เสร็จแล้ว! กฎหมายซ้อมทรมานฯ หลัง กมธ. ประชุม 29 ครั้ง หวังผ่านสภาต้นปีหน้า

เสร็จสิ้นการพิจารณากฎหมายป้องกันซ้อมทรมานฯ ‘ประธาน กมธ.’ ย้ำ กฎหมายเป็นไปตามอนุสัญญา ‘โรม’ ลั่น อาจเป็นกฎหมายที่ดีที่สุด เพื่อคุ้มครองประชาชน และเจ้าหน้าที่ คาดเข้าสภาต้นปีหน้า

วันนี้ (22 ธ.ค. 2564) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ แถลงผลการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการฯ หลังจากมีการประชุมพิจารณารายมาตรามากถึง 29 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมลักษณะความผิด และสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องการซ้อมทรมานและอุ้มหายทั้ง 2 ฉบับ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก รวมถึงสื่อมวลชนที่ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นองค์กรในระดับสากล ยังให้ความสำคัญติดตามร่างกฎหมายฉบับบนี้เช่นเดียวกัน กมธ. จึงตั้งใจที่จะทำกฎหมายฉบับนี้อนุวัติตามอนุสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไทยเป็นภาคีอย่างสมบูรณ์

ชวลิต กล่าวว่า เหตุที่ต้องให้ความสำคัญ และใช้เวลาพอสมควรในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมีการแก้ไขในหลายมาตรา เพราะมีกฎหมายที่เสนอเข้ามาทั้งสิ้น 4 ร่าง คือ 1. ร่างของคณะรัฐมนตรี 2. ร่างของคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ 3. ร่างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และ 4. ร่างของนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

“กรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญต่อการรับฟังความเห็นของประชาชน ที่ผ่านมามีการติดตาม รับฟัง เข้าสังเกตการณ์จากประชาชนอยู่ตลอดเวลา และกรรมาธิการต้อนรับเสมอ ทำให้มีความคิดก้าวหน้าในเชิงบวก เพื่อให้กฎหมายคุ้มครอง ป้องกันใน 2 ส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชน หากเจ้าหน้าที่กระทำถูกต้องก็จะเป็นเกราะป้องกันการทำงานให้ด้วย…”

ชวลิต วิชยสุทธิ์

ชวลิต กล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้ ออกมาเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ในการกระทำทรมาน หรือบังคับให้บุคคลสูญหาย แต่หากเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่โดยชอบ กฎหมายย่อมคุ้มครอง เราได้มีการบัญญัติลงไปในกฎหมาย ถึงการมี ‘กล้องบันทึกการทำงาน’ กำหนดให้ไม่สามารถอ้างได้ว่า ‘สูญหาย’ หรือ ‘ไม่มีประสิทธิภาพ’ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ในการจับกุมบุคคลสำคัญ แต่ครั้งนี้ได้นำเรื่องนี้บัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย

ในขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่าการพิจารณากฎหมายฉบับนี้สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากคณะกรรมาธิการฯ ทุกคน รวมถึงหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการร่างกฎหมายนี้ให้ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประชาชนมากที่สุด ถึงแม้ในการประชุมกรรมาธิการฯ อจมีการสงวนความเห็นในบางประเด็น แต่หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาทุกท่านในวาระต่อไป

“กรณีเหตุการณ์ที่เกิดใน จ.นครสวรรค์ เป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้เราลงมือพิจารณากฎหมายฉบับนี้ หากผ่านสภาฯได้ ผมยืนยันว่าจะเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง ที่จะทำให้สังคมจะปลอดภัย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และทำให้องค์กรต่างๆ ที่มีข้อครหามากมายได้รับความโปร่งใส จะเป็นคุณูปการกับทุกฝ่ายในสังคม แม้จะเห็นต่างกัน ทะเลาะกันมาก่อนก็ตาม… “

รังสิมันต์ โรม

สำหรับกระบวนการพิจารณากฎหมายต่อจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณารายงานร่างฯ ในวันที่ 5 ม.ค. 2565 หากครบถ้วนสมบูรณ์ จะนำเข้าสู่การพิจาณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยระเบียบข้อบังคับการประชุมฯ หากเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว จะถูกบรรจุเป็นเรื่องแรก ในวาระการประชุม แต่ต้องตรวจสอบว่ามีเรื่องที่คณะกรรมาธิการฯ ชุดอื่น พิจารณาค้างอยู่หรือไม่ หากยังมีต้องพิจารณาหลังจากนั้น และเมื่อเสร็จในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าสู่การพิจารณาในของวุฒิสภาต่อไป คาดว่าจะเข้าสู่สภาฯได้ ในต้นเดือนมกราคมปี 2565 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้