“สมเกียรติ TDRI” ชี้ ไทยอาจใช้เวลาอีกนาน คุมโควิด-19 เหตุรัฐยังจัดการแบบบริหารราชการปกติ

แนะ อยากเห็นรัฐตื่นตัวมากขึ้น พร้อมระบุ เห็นด้วยกับข้อเสนอคุมระบาดที่สมุทรสาคร โดยการฉีดวัคซีนทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ เปิดช่องให้นายจ้างร่วมจ่าย

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์เฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich ถึงสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า การติดตามข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะข้อมูลไม่ครบถ้วนและให้ภาพที่แตกต่างกัน ขณะที่การสื่อสารของรัฐก็ยังไม่เป็นระบบและให้ข้อมูลที่ละเอียดมากพอ ทำให้ยังมีคำถามต่อการรับมือของประเทศไทยที่เป็นอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่ และเมื่อพยายามกลั่นกรองจากข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้เชื่อว่า การระบาดที่ จ.สมุทรสาคร น่าจะยังอยู่ในขาขึ้นไม่ใช่ขาลง และน่าจะยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการควบคุม

“เพราะแม้แต่กรณีของสิงคโปร์ ซึ่งเคยมีการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยกว่าในประเทศไทย ก็ยังต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนในการแก้ปัญหา ทั้งที่มีการลงทุนต่าง ๆ มากมายเช่น การสร้างหอพักใหม่ให้แรงงานต่างด้าวอยู่”  

และจากสถานการณ์ที่ จ.สมุทรสาคร น่าจะทำให้การควบคุมการระบาดในประเทศไทยโดยรวมต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน และเชื่อว่ายากที่จะสามารถควบคุมการระบาดในวงกว้างครั้งนี้ด้วยวิธีการตรวจสอบและคัดแยกผู้ติดเชื้อแบบเดิม ที่เคยประสบความสำเร็จในการระบาดรอบแรก โดยทางออกในการแก้ปัญหา น่าจะหนีไม่พ้นการใช้ตัวช่วยที่สำคัญคือ วัคซีน

“ผมมีความเห็นว่า การบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีลักษณะเหมือนการบริหารราชการปกติ (business as usual) มากกว่าการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์เร่งด่วน เช่น ศบค. ก็ประชุมกันเพียง 2 สัปดาห์ต่อครั้ง”

เขากล่าวด้วยว่า อยากเห็นรัฐบาลตื่นตัวในการแก้ไขปัญหามากขึ้น โดยเสนอให้เร่งตรวจสอบและคัดแยกผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครด้วยความเร็วที่มากกว่านี้ โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในวงกว้าง หากเห็นว่าเกินกว่าขีดความสามารถของภาครัฐจะดำเนินการได้เองโดยลำพัง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปมาก

มีการสื่อสารอย่างชัดเจนเป็นระบบ เช่น แสดงแผนที่การตรวจและการระบาดในสมุทรสาครทุกวัน โดยแจ้งจำนวนการตรวจ และอัตราการพบผู้ติดเชื้อ และอธิบายแนวทางในการจัดการเมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้ว จัดทำและประกาศ Road Map ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยโดยรวม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทราบสถานการณ์ตามความเป็นจริง และทราบแนวทางในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมที่ทำงานกับแรงงานต่างด้าวสามารถช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาได้มากขึ้น 

“ที่สำคัญ เมื่อภาคธุรกิจและประชาชนได้ทราบ Road Map และจังหวะเวลาในการแก้ไขปัญหาแล้ว ก็จะสามารถวางแผนธุรกิจและวางแผนชีวิตของตนได้ดีขึ้น”

เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม นอกเหนือจากส่วนที่ได้สั่งจองไปแล้ว ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้ และแน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อการทำให้ทุกคนได้รับการป้องกันและมีความอุ่นใจที่จะดำเนินชีวิตตามปกติ  โดยควรตั้งเป้าให้สามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยครบทั้งหมดภายในปี 2564 นี้ รวมทั้งเร่งจัดทำแผนในการฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยจัดลำดับว่าจะฉีดให้แก่กลุ่มใดก่อน นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง

“ในประเด็นนี้ ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของบางฝ่ายที่ว่า ควรเร่งฉีดในจังหวัดที่มีการติดเชื้อในระดับสูง เช่น สมุทรสาครก่อน โดยฉีดให้แก่แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยในกรณีของแรงงานต่างด้าว รัฐบาลอาจให้นายจ้างช่วยออกค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนบางส่วนด้วยก็ได้”

และเร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะส่วนที่ยังไม่มีนายจ้าง ซึ่งยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก โดยยังน่าจะตกหล่นอยู่หลายแสนคน เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์และบริหารความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว