ชงมาตรการ​ Area Quarantine​ กระตุ้น​เศรษฐกิจ

ส.ส.เชียงรายเสนอ​ จำกัดพื้นที่ ฟื้นการค้าชายแดน ชี้​ ระบบสาธารณสุขยังรองรับ​ ย้ำ ชาวบ้านไม่กลัวติดโรค​ แต่กลัวไม่มีกิน

วันนี้ (9 ธ.ค. 2563) นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ​ ส.ส.จังหวัดเชียงราย เขต 1 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า​ การเตรียมความพร้อมของระบบสาธารณสุขสะท้อนถึงองค์ความรู้เรื่องโรคระบาด โควิด-19 ที่มีมากขึ้นจากการระบาดครั้งก่อน หลายคนยังจำความเจ็บปวดได้ถึงผลกระทบจากการล็อกดาวน์​ เมื่อเกิดการพบติดผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนอีกครั้งก็เกิดความกลัว​ แต่ความกลัวของคนส่วนใหญ่​ คือ กลัวจะตกงาน กลัวจะไม่มีกินเหมือนครั้งก่อน ตรงนี้ต้องหาจุดสมดุลให้ได้ เพราะอย่างไรต้องทำให้คนรู้สึกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะไม่เป็น​ 0​ อีกต่อไป​

“การบริหารจัดการโครงการในต่างประเทศหลังจากผ่านช่วงล็อกดาวน์​ครั้งแรกไป​ คือการปรับตัวที่จะอยู่กับเชื้อ​ให้ได้​ เพราะทุกคนเพราะทุกประเทศต่าง ๆ ปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกับเชื้อได้​ สำหรับประเทศไทยถ้าเปรียบเป็นคนไข้ หากนอนซมเป็นผู้ป่วยติดเตียงนาน​ ก็จะฟื้นตัวยาก”

ส.ส. เชียงราย ระบุอีกว่า เราอาจต้องอยู่กับ​โควิด-19 ไปอีก 2 ปี แม้จะมีวัคซีนแต่ก็ต้องครอบคลุมประชากรให้ได้ทั้งหมด 80 % ถึงจะหยุดการระบาด ขณะนี้ประเทศโดยรอบวาง แผนในการเปิดประเทศให้มีการติดต่อเชื่อมผ่านไปมาได้ แต่ประเทศไทยยังปิดพรมแดน เป็นเรื่องผิดธรรมชาติมาก ๆ​ วิถีชีวิตคนชายแดนเดินข้ามไปมา ทำให้เกิดการลักลอบเข้า​ การเปิดพรมแดนหรือมีช่องทางพิเศษที่จะรับคนเข้ามาผ่านกระบวนการกัดตัวนั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

นอกจาก State Quarantine แล้ว ในเชิงธุรกิจอาจทำเป็น Area Quarantine เหมือนอย่างในต่างประเทศที่สโมสรฟุตบอลมักทำกัน​ ท​ำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงการแข่งขัน ซึ่งจะต้องมีการตรวจเชื้อก่อนเข้ามาในพื้นที่และในระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ไม่ใช่การกักตัว แต่เป็นการจำกัดพื้นที่เอาไว้ให้สามารถทำกิจกรรม​ต่าง ๆ​ ซึ่งส่งผลดีทางเศรษฐกิจ​ ทั้งนี้ รูปแบบดังกล่าวต้องได้รับการยอมรับจากชุมชน​ และให้ชุมชนมีส่วนร่วม

สำหรับจังหวัดเชียงราย​ สัดส่วนของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทย และชาวจีน แต่ชาวจีนไม่ได้มีผลกระทบกับเชียงรายมากเท่าเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นการจะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ระหว่าง 3 พรมแดน คือ ไทย​ เมียนมา​ และลาว

กระทรวง​สาธารณสุข​ ระบุภาพรวมเขตสุขภาพที่ 1 มีทรัพยากรรองรับ อาทิ ห้องแยกความดันลบ 215 ห้อง, ห้องแยกโรค 304 ห้อง, ICU และ NICU 517 เตียง, โรงพยาบาลสนาม 1,741 เตียง (กรณีมีการระบาด), มีสถานที่กักกัน 29 แห่ง รองรับได้ 2,083 คน, มีหน้ากากอนามัย จำนวน 5.1 ล้านชิ้น, หน้ากาก N95 จำนวนกว่า 5 หมื่นชิ้น, Face shield 1.2 แสนชิ้น, Cover all จำนวน 6.5 หมื่นชุด, เสื้อกาวน์กันน้ำ จำนวน 2.9 หมื่นชุด และถุงมือยาง จำนวน 1.8 ล้านชิ้น เพียงพอต่อการใช้งานมากกว่า 3 เดือน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS