อธิบดี คพ. ระบุ พบ ปนเปื้อนในตะกอนดินและน้ำ 7 จุด ในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 จ.ฉะเชิงเทรา มีองค์ประกอบตรงกับโรงงานต้องสงสัยใกล้อ่างฯ
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยกับ The Active กรณีการตรวจสอบหาต้นตอปนเปื้อนโลหะหนักในตะกอนดินและน้ำ อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ตามพระราชดำริ (ห้วยสำโรงตอนบน) จ.ฉะเชิงเทรา ภายหลังเข้าตรวจสอบ บริษัท ทีเอชเอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด โรงงานต้องสงสัย ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร อยู่ในโครงการสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 2 เป็นโรงงานประกอบกิจการลำดับที่ 43(1) ผลิตโมลิบดีนัมออกไซด์ และเฟอร์รัส โมลิบดีนัม โดยแร่เหล่านี้นำเข้าจากต่างประเทศ มีชาวจีนเป็นเจ้าของกิจการ ผลผลิตที่ได้ทั้งหมด ส่งออกต่างประเทศ
จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานมีการระบายน้ำทิ้งออกสู่รางระบายน้ำด้านหน้าโรงงาน 1 จุด และตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้ง พบว่า ค่าทองแดงเท่ากับ 317.569 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ประมาณ 150 เท่า ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมมาตรฐานการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน
นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษยังได้เก็บตะกอนดินและน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนฯ ไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีกหลายจุด โดยครั้งนี้ นอกจาก ทองแดง ตะกัว นิเกิล แมงกานีส ที่เคยตรวจสอบว่าเกินค่ามาตรฐานน้ำผิวดิน น้ำมีค่าความเป็นกรดสูงแล้ว ยังตรวจพบโมลิบดีนัมบริเวณอ่างฯ ถึง 7 จุด ซึ่งมีองค์ประกอบตรงกับโรงงานทีเอช เอชฯ และยังเป็นแร่หลักสำคัญในกระบวนการผลิตของโรงงานด้วย โดยอธิบดีกรมควบคุมลพิษยืนยันข้อมูลนี้ด้วยตนเอง
“เราเก็บองค์ประกอบของสารเคมีในโรงงาน เปรียบเทียบกับองค์ประกอบของอ่างเก็บน้ำบางตัว เช่น โมลิบดีนัม มีองค์ประกอบที่เหมือนกัน ผมยังให้ตรวจสอบคุณภาพของดินและน้ำที่อยู่รอบ ๆ โรงงานไปจนถึงอ่างเก็บน้ำ เพื่อดูระหว่างทางจากโรงงานไปถึงอ่างเราตรวจหมดเลย ตรวจกระจายทั้งพื้นที่ เพื่อดูความสัมพันธ์ของการรั่วไหล”
สำหรับคดีนี้ สถานีตำรวจภูธรเขาหินซ้อน ยุติการสอบสวนไปแล้วตั้งแต่ ปี 2562 หลังมีการสอบพยานปากคำ ทั้งหมด 14 ปาก และไม่พบหลักฐานที่จะเชื่อมโยงหาผู้กระทำความผิดได้ อีกทั้งอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา ยังยืนยันว่าก่อนหน้านี้ ที่เคยเข้าไปตรวจสอบโรงงานดังกล่าว ไม่พบความผิดปกติเช่นกัน จนกระทั่งมาพบหลักฐานใหม่ และนำมาสู่การสืบสวนสอบสวนอีกครั้ง
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุอีกว่าได้ยื่นหนังสือ กล่าวโทษที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา และหน่วยงานกลางรับคดีนี้อยู่ในความดูแล และจะสอบสวนหาต้นตอผู้กระทำความผิดและที่มา ว่าทำไมโมลิบดีนัม แร่สำคัญในกระบวนการผลิตของโรงงานต้องสงสัย ไปโผล่ที่อ่างเก็บน้ำได้อย่างไร
“ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความกรุณาในการช่วยเหลือทางคดี ซึ่งเราเองก็ไปกล่าวโทษ ที่ บก.ปทส. เพื่อให้หน่วยงานกลางเข้ามาสอบสวนสืบสวนดำเนินคดี เพราะมันเป็นเรื่องของการรวบรวมหลักฐานว่าไปเชื่อมโยงกันได้อย่างไร นำมาสู่การรื้อฟื้นและสอบสวนเพิ่มเติม”
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติปัญหาลักษณะนี้ หากการทำงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเดินหน้าต่อได้ แก้ไขได้ ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ประชาชนได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ ก็ไม่ต้องไปอาศัยหน่วยงานกลาง แต่เนื่องจากกระบวนการที่มีอยู่ตอนนี้ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องดึงหน่วยงานกลางเข้ามาช่วย และเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่อยากให้เกิดขึ้นโดยไม่มีการแก้ไข เพราะโครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องในพระราชดำริ และปัญหานี้ยังนำเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งจะมีอำนาจโดยตรงในการสั่งการตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลชัดเจนขึ้น มีทุกกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้องสั่งการได้เร็วขึ้น นำมาซึ่งการตามหาต้นตอของผู้กระทำความผิดมารับโทษ และรับผิดชอบในการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบทั้งหมดทางคดีแพ่งและอาญา