เปิดตัวเลข 415 โรงเรียน ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง

‘ครูจุ๊ย กุลธิดา’ ระบุ ลดทอนโอกาสเข้าถึงการศึกษาเด็กกว่า 35,000 คน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แนะ ศธ. – ทส. ร่วมจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความปัญหาการศึกษาเด็ก หลัง พิมพ์พรรณ สรัลรัชญ์ หรือ “พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์ เผยแพร่คลิปทุ่มเงิน 500,000 บาท ให้เด็กบนดอย บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ให้มีไฟฟ้าใช้ด้วยการนำแผงโซลาร์เซลล์ขึ้นไปติดตั้ง ซื้อโทรทัศน์ จัดหาอุปกรณ์สร้างแปลงผัก และสิ่งของอุปโภคบริโภคให้แก่เด็ก ๆ และกลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงวิธีการช่วยเหลือดังกล่าว ว่าถูกต้องและสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของเด็กบนดอยหรือไม่

กฎหมายป่าไม้ ปัจจัยสร้างปัญหาการศึกษา

กุลธิดา ระบุว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลเข้าไม่ถึงการศึกษา คือ ปัญหาจากตัวบทกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดในชุมชนป่า ซึ่งหากเป็นพื้นที่ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ที่ขณะนี้มีมากถึง 1,221 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 60.38 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.50 ของที่ดินทั้งหมด (ประเทศไทยมีที่ดินป่าสงวน 320.7 ล้านไร่)

คุณอยู่บนพื้นที่ประเภทนี้ แน่นอนว่าคุณไม่ได้รับอนุญาตให้ “เข้าทำประโยชน์” บนพื้นที่ป่าสงวน นั่นหมายรวมถึงโรงเรียนและไฟฟ้า

ส่วนพื้นที่อีกประเภท คือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีประชาชนอยู่ในพื้นที่ประเภทนี้ 4,192 ชุมชน ซึ่งวิธีการแก้ปัญหา คือ กรมอุทยานฯ ต้องอนุญาตให้ “ใช้ประโยชน์” จากพื้นที่ก่อน ซึ่งปัจจุบันทำการอนุญาตไปเพียง 3.7 ล้านไร่เท่านั้น

โรงเรียนของคุณจึงต้องอยู่แบบตามมีตามเกิด ไฟที่ใช้จึงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะติดตั้งง่าย ไม่ต้องขอไฟฟ้าตามระเบียบ ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ใช้

เธอระบุอีกว่า แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2536 ผ่อนผันให้ดำเนินการไปก่อนได้ โดยเป็นกรณีของส่วนราชการ โครงการพระราชดำริ หรือโครงการเพื่อความมั่นคง และต้องให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ ขณะที่ประชาชนไม่อยู่สมการนี้

ส่วนกระบวนการขออนุญาตตัดถนน เดินสายไฟฟ้า ต้องทำไปทีละพื้นที่ ด้วยความระมัดระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีขั้นตอนทางกฎหมายและนโยบายมากมาย

จากอคติที่มองคนในพื้นที่ว่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แทนที่จะรับรองสิทธิการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตามวัฒนธรรมประเพณี และส่งเสริมให้เขาช่วยปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติรอบชุมชน กลายเป็นต้องทำให้ชุมชนขาดแคลนทั้งอำนาจในการจัดการทรัพยากร และลดทอนโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ๆ

เปิดตัวเลข เด็กกว่า 35,000 คน ที่กำลังมีปัญหา

กุลธิดา เปิดตัวเลขเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ว่า ตัวเลขที่ประมาณคร่าว ๆ คือ 35,000 คน โดยจากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 พบว่า มีโรงเรียนสังกัดสพฐ. ในเขตป่าสงวน จำนวน 14  แห่ง ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต อีกจำนวน 291 แห่ง แจ้งเบอร์โทรศัพท์แบบมือถือ ส่วนอีก 160 แห่งที่เหลือ คือไม่มีสัญญาณอะไรเข้าถึง และมากถึง 415 แห่ง ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

เมื่อมีปัญหาแบบนี้ เด็กและโรงเรียนใช้ชีวิตกันอย่างไร กุลธิดา ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตรอยต่อ จ.สุพรรณบุรี และ จ.นครปฐม โดยพบว่า โครงสร้างโรงเรียนทำกันเองในหมู่บ้าน ซื้อน้ำมันเพื่อปั่นไฟใช้เอง สัญญาณโทรศัพท์ต้องเดินออกไปหาตามจุดที่มีเสาสัญญาณ และการเดินทาง คือ 3 ชั่วโมงโดยรถ จึงจะถึงตัวเมือง หากเข้าช่วงฤดูฝนจะเลวร้ายกว่านี้

และเมื่อโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม โรงเรียนในพื้นที่เหล่านี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด พ่อแม่จะทำมาหากินได้หรือไม่ หาของป่าก็ไม่ได้ อาชีพอื่น ๆ ก็หาทำยากขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ นักเรียนจะไปโรงเรียนได้หรือไม่ และโรงเรียนทั้งหมดประมาณ 700 กว่าแห่ง (หากเฉลี่ยโรงเรียนละ 50 คนจากเด็ก 35,000 คน) ซึ่งยังขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต

สพฐ. จะจัดการกลุ่มโรงเรียนแบบนี้เช่นไร คือ โจทย์ท้าทาย ลำพังการจัดการหาข้าวหาน้ำตามเงินรายหัว 20 บาทที่ได้รับคงไม่เท่าไหร่ แต่คุณภาพการศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์ เรียนผ่านทางไกล จะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้ายังมีโรงเรียนเช่นนี้อยู่

กุลธิดา เห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องร่วมกันจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบ โดยตั้งเป้าหมายชัดเจน เช่น ภายในปี 2565 จะมีโรงเรียนกี่โรงมีไฟฟ้าใช้ มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่หากไม่ทำเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมก็จะไม่เกิดขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว