เวทีสาธารณะ “2 ทศวรรษปัญหากะเหรี่ยงบางกลอยถึงแนวทางแก้ปัญหาชาติพันธุ์” เรียกร้องรัฐ แสดงเจตจำนง ปกป้องและเคารพสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงบางกลอย
วันนี้ (9 ก.พ. 2564 ) ในเวทีเสวนาออนไลน์ “2 ทศวรรษปัญหากะเหรี่ยงบางกลอยถึงแนวทางแก้ปัญหาชาติพันธุ์” อภิสิทธิ์ เจริญสุข ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เปิดเผยข้อมูลแผนการอพยพของชาวบ้านบางกลอย เพื่อกลับขึ้นไปยังป่าใหญ่ใจแผ่นดินว่า มีการประชุมวางแผนกันก่อนวันที่ 8 ม.ค. 2564 โดยเป็นการคุยกันของชาวบ้าน เพราะเดือดร้อน ยื่นหนังสือไปถึงรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีชาวบ้าน 70 คน 36 ครัวเรือน เดินทางขึ้นไปในเวลาตีสี่ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. โดยไม่ได้บอกใคร เพราะเป็นพื้นที่บรรพบุรุษดั้งเดิม ส่วนตนไม่ได้ไปส่ง เพราะต้องรับหน้าที่สื่อสารกับภายนอก
“เราก็รู้ เราสู้มาตั้ง 25 ปี ก็ไม่มีที่ดินทำกิน เราคุยกันว่า 25 ปีนี้ เราอยู่ไม่ได้แล้ว ถ้าประกาศมรดกโลก รู้ว่าจะถูกดำเนินการ เพื่อนผม ที่ออกมาสู้ด้วยกัน เขาบอกว่ามีที่ดิน 40 ไร่ มันจะอยู่ตรงไหน อุทยานฯ บอกมี แต่เจ้าตัวกลับบอกไม่มีเลย โครงการแต่ละโครงการที่ตั้ง บอกว่ามาช่วยเหลือชาวบ้าน 200-300 ล้านบาท พอชาวบ้านไปถาม ได้เดือนละ 300 บาทบ้าง 900 บาทบ้าง แล้วเงินที่เหลือเป็นร้อย ๆ ล้านมันไปไหน ตอนนี้ผมไม่ได้ทำมาหากินอะไร ต้องประสานช่วยพี่น้องข้างบน ผมไม่มีอาชีพ ไม่มีที่ดิน ผมอยู่ที่บ้านบางกลอย อยู่กับพ่อกับแม่ ข้าวพอกินบ้าง ไม่พอบ้าง ลำบากมาก”
อภิสิทธิ์ ยังบอกถึงความกังวลของชาวบ้านที่อพยพขึ้นไป และชาวบ้านในพื้นที่บางกลอยล่างตอนนี้ โดยเฉพาะกรณีที่ชาวบ้านบอกว่า มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำไปปลิวไปแจกในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าเป็นการข่มขู่ เพราะเนื้อหาระบุว่า หากมีใครจะออกมาประท้วงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะดำเนินคดีตามกฎหมาย มีการติดตั้งกล้องดักถ่าย แต่เมื่อถูกกดดันมากขึ้น ชาวบ้านประกาศว่าไม่กลัว แม้จะถูกดำเนินคดีก็ยอม
ด้าน ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ยืนยันว่าปัญหาความเดือดร้อนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยถูกนำเสนอถึงระดับนโยบาย โดยมีการยื่นหนังสือถึง รมว.ทส. ถึง 6 ฉบับในรอบ 1 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้า สุดท้ายวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีฯ ที่กระทรวง ทส. ได้แค่การตั้งคณะทำงานขึ้นมา ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้ถือว่ามาจากการยื่นหนังสือครั้งนั้น แต่เกิดจากการที่ชาวบ้านรอไม่ไหว และเดินกลับขึ้นไปใจแผ่นดิน
เขาบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวง ทส. มีท่าทีปฏิเสธไม่ให้เครือข่ายฯ เข้าไปในพื้นที่ โดยกระทรวงฯ ให้เงื่อนไขว่าต้องมีหน่วยงานรัฐเข้าไปด้วย และต้องมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ดังนั้น จึงคิดว่าต้องมีเรื่องของการชำระประวัติศาสตร์ด้วย เพราะหลักฐานหลายอย่างระบุว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติ
“เราไปดูว่าปฏิบัติการที่อ้างทั้งหลาย ตั้งแต่ปี 2535 ยุทธการบางกลอย จนปี 2539 และปี 2554 ยุทธการตะนาวศรี ซึ่งมันไม่ใช่การอพยพ มันเป็นการเอากำลังไปเผา กดดัน ชาวบ้านบางส่วนต้องหนีกระเซอะกระเซิงไป มีแค่ครอบครัวปู่คออี้ ที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ แล้วสิ่งที่เราพบอันหนึ่งที่มีการเอาธงสีเหลืองมีตราสัญลักษณ์ไปปัก ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำเพื่ออะไร ไม่แน่ใจว่าพยายามทำให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย ต้องผลักดันอพยพชนกลุ่มน้อยหรือไม่ แล้วเอาภาพมาชี้แจงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำให้ถึงบางอ้อว่า ปัญหาของบางกลอยไม่ใช่หมู ๆ แน่ ๆ การไม่ย้อนชำระประวัติศาสตร์ ถึงได้ปฏิบัติกับคนเหล่านี้เหมือนไม่ใช่คนไทย”
แนะรัฐ แก้ปัญหาให้ตรงกับกลุ่มปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย
ประยงค์ ยังระบุถึงกรณีชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติอีกกว่า 100 คน ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ แต่พวกเขามีคุณสมบัติเป็นคนไทยจึงควรได้รับสิทธิเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม อีกทั้ง จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่าสามารถแบ่งกลุ่มชาวบ้านบางกลอยได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ออกนอกชุมชน ไปเรียนหนังสือ ทำงานรับจ้าง ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจไม่กลับมาที่ชุมชนแล้ว
กลุ่มสอง คือ กลุ่มที่อพยพมาปี 2539 ซึ่งรัฐอ้างว่ามีที่ดินทำกิน เข้าสู่โครงการปิดทองหลังพระ แต่มีเครื่องหมายคำถามว่าโครงการเริ่มปี 2556 ถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 88 โครงการ ซึ่งเรากำลังสืบค้นว่าใช้งบประมาณไปเท่าไร เขายืนยันว่ามี 57 ครัวเรือน และเป็นคนที่มีที่ดินเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงโครงการนี้ได้
ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มเปราะบางตั้งแต่ถูกอพยพลงมาไม่มีที่อยู่ในบัญชีอพยพ ไม่มีสัญชาติไทย เป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อคนที่ต้องได้รับการชดเชย ต้องไปอาศัยในที่ดินของคนอื่น โดยรัฐเคยระบุว่ากลุ่มนี้มีประมาณ 44 หลังคาเรือน แต่ในความเป็นจริงเท่าที่เราสำรวจ มีประมาณ 70 ครอบครัว ซึ่งกลุ่มนี้จากการสอบถามความต้องการแบ่งเป็นสองส่วน คือ กลุ่มแรก บอกว่า ถ้าจัดที่ดินให้ข้างล่าง สิ่งที่ต้องการเร่งด่วนก็คือที่อยู่อาศัย ที่ดินถ้าสามารถทำกินได้ก็จะเข้าร่วมโครงการปิดทองหลังพระ ถ้าได้ตามนี้ก็ไม่ประสงค์จะขึ้นไป แต่ อีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่ประสงค์จะกลับใจแผ่นดิน มีหลายเหตุผลมาก ทั้งเรื่องไม่ได้ที่ดินทำกิน อยากกลับไปทำกินตามวิถีบนที่ดินบรรพบุรุษ เพราะปีนี้ครบ 10 ปีแล้ว ถ้ายังรอคอย คงไม่มีความหวัง ต้องตัดสินใจกลับขึ้นไป ซึ่งมีทั้งหมด 36 ครอบครัว
“อยากให้ผู้ฟังที่ฟังอยู่ด้วยใจเป็นธรรม ถ้าเราไม่เคยถูกเผาบ้าน ไม่เคยถูกบังคับให้ออกจากบ้านเรา อย่างพี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ทั้งหลาย ถ้าคุณโดนเผาบ้าน บังคับให้ออกจากที่ดินบรรพบุรุษคุณ กำลังต่อสู้ แล้วลูกหลานถูกอุ้มฆ่า กลับไปจุดนั้น นอกจากนั้น อุทยานฯ บอกว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ บอกว่าจุดที่ชาวบ้านขึ้นไป เป็นจุดเดิมที่เขาเคยทำกิน ฉะนั้น เขาไม่ได้กลับไปบุกรุกป่าแก่งกระจาน แต่เขาไปทวงคืนที่ดิน แม้ว่าคณะทำงานชุดเรา มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอยู่มาก ยกกันมาทั้งกรมอุทยานฯ ซึ่งพวกเรามีกันอยู่ 5 คน และมีฝ่ายอนุรักษ์ที่มีส่วนในการอพยพชาวบ้าน พวกเราก็ต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริง ว่าเขาเดือดร้อนอะไร ต้องการอะไร ตอนนี้สังคมจับตาเรื่องบางกลอยมาก ทำให้ปัญหาของบางกลอยได้รับการเผยแพร่ วันที่ 15 ก.พ. นี้ ก็น่าสนใจว่าภาคี #saveบางกลอย จะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง”
ประยงค์ ระบุ อีกว่า ความกล้าหาญของฝ่ายการเมืองคือสิ่งที่ต้องทำ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ต้องออกมาแสดงท่าที เพราะหากสัญญาณจากฝ่ายการเมืองไม่ชัดเจน ก็ส่งผลต่อกลไกราชการ การเมือง และหน่วยงานระดับสูง ทำให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงเรียกร้องให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาพูดเรื่องนี้ให้ชัดเจน
ยืนยัน “แผนที่” หลักฐานความชอบธรรม กลับ “ใจแผ่นดิน”
วุฒิ บุญเลิศ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ได้นำแผนที่ที่ชาวบ้านบางกลอยร่วมสำรวจและร่างขึ้นมา เพื่อเป็นข้อมูลแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยอยู่อาศัยและทำไร่หมุนเวียนตั้งแต่บรรพบุรุษอยู่จุดใดบ้าง โดยเปรียบเทียบกับแผนที่อุทยานฯ และดาวเทียม เพื่อย้อนเดินทางไปปักหมุดพื้นที่ของบรรพบุรุษ ซึ่งระหว่างเดินทางสำรวจ พบหลักฐานต่าง ๆ ชัดเจน ที่ยืนยันการอยู่มาแต่ดั้งเดิมของชาวบ้าน ทั้งหลุมฝังศพ ถ้วยจานชามสิ่งของที่ใช้มาของบรรพบุรุษ จึงเป็นหลักฐานว่าเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมและควรได้กลับไปอยู่พื้นที่ดังเดิม วุฒิ ยังแสดงความกังวลและตั้งข้อสังเกตของการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อตัดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
“ตอนนี้มีความพยายามตั้งแต่การตัดเส้นทาง บุคคลที่เข้าไปติดต่อสื่อสาร หาทางแก้ปัญหาเริ่มมีอุปสรรคการตัดการสื่อสาร สัญญาณโทรศัพท์หายไปใช้ไม่ได้ในพื้นที่ ปิดการรับรู้ส่งข่าวของชาวบ้าน แผนตัดอาหาร ไม่ให้มีการส่งเสบียง และสุดท้ายตัดศีรษะ คือ ชาวบ้านต้องระวังตัว ตอนนี้มีบางตัดเริ่มเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มองว่าเป็นความคิดที่ล้าหลัง ต้องรีบแก้ไข”
เงื่อนไข “มรดกโลก” สะท้อนภาพชัด ต้องเคารพสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์
สมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ระบุกรณีใบปลิวที่เข้าข่ายข่มขู่นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยนิติรัฐนิติธรรมม ข่มขู่คุกคาม อีกทั้ง การตีความคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่หากไม่ได้ยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ นิติธรรม การตีความก็จะนำไปสู่การละเลยการปฏิบัติ หรือการละเมิดสิทธิชาวบ้าน เช่น การไม่ยอมตั้งคณะกรรมการตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 เรื่องการตีความว่าชาวบ้านมีสิทธิในพื้นที่ดั้งเดิม ถ้าตีความตามตัวอักษร คนในประเทศนี้แทบจะหาที่อยู่ที่ถูกต้องไม่ได้เลย ซึ่งในหลักสิทธิมนุษยชนต้องถือว่าสิทธินี้เป็นสิทธิที่มีอยู่แล้ว และรัฐก็ต้องอำนวยประโยชน์ ไม่ว่าการออกกฎหมาย หรือการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้มีสิทธิอยู่ได้ ซึ่งสิทธิของชาวบางกลอย ก็คือสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะอยู่อย่างดั้งเดิมโดยความสมัครใจ
เขายังระบุอีกว่า ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไม่ได้ หากรัฐไม่มีความเข้าใจในสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่าง เช่น การประกาศให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การบังคับโยกย้าย เพื่อแผ้วถางทางสะดวกให้ผืนป่าแก่งกระจานส่วนนี้เป็นมรดกโลก กลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่มก็มีแนวคิดแบบนี้ ว่าคนอยู่ป่าไม่ได้ ทั้งที่เขาอยู่มาเป็นนับร้อยปีแล้ว พยายามดึงดันเส้นทางนี้ นำคนออกจากป่าให้หมด ผลคือ 10 ปีผ่านไปยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เพราะหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ได้รับการรับรู้ของนานาชาติ หากยังฝืนต่อไป ผืนป่านี้จะไม่มีทางได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแน่นอน
“เจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่าไม่มีกฎหมาย ผมคิดว่ากฎหมายไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสิ่งสำคัญคือเจตจำนงของรัฐบาลว่าจะเคารพสิทธิ ปฏิบัติกับคนเหล่านี้บนหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงแน่วแน่ กฎหมายก็แก้ได้ ที่น่าเสียดายคือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ควรดีกว่านี้ ควรยอมรับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกะเหรี่ยงบางกลอย”
ส่วนกรณีกฎหมายที่สภาชนเผ่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกำลังผลักดันกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์นั้น เขามองว่าเป็นหลักการที่ดี เพราะพูดถึงหน้าที่ของรัฐในการส่งเสริมดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ และสมัชชาที่มาตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและสะท้อนปัญหา แต่หากรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เข้าใจเจตจำนงเคารพปกป้องสิทธิชาติพันธุ์ ก็เป็นเรื่องยากที่กฎหมายจะผ่าน เพราะกระบวนการทางรัฐสภายังไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ปัญหาหรือเสียงสะท้อนจากประชาชน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ มีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลให้หลายเรื่องไม่ได้รับการพิจารณาตามขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตย
ด้าน ภัทรมน สุวพันธ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กรณีกะเหรี่ยงแก่งกระจาน มีงานวิจัยตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงกรณีบิลลี่ถูกอุ้มหาย (พอละจี รักจงเจริญ) เป็นการก่อการร้ายโดยรัฐ กระทำความรุนแรงต่อพลเมืองโดยกลไกอำนาจรัฐ ถูกทั้งเผา ไล่รื้อชุมชน ฆาตกรรมแกนนำ สองคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการเรียกร้องสิทธิ รวมทั้งการกระทำจากหลายส่วน ทฤษฎีชายขอบไม่สามารถอธิบายได้ แต่เป็นถึงการตกขอบ ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่เขาทำอารยะขัดขืนขั้นสูงสุด และภาคภูมิใจที่ชาวบ้านเข้ามาสู้ และได้รับการโอบกอดจากสังคม
ตนจึงอยากเสนอเพิ่มเติมเรื่องวิถีชีวิตกะเหรี่ยง เช่นการสื่อสารถึงชนชั้นกลางว่าโลกทัศน์ของกะเหรี่ยงในการจัดการป่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เขาไม่คิดเรื่องกรรมสิทธิ์เอกชน ทุกอย่างมีสิ่งปกป้องดูแล พื้นที่มีพระแม่ธรณี น้ำมีพระแม่คงคา กะเหรี่ยงเกี่ยวพันกับธรรมชาติตั้งแต่เกิดจนตาย เกิดมาต้องเอาสายสะดือไปผูกต้นไม้ ฝากชีวิตไว้กับต้นไม้ต้นนี้ เวลาจะทำไร่หมุนเวียนต้องขอพระแม่ธรณี และไร่หมุนเวียนมันเป็นเพียงการยืมใช้จากแม่ธรณี ทำเสร็จก็คืนให้ แม้แต่ข้าวก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง คือ แม่โพสพ ฉะนั้น วิธีคิดที่คนเมืองไปพูดแทน คิดแทนเขา มันอาจจะไม่สอดคล้อง
ภัทรมน ยังระบุถึงกรณีที่ กัญจนา ศิลปอาชา (หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา) เคยถามชาวบ้านที่บางกลอยว่า ที่บอกจะขึ้นไปที่ใจแผ่นดิน มีใครจะขึ้นบ้าง ซึ่งทุกคนอยากขึ้นหมดเลย ถ้าเขาอยู่ที่ใจแผ่นดิน ปีหนึ่งเขาลงมาครั้งเดียว เอาพริกกะเหรี่ยงมาแลกเกลือ เพราะเขาผลิตเองไม่ได้ เคยถามชาวบ้านว่า ถ้าให้เลือกระหว่างข้าวสารหนึ่งกำมือกับช้างหนึ่งตัว เขาเลือกข้าวสาร เพราะข้าวคือแกนกลางวิถีชีวิตของเขา การที่เขาขึ้นไปมันเป็นการทวงคืนผืนดินที่บรรพชนเขาเคยอยู่
“อย่างน้อยกรมอุทยานฯ ต้องยอมรับคำสั่งศาลปกครองปี 2561 ในเรื่องการมีอยู่ของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ถ้ามองว่าเป็นพื้นที่ความมั่นคงก็ยิ่งต้องให้การคุ้มครองดูแล เขาเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ได้มาจากพม่า ตอนนี้มีชุดความคิดในการจัดการป่าอยู่ชุดเดียวผ่านคณะวนศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ในระยะยาวต้องปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาของวนศาสตร์ที่มีแต่เรื่องป่า สัตว์ แต่ไม่มีชุมชนอยู่ในโลกทัศน์ของเขาเลย”
นักกฎหมายสิทธิฯ ย้ำ ต้องใช้มาตรการทางนโยบายแก้ปัญหานี้
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์ และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น สะท้อนว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์เผาทำลายชุมชนบางกลอยบนเมื่อปี 2554 ประเทศไทยต้องไปรายงานกรรมการชุดหนึ่งในต่างประเทศ ซึ่งภาคประชาชนได้ทำรายงานคู่ขนานส่งไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องกรณีบางกลอย คณะกรรมการนั้นมีข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลมายังรัฐบาลไทยว่านี่คือการละเมิดและเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะรัฐบาลไทยพยายามบอกว่าปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.อุทยานฯ และคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในเหตุการณ์นั้น กรรมการก็ยังมองว่าเป็นการละเมิดและไม่คุ้มครองชาติพันธุ์ เขาเห็นว่ากลไกระหว่างประเทศทั้งหมดยืนยันตรงกัน ว่ากลไกที่รัฐบาลไทยทำกับชาวบ้านบางกลอยไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน มีการเตือนมาที่รัฐบาลไทยหลายครั้งให้หาทางออกโดยการเคารพสิทธิของคนที่นั่น
“ความเห็นของเขายืนยันว่าไม่สามารถใช้กฎหมายอุทยานฯ เพียงลำพังในการจัดการกับพี่น้องที่นี่ สิ่งสำคัญที่ศาลปกครองชี้ คือให้กลับไปใช้มาตรการทางนโยบาย คือ มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเขียนไว้ชัดเจน และในรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ให้อนุรักษ์และคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์ ถ้ารัฐอ้างว่าไม่มีนโยบาย ตอนนี้อ้างไม่ได้ มติ ครม. 3 ส.ค. เป็นนโยบายแล้ว เมื่อโยงกับมาตรา 70 รัฐต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งกติการะหว่างประเทศก็ยืนยันชัดเจนว่ากะเหรี่ยงบางกลอยมีสิทธิการใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงสิทธิในทางบวก ไม่ใช่ทางลบ”
สุมิตรชัย ยังเห็นด้วยว่าการแก้ไขปัญหาไม่ควรใช้กลไกของอุทยานฯ เพียงลำพัง ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพราะพัฒนาการกฎหมายตั้งแต่ปี 2539 จนถึงตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงไป มอง ณ ปัจจุบัน สิทธิต่าง ๆ ที่กฎหมายคุ้มครอง จะเป็นจุดตั้งต้นในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รัฐต้องวางกฎหมายอุทยานฯ ลงก่อน แล้วใช้นโยบายมาประกอบ ตัวกฎหมายอุทยานฯ เขียนเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องสอดคล้องกับพันธะสัญญาที่ไทยเป็นภาคี ปฏิเสธไม่ได้ ต้องเอากติการะหว่างประเทศมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาด้วย เพียงแต่ว่ารัฐบาลไทยจะตั้งหลักตรงไหน เป็นหน้าตาของประเทศด้วย และตอบสนองต่อข้อเสนอขององค์กรระหว่างประเทศ
ด้าน สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ย้ำว่า มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายยืนยันว่าบ้านบางกลอย (บน) และใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม คำพิพากษาของศาลปกครอง สูงสุดคดีเผาทำลายชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยปี 2554 ก็ชี้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรื่องการเผาบ้าน, รัฐทำผิด พ.ร.บ.อุทยานฯ เพราะขั้นตอนตามมาตรา 22 ต้องมีการแจ้งเตือนชาวบ้านก่อน แต่กลับไม่มี เข้าเผาทำลาย รวมทั้งไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
“ในมติ ครม. 3ส.ค. 2553 บอกชัดเจนให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยมีนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานเรื่องวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน นักสังคมวิทยา มานุษยวิทยาด้วยเพื่อกำหนดขอบเขตแก้ปัญหาข้อพิพาท ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการตั้งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในปี 2561 ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องปฏิบัติตามมติ ครม. นี้ด้วย การไปตั้งกรรมการคณะทำงานชุดล่าสุดที่มีการตั้งภาคประชาชนเข้าไปด้วย ไม่ได้เป็นไปตามมติครม.นี้ ดังนั้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ควบคู่ไปด้วย”