ตรวจสอบ รง. แร่โมลิบดีนัม รอบ 3



รองผู้ว่าฯ ระบุ เชื่อมโยงโลหะหนักที่พบในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 โครงการต่อเนื่องในโครงการพระราชดำริ รอผล คพ. ยืนยันอีกครั้ง



(6 ม.ค. 2564)  คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนกากของเสียอุตสาหกรรมบริเวณอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในฐานะคณะกรรมการร่วมตรวจสอบ ซึ่งวันนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีสำรวจโรงงานฯ ก่อนจะมีการประชุมระดมข้อมูล  ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ภูสิน เกตานนท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานข้อมูลจากการตรวจสอบโรงงานฯ ในที่ประชุม  เมื่อวันที่ 22 และ 29 ธันวาคม 2563  สรุปว่า โรงงานฯ มีการจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบการควบคุมมลพิษยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานมีกลิ่นเหม็นฉุน เศษวัสดุ (แร่) ตามพื้นภายในภายนอกอาคาร มีร่องรอยของน้ำเสียไหลสู่ภายนอกโรงงาน รางระบายน้ำไม่ทราบทิศทางการไหล  สร้างระบบบำบัดน้ำเสียและขุดบ่อสังเกตุการณ์น้ำบ่อบาดาลโดยไม่ขออนุญาต จึงมีคำสั่งครั้งแรกให้โรงงาน ปรับปรุง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตัวเองอีกครั้ง และยังพบว่าโรงงานยังไม่ได้ปรับปรุงตามคำสั่งทั้งหมด 



กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีการเก็บตัวอย่างตะกอนดิน น้ำ กาก ในโรงงานไปตรวจวิเคราะห์ อีกทั้งยังมีการตรวจตะกอนดินจากอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 เพิ่มเติม ซึ่งครั้งนี้มีการตรวจหาสารโมลิบดีนัมในอ่างเก็บน้ำฯ อีกด้วย ซึ่งสารตัวนี้เป็นวัตถุดิบหลักของโรงงานต้องสงสัย ขณะที่กรมควบคุมมลพิษรายงานในห้องประชุมเพิ่มเติมว่า พบค่าทองแดงในท่อระบายมีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 150 เท่า ขณะที่โมลิบดีนัมไม่มีค่ามาตรฐาน แต่ก็พบในปริมาณที่สูงเช่นเดียวกัน

สรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนกากของเสียอุตสาหกรรมบริเวณอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ระบุว่า โลหะหนักที่ตรวจพบในอ่างเก็บน้ำฯ ที่มีค่าเกินมาตรฐานในระดับที่สูงมีความสอดคล้องกับโลหะหนักที่รั่วไหลออกนอกโรงงาน โดยเฉพาะทองแดง และโลหะบางตัวไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

“โลหะหนักที่พบหลายตัวสอบถามเจ้าหน้าที่แล้วยืนยันว่าไม่พบในธรรมชาติ และถึงพบก็ไม่มีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐาน มีโรงงานที่เดียวที่เกี่ยวข้อง กระบวนการล้างแร่ มีสารเคมีประกอบในการล้างหลายตัว และพบเหมือนกับอ่างเก็บน้ำ”



อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 มีการตรวจสอบพบการปนเปื้อนโลหะหนัก แอมโมเนีย ทองแดง ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี นิกเกิล เกินค่ามาตรฐานตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2562 ชาวบ้านในละแวกอ่างเก็บน้ำฯ 50 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบ ใช้น้ำไม่ได้ มีการแจ้งความดำเนินคดี แต่ก็ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน จึงยุติการสอบสวน

ส่วนการฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำต้องใช้งบประมาณสูง จึงยังไม่มีหน่วยงานไหนและงบประมาณในการฟื้นฟู มีเพียงการนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดตามหลักวิชาการ แต่ทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ชาวบ้านได้รับการเยียวยาโดยมีการขุดเจาะบ่อบาดาลให้ แต่ยังใช้การได้เพียงแค่พื้นที่เดียวเท่านั้น ส่วนการตรวจเลือดหาสารโลหะหนักในร่างกายไม่พบความผิดปกติ  จนกระทั่งชาวบ้านร้องเรียนว่าพบน้ำผุดสีเขียวรอบอ่างฯ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว  และค่าความเป็นกรดในน้ำไม่ลดลง นำมาซึ่งการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานต้องสงสัยอีกครั้งโดยลงพื้นที่ตรวจสอบรวมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 แล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส