบริษัท TPIPP เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 ก็ระบุชัดเจนว่า TPIPP เป็นผู้เสนอแผนการผลักดันพัฒนาโครงการในพื้นที่ อ.จะนะ โดยที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ได้มีมติรับทราบไปแล้ว 1,700 เมกกะวัตต์ ที่เอื้อให้เกิดโรงไฟฟ้าของบริษัท TPIPP ขึ้นในพื้นที่อำเภอจะนะ

“กลุ่มทุนเครือ TPIPP มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแนบแน่นกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล บริษัทเครือ TPI ยังมีชื่อเป็นหนึ่งในผู้บริจาคเงินผ่านโต๊ะจีนประชารัฐ มีสายสัมพันธ์แนบแน่นใกล้ชิดกับทั้งพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงกับนายนิพนธ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เราจึงเห็นความพยายามผลักดันโครงการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนอย่างแข็งขัน”

ประเสริฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า จากเหตุดังกล่าวทำให้สงสัยว่าโครงการจะนะที่เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนหรือเพื่อใคร เพราะวันที่ 18 ส.ค. 2563 ครม. ก็มีมติให้กรมโยธาธิการและผังเมืองแก้ไขผังเมือง เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ในสามตำบลใน อ.จะนะ จากพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม และเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวคาดขาวที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งเดิมห้ามไม่ให้มีโรงงงานที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ให้เป็นสีม่วงเข้มหรือพื้นที่อุตสาหกรรมหนัก

พบเครือญาติ-เครือข่าย “นิพนธ์” เอี่ยวการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่่โครงการ

ประเสริฐพงษ์ ระบุว่า ข้อมูลการซื้อขายที่ดินจากสารบบที่ดินและหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน สำเนาโฉนดที่ดิน ในพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ 3 ตำบล ของ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยข้อมูลจาก สำนักงานที่ดิน จ.สงขลา สาขาจะนะ พบประเด็นสำคัญคือ ตัวละครสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายคนล้วนเป็นเครือข่ายเครือญาติใกล้ชิด ของนายนิพนธ์ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่

“ไม่ว่าจะเป็น นายนิธิกร บุญญามณี ลูกชายคนเล็ก ของนายนิพนธ์ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทค้าที่ดิน นายสิรภพ เริงฤทธิ์ ทนายความคนสนิท ของนายนิพนธ์ เคยเป็นพนักงานจ้าง ตำแหน่งผู้ช่วยนิติกร อบจ. สงขลา ในสมัยที่นายนิพนธ์เป็นนายก คนในพื้นที่รู้จักคนคนนี้ดี เพราะเป็นนายหน้าดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่แทนนายนิพนธ์และครอบครัว นายวุฒิชัย วัตตธรรม “ลูกพี่ลูกน้อง” ของนางกัลยา บุญญามณี “ภรรยา” นายนิพนธ์ และนายชัยโรจน์ จิวระประภัทร์ “คู่เขย” ของนายนิพนธ์”

ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า คนเหล่านี้มีชื่ออยู่ในสารบบที่ดินและหนังสือสัญญาการซื้อขายที่ดินที่ตนได้มา ซึ่งเป็นเพียงข้อมูลตัวอย่างส่วนเดียวที่เข้าถึงได้ในเดือน ม.ค. 2563 ที่มีมติ ครม. เห็นชอบโครงการและเปลี่ยนสีผังเมือง และข้อมูลนี้ก็เป็นพื้นที่แค่ 3 ตำบล ของ อ. จะนะ จ.สงขลา ซึ่งไม่รู้ว่าส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลยังมีอีกเท่าไหร่ 

“ถ้านายนิพนธ์บริสุทธิ์ใจจริง ขอให้เอาข้อมูลการซื้อขายที่ดิน ของกรมที่ดินท่านดูแลอยู่ ของทั้งปี 2562 และ 2563 มาเปิดให้ประชาชนเห็น แล้วให้กรรมาธิการที่ดินและสภาฯแห่งนี้ตรวจสอบ”

พบพิรุธ ใน 1 เดือนซื้อ-ขายที่ดินผิดปกติ “เครือข่ายนิพนธ์” -TPIPP  ทำธุรกรรมมากสุด

นายประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบเห็นการซื้อขายที่ดินอย่างผิดปกติในช่วงเดือน ม.ค. 2563 ที่ ครม. มีมติให้เปลี่ยนสีผังเมือง โดยพบการกว้านซื้อของรายใหญ่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มเครือข่ายครอบครัวคนใกล้ชิด นิพนธ์ พบการซื้อขายทั้งหมด 23 ธุรกรรม

และอีกกลุ่ม ที่มีปริมาณการซื้อที่ดินมากผิดปกติ คือ TPIPP มีการกว้านซื้อที่ดิน 25 ธุรกรรม พื้นที่ 450 ไร่ มูลค่า 271 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 602,608 บาทต่อไร่ ซึ่งราคาที่ดินที่บริษัทซื้อจากชาวบ้านอยู่ที่เฉลี่ยไร่ละ 600,000 บาท ขณะที่เครือข่ายนายนิพนธ์ซื้อที่ดินแค่ในราคาเฉลี่ยเพียง 240,000 บาทต่อไร่ เท่านั้น ราคาต่างกันเกินเท่าตัว

“แต่อย่าเพิ่งดีใจว่า TPIPP ซื้อที่ชาวบ้านในราคาสูง เพราะมูลค่าซื้อขายที่ดิน 271 ล้านบาทของ TPIPP ในเดือน ม.ค. 2563 มีไม่ถึง 1 ใน 5 เท่านั้นที่ตกถึงมือชาวบ้าน  เพราะในจำนวนการซื้อขายที่ดินทั้งหมด เป็นการซื้อที่ดินจากนายชัยโรจน์และนายวุฒิชัย 224 ล้านบาท หรือ 83%  ส่วนที่ตกถึงมือชาวบ้านแค่ 17% เท่านั้น”

นอกจากนี้ ถ้าดูในแง่ของวันที่โอนที่ดิน ถ้าเอาวันที่ 21 ม.ค. 2563 ที่ ครม. มีมติเห็นชอบโครงการเขตพัฒนาพิเศษจะนะ และให้เปลี่ยนสีผังเมืองเป็นตัวแบ่ง จะพบว่า หลังวันที่ 21 ม.ค. 2563 มีการซื้อที่ดินเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด แค่ 10 วัน มี 25 ธุรกรรม ในขณะที่ก่อนหน้านั้น มี 19 ธุรกรรม ซึ่งผู้ที่ทำการกว้านซื้อมากก่อนวันที่ 21 ม.ค. 2563 คือกลุ่มของนายนิธิกรและนายสิรภพ เครือข่ายครอบครัวนายนิพนธ์ ส่วนกลุ่มที่ทำการกว้านซื้อที่ดินมากหลังวันที่ 21 ม.ค. 2563 คือบริษัท TPIPP

“ข้อสังเกตก็คือ เครือข่ายครอบครัวนายนิพนธ์รู้ล่วงหน้าว่าจะมีมติ ครม. ออกมาในวันไหน ซึ่งจะมีผลกับราคาที่ดินหรือไม่ ถึงได้เร่งซื้อเร่งโอนที่ดินกันก่อนที่จะมี มติ ครม.ออกมา นายนิพนธ์ จึงมีพฤติกรรมใช้ข้อมูลภายในจากฐานะรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้เครือญาติกว้านซื้อที่ดินหรือไม่”

พบพฤติกรรม “อำพราง”  ซื้อจากลูก “นิพนธ์” ก่อนปล่อยต่อ เพียง 4 วัน

ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า ยังพบมีการซื้อขายที่ดินอย่างผิดปกติ โดยมีที่ดินแปลงที่ TPIPP รับซื้อจาก 2 คน ที่เป็นเครือญาตินายนิพนธ์ คือ นายวุฒิชัยและนายชัยโรจน์ ในวันที่ 28 ม.ค. 2563 โดยบริษัทรับซื้อที่ดิน นส.3ก. 4 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งหมด 181 ไร่เศษ จากนายวุฒิชัย ในราคา 105 ล้านบาท และรับซื้อที่ดิน นส.3ก. อีก 4 แปลง พื้นที่รวมทั้งหมด 180 ไร่ จากนายชัยโรจน์ ในราคา 119 ล้านบาท ทำให้ในวันเดียว บริษัท TPIPP ซื้อที่ดินจาก 2 คนนี้ รวมกัน ไม่น้อยกว่า 361 ไร่ มูลค่า 226 ล้านบาท คิดเป็นเงิน 85% ของเงินทั้งหมดที่บริษัทซื้อที่ดินในเดือน ม.ค. 2563 

ซึ่งที่ผิดปกติคือที่ดินแปลงทั้งหมดที่นายวุฒิชัยและนายชัยโรจน์เสนอขายนี้มาจาก บริษัท ทาวน์แอนด์ซิตี้ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่นายนิธิกร บุญญามณี ลูกชายนายนิพนธ์ถือหุ้นอยู่ 75% และนางนิธิยา บุญญามณี ลูกสาวนายนิพนธ์ถือหุ้นอยู่ 17% โดย นายวุฒิชัยและนายชัยโรจน์ รับซื้อที่ดินมาในวันที่ 24 ม.ค. 2563 ก่อนหน้าที่จะขายให้ TPIPP เพียง 4 วัน เท่านั้น โดยรับซื้อมาในราคารวมกันประมาณ 78 ล้านบาท ผ่านไป 4 วันขาย ได้ 224 ล้านบาท ทำให้มีส่วนต่างสูงถึง 147 ล้านบาท

“นายวุฒิชัยและชัยโรจน์ มีศักดิ์เป็นเครือญาติกับนายนิธิกรและนางนิธิยา เจ้าของ บริษัท ทาวน์แอนด์ซิตี้ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด จึงชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่า การออกแบบธุรกรรมแบบนี้เป็นการซื้อขายที่ดินอำพรางหรือไม่”

ใช้อำนาจ รมต. ดำเนินนโยบายเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง

ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า หลังจาก ครม. มีมติ เดินหน้านิคมอุตสาหกรรมจะนะ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ประชุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2562 ซึ่งนายนิพนธ์ก็นั่งอยู่ในที่ประชุมแห่งนั้นด้วย ได้มีมติให้สำนักงานที่ดิน จ.สงขลา อ.จะนะ, อ.เทพา และ อ. นาทวี จ.สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินให้กับประชาชนเป็นการเร่งด่วน

หลังมติ กพต. ดังกล่าว นายนิพนธ์ก็รับลูกอย่างรวดเร็ว ผ่าน “ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน จ.สงขลา-นครศรีธรรมราช” เร่งดำเนินการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ โดยในปี 2563 งบฯ ของศูนย์ดังกล่าวอนุมัติเฉพาะ 4 ตำบล คือ นาทับ, ตลิ่งชัน, ป่าชิง และ บ้านนา ซึ่งอยู่ในเขตสีม่วงทั้งหมด ทั้งที่ จ.สงขลามี 16 อำเภอ แต่มีเพียง 4 อำเภอเท่านั้นที่อยู่ในโครงการสำรวจออกโฉนด

“ไม่ใช่เรื่องบังเอิญก็เพราะประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ลงนามโดยนายนิพนธ์ ก็เพื่อเป็นการรวบรวมที่ดิน นส. 3ก. ให้บริษัท TPIPP ไปออกโฉนดหรือไม่ และบังเอิญที่กลุ่มเครือข่ายเครือญาตินายนิพนธ์ ได้ทำการรวมซื้อเอกสารสิทธิ์ นส. 3ก. จากชาวบ้าน และบังเอิญอีกเช่นเดียวกันที่มีที่ดิน นส. 3ก. จำนวนมากถูกออกเป็นโฉนดโดย TPIPP”

ประเสริฐพงษ์ ย้ำว่า เป็นการเน้นออกโฉนดให้กลุ่มทุนแต่ละเลยไม่เหลียวแล สค.1 หรือ นส. 3ก ของชาวบ้านที่รอออกโฉนดมากว่า 70 ปี  และการรังวัดออกโฉนดที่ดินของบริษัท TPIPP จะได้รับความสะดวกมากผิดปกติจากเจ้าพนักงานที่ดิน ที่เพิ่งมีการย้ายเจ้าพนักงานที่ดินสงขลา สาขาจะนะ ในช่วงเดือน เม.ย. 2563

ยกกรณี ปชช. ถูกออกโฉนดทับที่ – เสียรู้ขายสิทธิ์เหนือที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม สูญมรดกบรรพบุรุษ 36 ไร่ 

นายประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า ยังมีการใช้อิทธิพลข่มขู่กดดันให้ชาวบ้านทำข้อตกลงขายที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กรณีของนายสุวีด โสะหนิ ที่ถูกเครือข่ายนายนิพนธ์ทำสัญญาความตกลงขายสิทธิ์เหนือที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งได้มีการฟ้องคดีในศาลไปแล้ว เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา 

โดยนายสุวีด ทำกินบนที่ดิน 36 ไร่ ในหมู่ที่ 3 ต.ตลิ่งชัน ที่ดินแปลงนี้ได้รับตกทอดมาจากบิดา โดยเป็นที่ดินบุกเบิกมาตั้งแต่รุ่นทวด ต่อมานายสุวีดพบว่าที่ทำกินตนถูกออกเอกสารสิทธิ์ทับ เป็น นส.3ก 3 ฉบับ จึงได้ร้องคัดค้านและเรื่องอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์

แต่ต่อมาเมื่อมีโครงการ นายสุวีดพบว่ามีคนมารังวัดที่ดินออกโฉนดในชื่อ “บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด” ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบดูเส้นทางการเปลี่ยนมือ พบว่าเอกสารสิทธิ์ นส.3ก. ก่อนออกเป็นโฉนดของที่ดินทั้ง 3 แปลง มีความเกี่ยวข้องบุคคลในเครือข่ายนิพนธ์ โดยที่ดิน นส.3ก. เลขที่ 304 และ 305 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเจ้าของเป็นวุฒิชัยก่อนนำไปขายต่อให้บริษัท ส่วนที่ดิน นส. 3ก. เลขที่ 7215 ก็มีนายชัยโรจน์ เป็นนายหน้าให้ TPIPP 

ประเสริฐพงษ์ กล่าวอีกด้วยว่า มีข้อมูลมาด้วยว่าในการตกลงซื้อขายที่ดินในครั้งนั้น มีการเรียกชาวบ้านไปเคลียร์ที่บ้านของนายนิพนธ์ เพื่อให้นายสุวีดและชาวบ้านอีกหลายคนยอมขายสิทธิ์ครอบครองที่ดินในราคาถูก

“นิพนธ์” ปัดใช้อำนาจบีบบังคับซื้อที่ดินจะนะ

ด้าน นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงปฏิเสธการใช้อำนาจความเป็นรัฐมนตรี บีบบังคับซื้อที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง

ส่วนกรณีพิพาทที่ดิน 3 แปลง ก็มีการนำเรื่องไปร้องที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และมีหนังสือมาที่กรมที่ดินเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563 สาระสำคัญของหนังสือวินิจฉัยและข้อเสนอแนะแก่ผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นว่าการรังวัด 3 แปลงที่ถูกร้องเรียนว่าทับซ้อนนั้น บริษัท ทีพีไอโพลีนฯ เป็นผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองตาม นส.3 ก ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ยังไม่มีการออกโฉนดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจในแปลงที่มีการคัดค้านแต่อย่างใด ดังนั้นการร้องเรียนจึงไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 22 (6) ตามประกาศผู้ตรวจการฯ 2562 จึงเห็นควรสั่งยุติเรื่องร้องเรียนนี้

“การกล่าวหาว่านำที่ประชาชนไปให้นายทุน เป็นการกล่าวหาเท็จทั้งสิ้น เพราะเป็นการพิพาทสิทธิครอบครอง”

ส่วนกรณีผู้อภิปรายกล่าวหาว่า ตนสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ที่ดินและเอื้อประโยชน์พวกพ้วง ประกาศเขตฯ แล้วส่งเจ้าหน้าที่ไปเดินสำรวจออกโฉนดให้พวกพ้อง ยืนยันว่าแปลงที่เป็นของญาติพี่น้องเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัด ไม่เกี่ยวข้องกับตน เพราะการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่ดิน จ.สงขลา ดำเนินการก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และประกาศจังหวัดสงขลาเดินสำรวจทุกพื้นที่ ไม่ใช่เพียง 4 อำเภอตามข้อกล่าวหา

“เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดยอมรับว่าเป็นคนจะนะ ก่อนผมเป็น รมช. ผมก็เป็นคนนาทับเลยรู้เรื่องทั้งหมด”

นิพนธ์ กล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น รวมทั้งยอมรับว่าสนับสนุนให้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับรู้-รับทราบ หรือเกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินใน อ.จะนะ จ.สงขลา และเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับรัฐ แต่เป็นเรื่องเอกชนกับเอกชน

“ที่บอกว่าบังคับซื้อ ใครครับที่จะบังคับซื้อได้ถ้าเจ้าของที่ดินไม่เต็มใจ”

“นายกฯ” ห่วงอภิปรายกระทบการลงทุน ยัน ทุจริตตรวจสอบได้ แต่อย่าให้พังไปทุกโครงการ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงในฐานะผู้กำกับการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ โดยขอให้แยกแยะเป็นรายโครงการ เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถดำเนินโครงการขนาดใหญ่ได้ สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีการตรวจสอบ พร้อมยืนยันว่าไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้ใคร

“ไม่ใช่ไปกล่าวหาพันกัน มีการเอื้อประโยชน์ แต่ใครที่ได้ประโยชน์ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ให้ว่ากันไปตามกระบวนการ หากพบการทุจริตก็แก้ไป แต่อย่าให้โครงการใหญ่ที่กำหนดยุทธศาสตร์ไว้แล้วต้องสะดุด พังพินาศไปด้วย”

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่าปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาที่ซับซ้อนในหลายมิติทั้งเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องมีการแก้ปัญหาอย่างละเอียดอ่อน และต้องมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จากเดิม 3 จังหวัด 3 พื้นที่ ก็เพิ่มที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลก็ได้จัดคณะกรรมการลงไปดูแล พร้อมกล่าวว่าทุกอย่างเป็นการเตรียมการ ต้องรอระยะเวลา ไม่ใช่ตั้งวันนี้แล้วจะได้เลย และหาจุดเชื่อมต่อศักยภาพ แต่ยืนยันว่ามีความก้าวหน้า

ส่วนการเปลี่ยนสีผังเมืองนั้น นายกฯ กล่าวว่า เกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่ว่าใครจะไปออกสีเองได้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ และมีการทำประชาพิจารณ์ทั้งหมด

“ขอชี้แจงในนามรัฐบาล ในนามนายกรัฐมนตรี การลงทุนมีความจำเป็นที่ต้องให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตนสั่งการเช่นนี้ทุกครั้งไม่มีละเว้น แต่การตรวจสอบนั้นมีกลไกลอยู่ สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ แจ้งองค์กรอิสระตรวจสอบได้ การจะบอกว่าใครผิดถูกในสภาฯนี้ไม่ใช่ศาลที่มาจะชี้ว่าใครผิดใครถูก เพราะศาลอยู่ข้างนอก”

นายกฯ กล่าวตอนท้ายว่า ไม่อยากให้การพูดในวันนี้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการลงทุนจากประเทศอื่น รวมถึงกังวลว่าจะลามไปสู่พื้นที่อื่น เช่น EEC

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว