กศน. อมก๋อย ห้ามบุคลากร โพสต์โซเชียลเรื่องการบริจาค

ระบุ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ‘ชมรมค่ายอาสา จุฬาฯ’ ชวนสนับสนุนร่างกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เผยแพร่ประกาศศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อำเภอ อมก๋อย เรื่อง การสร้างความเข้าใจในการใช้สื่อโซเชียล ระบุข้อความว่า จากการที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบทั้งผลดีและผลเสียต่อหน่วยงาน

เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมิให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ จึงขอให้บุคลากรในหน่วยงานห้ามโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการรับบริจาคผ่านโซเชียลหรือช่องทางอื่น ๆ ทุกช่องทาง, ห้ามโต้ตอบหรือแสดงความคิดเห็นในแง่ลบผ่านสื่อโซเชียล และงดรับบริจาคทุกประเภทจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายอื่น ๆ

โดย The Active พยายามติดต่อไปยัง ศูนย์ กศน. อมก๋อย เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถติดต่อตามช่องทางต่าง ๆ ที่ให้ไว้ได้

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว ลงวันที่ 9 ม.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันเสาร์ หลัง พิมพ์พรรณ สรัลรัชญ์ หรือ “พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์ เผยแพร่คลิป “สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง” ช่วงค่ำวันศุกร์ที่ 8 ม.ค. 2564 ทุ่มเงิน 500,000 บาท ให้เด็กบนดอย บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ให้มีไฟฟ้าใช้ ด้วยการนำแผงโซลาร์เซลล์ขึ้นไปติดตั้ง ซื้อโทรทัศน์ จัดหาอุปกรณ์สร้างแปลงผัก และสิ่งของอุปโภคบริโภคให้แก่เด็ก ๆ

โดยหลังการเผยแพร่คลิปดังกล่าว ก็กลายเป็นประเด็นร้อนในทั้งในโซเชียลมีเดียและสื่อต่าง ๆ มีทั้งการชื่นชมที่เธอเข้าไปช่วยเหลือเด็ก ๆ และการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการมองจากสายตาคนชั้นกลาง ที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตและปัญหาของคนบนดอย พร้อมตั้งคำถามถึงวิธีการช่วยเหลือที่อาจไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริง ทำให้เธอออกมาถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊กอีกครั้ง เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 10 ม.ค. ยืนยันถึงเจตนาดีที่ต้องการช่วยเหลือเด็ก ๆ

ชวนสนับสนุนร่างกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ

ด้าน ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชาวไทยภูเขา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Hill Tribe Club CU – ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชาวไทยภูเขา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญชวนประชาชนผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย ร่วมลงชื่อสนับสนุน “ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ….” ระบุว่า การบริจาคในชุมชนพื้นที่ทุรกันดาร เป็นภาพที่เห็นมานาน สะท้อนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองหลายกลุ่ม ยังคงประสบปัญหาสิทธิในสัญชาติ สิทธิด้านสุขภาพ และสาธารณสุข สิทธิในที่ดินทำกินและการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ การเข้าถึงระบบการศึกษา และบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ

เพื่อให้เป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบ จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐไทยจะต้องมีการรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะพลเมือง ดำเนินการจัดสรรทรัพยากรให้แก่พวกเขาอย่างเท่าเทียม ตลอดจนกระจายอำนาจสู่ชุมชน ให้พวกเขามีโอกาสได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตด้วยตัวของพวกเขาเอง จึงขอเชิญชวนร่วมกันลงชื่อเพื่อยกร่าง “พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …” ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว