วัคซีนโ​ควิด-19 ยื่นจดทะเบียน​วัคซีน​ฉุกเฉินแล้ว 3 บริษัท เพื่อฉีดคนไทย

อย. เผย วัคซีน “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ยื่นขออนุมัติใช้วัคซีนกรณีฉุกเฉินในไทย​รายล่าสุด​ ‘​สธ’. ชี้ ประเทศใช้วัคซีนมีแนวโน้มระบาดลดลง ส่วนไทยแม้ยังไม่มี แต่คุมโรคได้เช่นกัน

เมื่อวันที่​ 9​ ก.พ.​ 2564​ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม​ ​เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา​ (อย.) เปิดเผยว่า​ บริษัทที่เป็นผู้แทน บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ได้ยื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19แล้ว แต่ยังยื่นเอกสารไม่ครบ​ โดยปัจจุบัน​ไทยมี 3 บริษัทที่ยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กรณีฉุกเฉิน​ ได้แก่​ วัคซีนจาก AstraZeneca ขึ้นทะเบียนแล้ว, วัคซีนจาก Sinovac ยื่นขอขึ้นทะเบียนโดยองค์การเภสัชกรรม, วัคซีนจาก Johnson & Johnson ยื่นขอขึ้นทะเบียนโด บริษัท แจนเซน ฟาร์มาซูติเคิล

โดยการยื่นขึ้นทะเบียนใช้วัคซีนกรณีฉุกเฉินจะมีระยะเวลาการใช้ 1 ปี ทุกปีต้องมีข้อมูลมาประกอบเพิ่มเติมในช่วงที่จะมีการต่อทะเบียน และเมื่อมีการนำวัคซีนมาใช้แล้วจะต้องมีการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้เพื่อประเมินความปลอดภัย

สธ. ยึดหลักวัคซีนโควิด-19 ต้องปลอดภัย มีประสิทธิผล

ด้าน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมากกว่า 100 ล้านโดส และเริ่มเห็นว่าอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะต้องติดตามว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เนื่องจากประเทศที่มีการใช้วัคซีนมีแนวโน้มการระบาดของโรคลดลงจริง ขณะที่ประเทศไทยแม้ยังไม่มีการฉีดวัคซีนก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เช่นกัน จากที่เคยพบผู้ติดเชื้อวันละ 700-800 คน ลดลงเหลือประมาณกว่า 100 คน ซึ่งมาจากความร่วมมือของภาครัฐและประชาชนที่ช่วยกันควบคุมโรค

นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องความปลอดภัยวัคซีน แม้วัคซีนโควิด-19 ผลิตออกมาได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี แต่การนำมาใช้ยืนยันว่าต้องมีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล และมีการติดตามผลในระยะยาวเพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น จากการฉีดวัคซีนทั่วโลกในขณะนี้พบว่าวัคซีนทุกตัวมีความปลอดภัยที่สูงมาก ยังไม่มีประเทศไหนที่ต้องหยุดฉีดเพราะอันตราย อาจมีบางคนที่เกิดอาการแพ้ได้ หลังการฉีดจึงต้องสังเกตอาการในสถานพยาบาล 30 นาที ส่วนวัคซีนโควิด-19 ที่จะใช้ในประเทศไทยยึดเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ หากไม่ปลอดภัยจะไม่นำมาฉีดให้คนไทยแน่นอน ขอให้มีความมั่นใจการใช้วัคซีนต้องมีประโยชน์และได้ผลส่วนวัคซีนชนิดไหนดีที่สุดไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากข้อมูลของวัคซีนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันเรื่องสายพันธุ์ ดังนั้น จึงต้องเลือกวัคซีนที่มีความเหมาะสมกับประเทศของตน

“หลายคนถามว่าวัคซีนเป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ ขอชี้แจงว่า หลายประเทศที่แนวโน้มการติดเชื้อลดลงจากผลการฉีดวัคซีน ส่วนประเทศไทยการติดเชื้อลดลงมาจากโซเชียลวัคซีน ซึ่งได้ผลดีกว่าและเสียเงินน้อย คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง และแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เชื้อยังมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายและติดเชื้อได้ โดยเชื้อจะถูกทำลายจนเหลือน้อย ทำให้ไม่เกิดโรค หรือเกิดโรคแต่อาการไม่รุนแรง และมีโอกาสแพร่เชื้อได้น้อยลง ดังนั้น เมื่อฉีดวัคซีนและมีใบรับรองการฉีดแล้ว ยังคงต้องประพฤติตัวเสมือนว่าตัวเองติดเชื้อและแพร่เชื้อได้จึงต้องป้องกันตนเองต่อไป จนกว่าจะมีข้อมูลชัดเจนว่าสามารถกลับเข้าสู่ชีวิตตามปกติได้”

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของการฉีดวัคซีน คือ 1. ป้องกันตนเอง ไม่ให้เจ็บป่วย ลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง 2. ป้องกันการแพร่โรค ดังนั้น หลายประเทศที่ควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ จึงจำเป็นต้องเร่งนำวัคซีนเข้ามาช่วย และ 3. ฟื้นระบบเศรษฐกิจและสังคม เมื่อควบคุมโรคได้แล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS