ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เข้าเจรจาเดินหน้าบังคับคดี บ.ทุ่งคำ ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบในพื้นที่ ก่อนเริ่มเดินหน้าฟื้นฟูเหมืองเลย
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2564 ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย เดินทางร่วมประชุมกรรมการเจ้าหนี้ 5 ราย ที่กรมบังคับคดี กรุงเทพฯ เพื่อเดินหน้าบังคับคดีกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยเจ้าหนี้ทั้ง 5 รายที่เดินทางร่วมเจรจาในวันนี้ คือ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.), สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), Deutsche Bank (ธนาคารดอยซ์ แบงก์) และบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้กรมบังคับคดีนำยึดและตรวจสอบทรัพย์สินนอกบัญชี ในพื้นที่เหมืองฯ ว่ามีมูลค่าหรือไม่ หากมี จะมีการนำสินแร่ที่เหลืออกขายทอดตลาดอย่างไร เพราะหากไม่มีมูลค่า ชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เดินหน้าวางแผนเพื่อทำการฟื้นฟู
ตัวแทนชาวบ้านระบุว่า ก่อนหน้านี้ ช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการซื้อขายสินทรัพย์ 190 ถุง เมื่อ 25 ธ.ค. 2563 เคยมีบุคคลภายนอกติดต่อจะขอซื้อสินทรัพย์นอกบัญชี ซึ่งสินแร่ส่วนใหญ่เป็นกองดิน กองหิน ที่อยู่บริเวณโดยรอบตัวเหมืองฯ ซึ่งอยู่นอกบัญชีและยังไม่ถูกตีค่าและนำเข้าสู่การจัดการตามกฎหมาย ชาวบ้านคาดว่าสินแร่นี้ อาจมีมูลค่าพอสมควร ทำให้ไม่วางใจและกังวลว่าอาจส่งผลกระทบหรือเกิดความเสี่ยงกับชุมชน เช่น อาจมีการลักลอบเข้าไปในเหมือง สร้างความไม่สงบ และเกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2557
ชาวบ้าน จึงขอความอนุเคราะห์ให้กรมบังคับคดี ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านสินแร่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ และประเมินว่ากองดินและกองหินดังกล่าว มีมูลค่าหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการได้ตามกฎหมายและเร่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งกรมบังคับคดีรับเรื่องไว้และจะทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ถึงกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบตามข้อเสนอ
และในที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลทรัพย์สิน ในระหว่างการนำยึดทรัพย์ ตรวจสอบ และนำทรัพย์ออกขายทอดตลาด โดยกำหนดเวรยามรับผิดชอบวันละ 4 คน มีค่าแรงให้คนละ 350 บาทต่อวัน พร้อมทั้งมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ซื้อทรัพย์สินในรอบใหม่นี้จะต้องรับผิดชอบในการบำบัดสารพิษที่ตกค้าง และฟื้นฟูร่วมกับชาวบ้าน หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบตรงนี้ด้วย ซึ่งเป็นมติในที่ประชุม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้าน ทนายความ และนักวิชาการ ได้เข้าประชุมกับคณะกรรมการกลางอำนวยการเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกเหมืองแร่ทองคำฯ ของจังหวัด เพื่อเสนอเรื่องนี้ รวมถึงเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของกรรมการฟื้นฟู ให้เกิดความสมดุลระหว่างหน่วยงานราชการและชาวบ้าน เพราะเกรงว่าหากสัดส่วนของภาครัฐมีมากกว่า การวางแผนฟื้นฟูและตัดสินใจอาจมีความเอนเอียงและไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะแผนที่รัฐเสนอนั้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเชิงเทคนิคเพียงด้านเดียว ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากเหมืองมีมากกว่าสิ่งแวดล้อม เพราะมีเรื่องของระบบนิเวศทั้งระบบ สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน มีความเสี่ยงสูงที่ต้องแบกรับทั้งเรื่องปากท้อง สุขภาพ เศษฐกิจ และความเสี่ยงสูงจากการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งผู้เข้าร่วมประชุมในวันนั้น ยกตัวอย่างกรณีของคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จะเห็นว่าการแก้ปัญหาจากรัฐที่ไม่มีการสร้างการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านและคนในพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้ ยังใช้งบประมาณที่เยอะและไม่เกิดผล
“เช่นเหมืองคลิตี้ ที่หน่วยงานรัฐมีแผนเสนอ และจ้างเอกชนมาดูแล มันจะใช้งบประมาณที่เยอะ ซึ่งเห็นเลยว่ามันมีผลประโยชน์ จังหวัดเลย หากเปลี่ยนศูนย์กลางจากรัฐมาเป็นชาวบ้าน หน่วยงานราชการเองอาจจะไม่ยอม จึงทำให้เป็นอุปสรรค ถ้ารัฐถอยออกไปนิดหนึ่งให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม นี่ก็จะเป็นโมเดลเริ่มต้นของไทย ที่จะเอาไปเป็นแบบตัวอย่างในการฟื้นฟูในหลาย ๆ พื้นที่ได้ ”
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังยืนยันว่าแผนฟื้นฟูต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ชาวบ้านร้องเรียนไป ทั้งเรื่องการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสินแร่ที่อยู่นอกบัญชี และสัดส่วนจำนวนกรรมการ ที่สมดุล หากไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องอาจจะต้องทิ้งไว้ และให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง