“เพื่อไทย” เปิดหลักฐาน อาชญาบัตรแร่ทองคำ 4 แสนไร่ แลก “คิงส์เกต” ถอนฟ้อง

“ประยุทธ์” โต้ แค่ให้สำรวจ ยังไม่อนุญาตให้ทำเหมือง ลั่น สั่งปิดทุกเหมือง ไม่เจาะจงอัครา ไม่แก้ด้วยอำนาจ

17 ก.พ. 2564 – จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายกรณีปัญหาเหมืองทองคำอัคราไมนิ่ง ระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ในขณะนั้น ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ เป็นผลให้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในรอยต่อ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก ต้องยุติกิจการ

และเป็นเหตุให้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ ตัดสินใจฟ้องประเทศไทย ผ่านกลไกข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และมีการประเมินว่า คดีนี้ไทยอาจต้องแพ้ และต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 22,500 ล้านบาท

“จึงต้องอภิปรายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ให้พลเอกประยุทธ์เอาทรัพยากรของชาติไปแลกเพื่อให้ตัวเองพ้นจากความผิด”

เปิดไทม์ไลน์ชี้ พลเอก ประยุทธ์ ยังเลือกใช้ มาตรา 44 แม้หน่วยงานทักท้วง

ในการอภิปรายเรื่องเหมืองทองคำเมื่อ 5 มิ.ย. 2562 พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้แจงแทนว่า รัฐบาลไทยมีโอกาสเพราะจากการตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า บริษัทดังกล่าวทำผิดเงื่อนไข คือ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทไม่สามารถดูแลความเรียบร้อยและทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จึงเป็นเหตุให้ต้องสั่งปิดเหมืองแร่ดังกล่าว แต่คำชี้แจงนี้ไม่เป็นความจริง

วันที่ 16 ต.ค. 2558 พลเอก ประยุทธ์ มีบัญชาให้ 4 กระทรวง คือ อุตสาหกรรม สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกรณีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ หลังจากนั้นก็มีการตั้งคณะทำงานอีกหลายคณะเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายเดือนจนแล้วเสร็จ

ต่อมา วันที่ 1 พ.ค. 2559 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีหนังสือลับและด่วนที่สุด เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยมีสาระสำคัญว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่

วันที่ 6 ต.ค. 2559 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดการประชุม โดยในวันนั้นมีผู้แทนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีการใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาเหมืองทองคำว่า การใช้มาตรา 44 โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับชัดเจน จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของประเทศ จึงไม่เห็นด้วยกับการนำมาตรา 44 มาใช้ในกรณีเหมืองทองคำ

และในวันนั้นยังมีความเห็นจากผู้แทน 3 กรม ของกระทรวงการต่างประเทศ คือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ที่เห็นตรงกับกระทรวงพาณิชย์ว่า การใช้มาตรา 44 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศในด้านความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งผลกระทบจะไม่จำกัดเฉพาะจากผู้ประกอบการจากออสเตรเลีย แต่รวมไปถึงผู้ประกอบการและนักลงทุนจากทั่วโลก

วันที่ 15 พ.ย. 2559 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งผลการประชุมวันนั้นให้แก่พลเอก ประยุทธ์ ในเอกสารระบุเนื้อหาครบถ้วน รวมถึงประเด็นที่หน่วยงานไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำก่อให้เกิดผลกระทบหรือไม่ และความเห็นของหน่วยงานต่อความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องจากการใช้มาตรา 44 โดยท้ายหนังสือกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ 2 แนวทาง

“สรุปคือ แนวทางแรกให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน โดยรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สรุป คือ ให้เลือกใช้กฎหมายปกติดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งตอนนั้นก็มีทั้งกฎหมายแร่และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ส่วนแนวทางที่สองคือ ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44  แต่ปรากฏว่า พลเอกประยุทธ์ เลือกใช้แนวทางที่สอง คือใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ”

แม้ถูกฟ้องคดี และหน่วยงานวิเคราะห์ว่าไทยจะแพ้คดี แต่รัฐบาลยังยืนยันจะชนะ

ผลของการไม่ฟังคำคัดค้านในครั้งนั้น ทำให้ประเทศไทยถูกฟ้องร้อง ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็ยังไม่ถูกแก้ไข และที่แย่ไปกว่านั้น คือ ภายหลังจากที่มีข่าวว่า บริษัท คิงส์เกตฯ จะใช้สิทธิฟ้องไทย พลเอก ประยุทธ์ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ที่ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า มาตรา 44 จะทำให้มีอำนาจทุกอย่าง จนไม่ยอมฟังเสียงคำคัดค้านจากใคร

ต่อมา รัฐบาลพยายามออกมายืนยันว่า ไทยมีโอกาสชนะคดีเหมืองทองอัครา ทั้งที่แม้แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม ยังวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นว่า ไทยมีโอกาสสูงที่จะแพ้คดี โดยในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับบริษัท คิงส์เกตฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2560 ซึ่งวันนั้นเป็นการประชุมก่อนที่บริษัท คิงส์เกตฯ จะฟ้องไทย โดยมีการหารือกันว่า ถ้ามีการฟ้องแนวโน้มจะเป็นอย่างไร

ปรากฏว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมในวันนั้นได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า ทางเลือกในกรณีที่ต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก เนื่องจากคำสั่ง คสช. อาจถือเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติภายใต้ทาฟต้า ประกอบกับยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่า การทำเหมืองตามกรณีข้อพิพาท ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยต้องถูกตัดสินต้องชดเชยทางการเงินให้แก่บริษัท คิงส์เกตฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านกฎหมายเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยด้วย

“แม้แต่หน่วยงานอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีความเห็นว่าไทยจะแพ้คดี แล้วทำไมรัฐบาลไทยยังกล้าบอกว่าจะชนะ”

ความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ยังสอดคล้องแนวทางในการแก้ไขข้อพิพาทกับบริษัท คิงส์เกตฯ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอต่อ ครม. ในวันที่ 29 ต.ค. 2562 เพื่อให้ ครม. พิจารณากำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหาใน 4 ทางเลือก โดยทางเลือกที่หนึ่ง คือ กรณีที่บริษัท คิงส์เกตฯ ได้รับการชดเชย ทางเลือกที่สอง กรณีบริษัท คิงส์เกตฯ กลับมาประกอบธุรกิจและได้รับเงินชดเชย ทางเลือกที่สาม กรณีบริษัท คิงส์เกตฯ กลับมาประกอบธุรกิจ และได้รับเงินชดเชยในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน และทางเลือกที่สี่ กรณีไม่เจรจากับบริษัท คิงส์เกต

“ก่อนหน้านี้ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เคยชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีว่า ไทยชนะคดีแน่นอน แต่ในวันที่ 29 ต.ค. 2562 กลับเสนอทางเลือกที่มากถึง 3 ข้อเป็นแนวทางที่ไทยจะแพ้คดีทั้งหมด แสดงว่าการตอบอภิปรายเมื่อ 5 มิ.ย. 2562 เป็นแค่แก้ผ้าเอาหน้ารอดหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไทยกำลังจะแพ้คดี”

เปิดตัวเลขค่าเสียหายสูงถึง 25,350 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้บริษัท คิงส์เกตฯ

นอกจากนี้ ตั้งแต่มีการฟ้องร้อง รัฐบาลยังไม่เคยเปิดเผยค่าเสียหายที่ไทยต้องชดใช้ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับคดีที่รัฐบาลประเทศเวเนซุเอลาได้เวนคืนสัมปทานเหมืองแร่ไปเป็นของรัฐ ทำให้บริษัทเอกชนฟ้องรัฐบาลเวเนซุเอลาต่ออนุญาโตตุลาการ และสุดท้ายรัฐบาลเวเนซุเอลาต้องชดใช้เงินแค่บริษัทเป็นเงิน 42,000 ล้านบาท และจากเหตุการณ์นี้กลายเป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอลา

แต่ประเด็นสำคัญจากคดีรัฐบาลเวเนซุเอลา คือ ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชี้ขาดในคดีเหมืองอัครา คือ ดร.ลอวเรนซ์ เลวี่ ทนายความสัญชาติสวิตซ์เซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ชี้ขาดคดีของประเทศเวเนซุเอลา และจากลักษณะที่คล้ายกับคดีของรัฐบาลเวเนซุเอลา จะทำให้การตัดสินคดีของเหมืองทองคำอัคราจะไม่ย้อนแย้งไปจากบรรทัดฐานที่อนุญาโตตุลาการเคยตัดสินไว้ และเมื่อคำนวณจำนวนค่าเสียหายที่ประเทศไทยอาจต้องจ่ายหากแพ้คดี สูงถึง 25,350 ล้านบาท

“และอย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินว่า พลเอก ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรา 44 นั้น พลเอก ประยุทธ์จึงไม่สิทธิเอางบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนไปจ่าย”

พบยื่นอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ให้บริษัท อัคราฯ 44 แปลง แลกกับการถอนฟ้อง

ต่อมา เมื่อ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เคยอภิปรายเปิดตัวเลขค่าเสียหายที่ประเทศไทยต้องจ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่หลังจากนั้นไม่นานในเดือนกันยายน 2563 มีรายงานว่า บริษัท อัคราฯ ได้รับอนุญาตให้นำผงทองคำและเงินออกขายได้ และยังได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำเพิ่มกว่า 44 แปลง

ซึ่งต่อมา พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงว่า การไฟเขียวให้บริษัท อัคราฯ นำผงทองคำและเงินไปขายนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมของบริษัท ส่วนการออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำ 44 แปลงนั้น เป็นคำขอเดิมที่บริษัทเคยขอไว้เมื่อปี 2546 และเมื่อไทยมีกฎหมายและแผนบริหารจัดการแร่ฉบับใหม่ปี 2560 จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติเพื่อให้บริษัท อัคราฯ ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

“แต่มีเอกสารลับที่ชี้ว่า การที่บริษัท อัคราฯ ได้รับอนุญาตดังกล่าวนั้น ไม่ใช่การให้ปกติ แต่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้กับบริษัท คิงส์เกตฯ เพื่อให้ บริษัท คิงส์เกตฯ ถอนฟ้อง”

โดยจากหนังสือลับที่สุดที่ลงนามโดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 มี.ค. 2563 เรื่องรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกตฯ ในเอกสารระบุว่า บริษัทที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยได้ประเมินแนวโน้มผลการตัดสินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการว่า มีโอกาสที่คณะอนุญาโตตุลาการอาจจะพิจารณาตัดสินให้ประเทศไทยต้องรับผิดชอบต่อมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

“ไม่มีที่ไหนในโลกที่ที่ปรึกษาและทนายความบอกว่า ลูกความจะแพ้คดี ขนาดอนุญาโตตุลาการยังไม่มีคำตัดสินออกมา ก็ประเมินว่าแพ้ ดังนั้น เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไทยไม่มีทางชนะ แล้วพลเอก ประยุทธ์ เอาที่ไหนไปบอกว่าไทยจะชนะ”

จากเหตุนี้ จึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อประนีประนอมยอมความกับบริษัท คิงส์เกตฯ ซึ่งต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมก็มีหนังสือลับที่สุด ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2563 ถึงเลขาธิการ ครม. เพื่อให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมการเจรจากับบริษัท คิงส์เกตฯ ซึ่งการประชุม ครม. ในวันต่อมา (16 มิ.ย. 2563) ที่รับทราบและเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมการหารือก่อนกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับบริษัท คิง์เกตฯ

โดยมติ ครม. วันนั้น ก็ไปปรากฏในเอกสารลับที่สุดรายงานการประชุมวันที่ 18 มิ.ย. 2563 ของคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกตฯ ซึ่งไฮก์ไลท์ในเอกสารอยู่ที่มีข้อความปรากฏว่า หากตกลงกันได้ บริษัท คิงส์เกตฯ ต้องยอมถอนคดีออกจากชั้นอนุญาโตตุลาการ

“เอกสารนี้ชี้ชัดว่า นายกรัฐมนตรีรู้เห็นเป็นใจและทราบมาตลอดว่าไทยจะแพ้คดี และได้มอบหมายให้หน่วยงานไปเจรจาให้ยอมความ มอบนโยบายให้เอาทรัพยากรของประเทศไปประเคน เพื่อให้เขายอมความ ซึ่งย้อนแย้งกับสิ่งนายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์เมื่อ 10 พ.ค. 2559 ว่า สิ้นปีนี้ (ปี 2559) จะต้องไม่เหมืองทองอีกต่อไป”

แต่ต่อมา วันที่ 23 มิ.ย. 2563 นายกรัฐมนตรีก็กลับลำ มอบหมายให้ผู้แทนไทยไปเจรจากับบริษัท คิงส์เกตฯ โดยวันนั้น บริษัท คิงส์เกตฯ มีข้อเสนอ 4 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือ ให้ไทยพิจารณาออกใบอนุญาตต่าง ๆ รวมทั้งให้ไทยแก้ไขปัญหากับการดำเนินการต่อผงโลหะทองคำ ซึ่งก็ปรากฏว่าหลังการประชุมดังกล่าว ไทยก็เริ่มดำเนินการตามที่บรษัท คิงส์เกตฯ ร้องขอ เพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดี

และหลังจากนั้นเพียงแค่ 1 สัปดห์ ในวันที่ 30 มิ.ย. 2563 เจ้าหน้าที่บริษัท อัคราฯ ได้เข้าพบ กพร. เพื่อหารือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบึคำขออนุญาตต่าง ๆ ต่อมาวันที่ 23 มิ.ย. 2563 บริษัท อัคราฯ ได้มีหนังสือถึงอุตสาหกรรม จ.เพชรบูรณ์ เพื่อขอแก้ไขและนำส่งแผนงานและวิธีการสำรวจแร่ทองคำสำหรับคำขออาชญาบัตรพิเศษจำนวน 44 แปลง

ต่อมาวันที่ 27 ส.ค. 2563 ปรากฏความคืบหน้าว่า สำนักงานอุตสาหกรรม จ.เพชรบูรณ์ ได้ติดประกาศ กพร. เรื่องการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ซึ่งระหว่างนั้นวันที่ 10 ก.ย. 2563 บริษัท คิงส์เกตฯ แจ้งผ่านเว็บไซต์ว่า บริษัท อัคราฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้นำผงทองคำและเงินออกจำหน่ายแล้ว

ในที่สุด วันที่ 3 พ.ย. 2563 บริษัท อัคราฯ ก็ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง เนื้อที่กว่า 397,226 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานประจำไตรมาสของบริษัท คิงส์เกตฯ ที่ได้เผยแพร่ผ่านเวบไซต์เมื่อเดือนธันวาคม 2563

ซึ่งที่ดินแปลงนี้ บริษัท อัคราฯ ยื่นขอไปตั้งแต่ปี 2546 ผ่านไปกว่า 17 ปี ที่ไม่มีวี่แววว่าจะได้รับใบอนุญาต แต่พอไทยจะแพ้คดีซึ่งนับจากวันที่บริษัท อัคราฯ มีหนังสือถึง กพร. ใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น ก็ได้รับอาชญาบัตรพิเศษแล้ว ซึ่งเหมือนเป็นการเร่งรัดก่อนที่คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำชี้ขาดออกมา

“เดิมบริษัท อัคราฯ ได้รับสัมปทานแค่ 3,000 ไร่ แต่วันนี้ได้รับอนุญาตสำรวจแร่ทองคำบนเนื้อที่เกือบ 4 แสนไร่ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่า

จิราพร กล่าวด้วยว่า “อย่าอ้างว่ารัฐบาลให้แค่อาชญาบัตรสำรวจ ยังไม่ใช่การให้ประทานบัตรทำเหมือง เพราะจริง ๆ แล้ว การให้สำรวจก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้นำสู่การทำเหมืองในอนาคตแล้ว เพราะการสำรวจบริษัทมีค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุน ไม่ใช่สำรวจแค่เพื่อทราบ ถ้าพบทองก็ต้องมีการดำเนินการต่อ”

หลังจากที่รัฐบาลไทยเปิดทางตามบริษัท คิงส์เกตฯ ร้องขอเพื่อแลกกับการถอนฟ้อง ต่อมา กระทรวงอุตสาหกรรม มีหนังสือลับที่สุด วันที่ 26 พ.ย. 2563 ถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท สรุปสาระสำคัญได้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการอนุญาตเรื่องผงทองคำและเงิน และบริษัท อัคราฯ ได้นำไปขายเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งบริษัท คิงส์เกตฯ ก็ได้ถอนข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับผงทองคำและเงินออกจากคดีแล้ว จำนวน 2 ข้อ มูลค่า 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 44 แปลง เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม คำขอสำรวจแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท คิงส์เกตฯ ในพื้นที่ จ.จันทบุรี จำนวน 2 แปลง มีการร้องเรียนคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ จึงยังไม่มีการอนุญาตได้ และได้แจ้งบริษัท คิงส์เกตฯ ให้ทราบแล้ว

จิราพร กล่าวว่า การให้อาชญาบัตร 44 แปลงแก่บริษัท อัคราฯ ก็มีประชาชนออกมาคัดค้านเพราะกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้าอนุมัติ สรุปแล้วที่พลเอก ประยุทธ์ เคยอ้างว่าเป็นห่วงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ถึงขนาดต้องใช้มาตรา 44 จัดการปิดเหมืองอย่างเร่งด่วน ไม่ฟังข้อทักท้วงใด ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จริงหรือไม่

“มาวันนี้ พอจะยอมก็ให้แบบไม่มีหลักประกันใด ๆ เลยว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการเปิดเหมืองอีกครั้งหรือไม่ หรือที่ผ่านมาเป็นแค่ข้ออ้าง”

เปิดโรดแมป เตรียมยกพื้นที่อีกเกือบ 6 แสนไร่ ให้บริษัท คิงส์เกตฯ เพิ่ม

จิราพร เห็นว่า สถานการณ์นี้บริษัท คิงส์เกตฯ อยู่ในฐานะได้เปรียบร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศตกเป็นลูกไล่ของบริษัทต่างชาติโดยสมบูรณ์แบบ และบริษัท คิงส์เกตฯ ก็จะไม่หยุดแค่นี้ โดยอ้างอิงจากเอกสารรายงานประจำไตรมาสเมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีรายละเอียดที่ระบุว่า บริษัท อัคราฯ ยังมีใบอนุญาตการทำเหมืองแร่รวมถึงคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ใน จ.ชลบุรี ลพบุรี พิจิตร พิษณุโลก ระยอง และสระบุรี ที่เคยขอค้างไว้ รวมเนื้อที่ 579,551 ไร่

“ซึ่งแม้จำนวนนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติจากประเทศไทย แต่พลเอก ประยุทธ์ก็พร้อมจะดำเนินการตามที่บริษัท อัคราฯ ร้องขอ ยอมแล่เนื้อเถือหนังประเทศที่ละชิ้น จนกว่าบริษัท คิงส์เกตฯ จะพอใจและถอนฟ้อง”

โดยในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ในวันนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งที่ประชุมว่า ได้จัดทำร่างแผนงานหรือ Roadmap การประนีประนอมและระงับข้อพิพาทกับบริษัท คิงส์เกตฯ เรียบร้อยแล้ว โดยประกอบด้วยหัวข้อหลักที่จะดำเนินการได้แก่ การขออนุญาตจำหน่ายผงทองคำและเงินที่ค้างในกระบวนการ การดำเนินการเกี่ยวกับคำขออาชญาบัตรพิเศษ คำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม คำขอต่ออายุประทานบัตรแปลงไข่แดง สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน และคำขอต่ออายุประทานบัตรเหมืองชาตรีใต้ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงเดือนเมษายน 2564

“การประชุมครั้งนั้น ได้เผยออกมาว่า นอกจากผงทองคำและเงิน และอาชญาบัตรพิเศษ 44 แปลง ยังมีสิ่งอื่นที่บริษัท คิงส์เกตฯ ต้องการอีก และไทยก็พร้อมที่ประเคนให้ ถ้ารัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ อนุมัติเพิ่มอีกเกือบ 6 แสนไร่ ตามที่หน่วยงานทำโรดแมปไว้ รวมกับที่อนุมัติไปก่อนแล้ว 4 แสนไร่ ก็รวมแล้วมากถึง 1 ล้านไร่ เวลานี้ จึงเรียกว่าเป็นนาทีทองที่ต้องรีบขอ”

“สุริยะ” ยัน บริษัทยื่นขออาชญาบัตรพิเศษก่อนแล้ว ไม่ได้แลกถอนฟ้อง

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงยืนยันว่า เรื่องการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจ 44 แปลงนั้น ไม่ได้เป็นการแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้อง เนื่องจากบริษัทได้ยื่นคำขอไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2548 แต่ ครม. ในขณะนั้น มีมติให้ชะลอการพิจารณาอนุญาตไว้ก่อน เนื่องจากห่วงใยผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และได้มอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาและจัดทำนโยบายแร่ทองคำ โดย สศช. ได้จัดทำนโยบายแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2552

ต่อมา วันที่ 3 มี.ค. 2552 ครม. มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำความเห็นของ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาจัดทำนโยบายแร่ทองคำแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2554 และเสนอ ครม. แต่หลังจากนั้นได้เกิดการยุบสภา จึงได้ส่งเรื่องกลับคืนไปให้กระทรวงอุตสาหกรรม และไม่มีการดำเนินการใด ๆ อีกหลังจากนั้น

ต่อมา ปี 2557 มีข้อร้องเรียนจากประชาชนต่อผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ พลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้า คสช. จึงได้มีคำสั่ง คสช. วันที่ 13 ธ.ค. 2559 ให้ผู้ประกิจการเหมืองแร่ทองคำทุกรายทั่วประเทศ ระงับการประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว ซึ่งเชื่อว่า ใครที่อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลในขณะนั้น เมื่อมีคำร้องเรียนของประชาชนเรื่องสุขภาพ ก็ต้องออกคำสั่งแบบนั้น

แต่ในการออกคำสั่งดังกล่าว ก็ได้ให้คณะกรรมการแร่แห่งชาติจัดทำนโยบายแร่ทองคำ เพื่อให้การทำเหมืองแร่ทองคำสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนด้วย เสนอให้เสนอ ครม. พิจารณา โดยต่อมา ครม. ก็เห็น ชอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 หลังจากนั้น คกก. แร่ ก็มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายแร่ทองคำ

“บริษัท อัครา จึงได้กลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษที่เคยยื่นขอไว้ และกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้อนุญาต ซึ่งเป็นไปตามมติ คกก. แร่แห่งชาติ ไม่ใช่เป็นการแลกเปลี่ยน”

สุริยะ กล่าวเพิ่มว่า ส่วนที่อภิปรายว่ารัฐบาลไทยแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เห็นว่าถ้าเป็นเช่นนั้นบริษัทก็คงไม่มาเจรจา เพราะบริษัทสามารถเก็บเงิน 22,500 ล้านบาท ใส่กระเป๋าได้ทันที ทำไมต้องมาขอแลกอาชญาบัตรที่กว่าจะไปลงทุนทำกำไรได้ ก็ใช้เวลากว่า 25 ปี ถึงจะได้ 22,500 ล้านบาท แต่บริษัทคิดว่าควรดำเนินการต่อเอง เพราะราคาทองคำขึ้นมาสมควร ส่วนเรื่องคดี กพร. ได้ยื่นให้คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการเลื่อนการพิจารณา เพื่อจะได้ปรึกษากัน เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการตามที่กฎหมายรองรับ

นายกฯ ชี้ ข้อมูลฝ่ายค้านยังไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้ข้อยุติ

ด้าน พลเอก ประยุทธ์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายปิดท้ายในประเด็นนี้ว่า ข้อพิพาทเริ่มต้นจากการที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ ใช้ช่องทางกฎหมายระหว่างประเทศฟ้องร้องรัฐบาลไทย เพราะเห็นว่าบริษัทลูกไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลไทยก็ต้องต่อสู้ในสิ่งที่รัฐบาลไทยและประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน ในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม การใช้พื้นที่ต้องสำรวจดูว่าถูกต้องไม่ถูกต้องอย่างไร

ที่ผ่านมาต่อสู้ตามกฎหมายสากล โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปต่อสู้คดี จัดงบประมาณที่ใช้ในการจ้างทนายความและที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นเวทีระหว่างประเทศที่มีพันธสัญญาระหว่าง คือการนำเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ

“สิ่งสำคัญที่อาจกระทบต่อการพิจารณาคดี คือ เอาเรื่องที่อยู่ในชั้นศาลเอาออกมาพูดภายนอก และฝ่ายค้านได้นำมาอภิปรายให้ข่าวกับสื่อหลายครั้ง ซึ่งปรากฏว่าเป็นการคาดการณ์เองทั้งสิ้น เป็นการนำตัวเลขจากข้อมูลที่เป็นข้อเสนอ หรือคำให้การแต่ละฝ่ายที่ไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้ข้อยุติ”

สั่งปิดทุกเหมือง ไม่เจาะจงอัครา ไม่แก้ด้วยอำนาจ

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ใช้คำสั่งมาตรา 44 ระงับการต่อสัมปทานอาชญาบัตรทุกเหมืองในประเทศไทย จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง จากข้อสงสัยของประชาชนที่เรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมมา ถึงแม้ไม่มีข้อยุติอย่างชัดเจน แต่มีหลักฐานจากโรงเรียน ครู จำเป็นต้องตรวจสอบ ไม่ได้ปิดเหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ เพียงเหมืองเดียว แต่การจะต่ออาชญาบัตรต้องแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว และบริษัทไหนที่แก้ได้ตามนั้นก็เปิดเป็นปกติ

“การที่เขาจะได้หรือไม่ได้ อยู่ที่การเจรจาพูดคุย ไม่ได้เสนอประโยชน์ เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ชาติและประชาชน วันนี้เรามี พ.ร.บ.แร่ 2560 ออกมาแล้ว เราสามารถถลุงแร่ ส่งออกแร่เองได้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศมากขึ้น ถ้าเราสำรวจแร่พบ อาจเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตแร่ทองคำ เพราะที่ผ่านมาเรานำไปถลุงแร่ที่ต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งกฎหมายใหม่ให้มีการถลุงแร่ทองอย่างเดียว”

ส่วนที่บอกว่าบริษัท อัคราฯ ขอที่เป็นแสนไร่นั้น เป็นแค่การขอสำรวจ ส่วนดำเนินการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำรวจเจอตรงไหนก็ต้องดูว่าจะอนุญาตได้หรือไม่ และประชาชนจะยอมหรือไม่ และวันนี้ได้นำหลักการสิทธิมนุษยชนในการประกอบการธุรกิจมาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งเท่าที่ทราบบริษัทก็ปรับตัวแล้ว พื้นที่ไหนที่ประชาชนไม่อยากได้บริษัทก็หลีกเลี่ยงอยู่แล้ว

พลเอก ประยุทธ์ ย้ำว่า เรื่องนี้รับผิดชอบในฐานะนายกฯ ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยอำนาจ ด้วยคำสั่ง มีการหารือปรึกษาทั้งฝ่ายกฎหมายและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย เพื่อทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะสุขภาพประชาชน

“มันต้องมีคนเดือดร้อน แต่ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น แต่ต้องจำเป็นในบางอย่าง หลายอย่างเกิดก่อนหน้าผม ทำไมรัฐบาลนี้ต้องมาแก้ ทำไมไม่แก้ให้เสร็จเรียบร้อย ทำไมมาถึงตอนนี้ ถ้าสนใจสักหน่อย ประชาชนต้องการปัญหาอะไรก็แก้ปัญหาให้เขา พร้อมทำอะไรใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยบ้าง โดยเฉพาะทำอย่างไรจะมีรายได้ให้มากยิ่งขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว