นักกฎหมายสิทธิฯ เตรียมฟ้องกลับ จนท. ทั้งอาญาและปกครอง

เหตุใช้อำนาจไม่ชอบ ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิดตัวเลขนับตั้งแต่ 18 ก.ค. มี 119 คดี 220 คน ระบุ แกนนำไม่กลัวถูกคดี แต่กลัววิธีการนอกระบบ

วันนี้ (8 ธ.ค. 2563) เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แถลงข่าวเปิดตัว “ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” ระดมนักฎหมายจาก 8 องค์กรกฎหมายทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก หลังพบมีการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ใช้กฎหมายปิดปากประชาชน และมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลหลายกรณี ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา

เปิดตัวเลขทั้งหมด 119 คดี 220 คน

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 4 เดือน 20 วัน โดยนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. ที่มีการชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาจนถึงเมื่อค่ำวานนี้ (7 ธ.ค.) ที่มีการดำเนินคดีต่อกลุ่มการ์ด We Volunteer หลังเข้าไปรื้อลวดหนามบริเวณแยกอุรุพงษ์ ทำให้มีคดีเกิดขึ้นแล้วทั้งหมด 119 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดจำนวน 220 คน

ในจำนวนนี้ มีการดำเนินคดีต่อเด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 7 คดี มีเด็กถูกดำเนินคดีทั้งหมด 5 คน โดยคนแรก อายุ 17 ปี โดน 2 คดี ด้วยมาตรา 116 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากเหตุโควิด-19

คนที่สอง อายุ 17 ปี โดน 2 คดี ด้วยข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมและบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ ส่วนคนที่ 3-5 อายุ 16-17 ปี อยู่ชั้น ม.4-ม.6 ด้วยข้อหาฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากเหตุการณ์ชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 15 ต.ค.

ส่วนพื้นที่เกิดเหตุ พบเป็นคดีในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และภาคกลาง ทั้งหมด 87 คดี เป็นคดีในพื้นที่ภาคเหนือ 15 คดี และภาคอีสาน 11 คดี

เมื่อแยกตามประเภทข้อหา พบมีคดีจากการฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 56 คดี 149 คน, ข้อหาผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 21 คดี 30 คน, ข้อหาผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 12 คดี, ข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวน 17 คดี 53 คน, ข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 11 คดี 24 คน โดยกรณีนี้ หมายเรียกเริ่มออกมาหลังจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม และข้อหาสุดท้ายคือ ตามกฎหมายอาญามาตรา 110 ประทุษร้ายพระราชินี จำนวน 5 คน

ส่วนหมายจับมีทั้งหมด 83 หมายจับ แยกเป็นหมายจับตามมาตรา 116 จำนวน 56 หมายจับ, มาตรา 110 จำนวน 3 หมายจับ และหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 17 หมายจับ ในกรณีนี้ยังพบว่ามีการจับกุมในที่ชุมนุมหรือการจับซึ่งหน้าโดยไม่มีหมายจำนวน 56 คน จากการชุมนุมของราษฎรอีสานเมื่อวันที่ 13 ต.ค. และการจับกุมตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันที่ 15-16 ต.ค.

เมื่อดูข้อมูลเฉพาะแกนนำหลัก พบว่า พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 21 คดี ในจำนวนนี้เป็นข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 7 คดี, อานนท์ นำภา 14 คดี เป็นมาตรา112 จำนวน 3 คดี, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง 10 คดี เป็นมาตรา 112 จำนวน 4 คดี, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง 12 คดี เป็นมาตรา 112 จำนวน 2 คดี และชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์ แกนนำราษฎรนนทบุรี 16 คดี ครึ่งหนึ่งเป็นข้อหาตามไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

เตรียมฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ ใช้อำนาจไม่ชอบ

ในส่วนการทำงานเชิงรุก ระบุว่า จะดำเนินการฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ทั้งในคดีอาญาและคดีปกครอง โดยในส่วนคดีอาญา พรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) จะไปแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อให้เอาผิดพนักงานสอบสวนของ สน.ชนะสงคราม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 กรณีที่เจ้าพนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานที่ละเอียดเพียงพอจนมีการฟ้องคดีประชาชน 2 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม แต่กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหา จนทำให้กลายเป็นผู้มีประวัติอาชญากร

นอกจากนี้ ยังเตรียมฟ้องคดีปกครองต่อเจ้าหน้าที่จากเหตุการสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. เพื่อให้ศาลปกครองตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ และขัดกับหลักการใช้สิทธิและเสรีภาพตามมาตรฐานสากลหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีการต่อศาลแพ่งให้ตรวจสอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเมื่อกลางเดือน ต.ค. ที่นำไปสู่การสลายการชุมนุม ซึ่งศาลได้รับฟ้องแล้ว

ไม่กลัวการใช้กฎหมาย แต่กังวลการใช้วิธีการนอกระบบ

ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรณีที่มีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้งนั้น มีข้อสังเกตว่าศาลยุติธรรมไม่ได้มีการออกหมายจับ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่จะมีการออกหมายจับ และมีข้อเสนอต่อสถาบันตุลาการว่า ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เพราะเป็นเรื่องการเมือง การแก้ปัญหาก็ควรใช้กระบวนการทางการเมือง การใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมและกำจัดสิทธิเสรีภาพไม่ใช่ทางออก แต่กลับมุ่งไปสู่ความรุนแรงมากกว่า

ส่วนข้อกังวลต่อสถานการณ์ทางคดีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแตกต่างจากหลังรัฐประหาร ทำให้แกนนำไม่ได้กลัวกฎหมาย แต่กลัววิธีการนอกระบบ ไม่ได้กลัวบทบัญญัติของกฎหมาย แต่กลัวการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ

“แกนนำไม่ได้กลัวกฎหมาย แต่สิ่งที่เขากังวล คือ วิธีการนอกระบบมากกว่า อย่างที่เห็นแกนนำโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย เขาไม่ได้กลัวคุก แต่เขากลัววิธีการนอกระบบ ซึ่งเราก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือเปล่า”

ส่วนกรณีการดำเนินคดีต่อเด็กนั้น วิธีพิจารณาคดีก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเด็ก แต่ก็พบว่ากระบวนการที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเด็ก พร้อมเรียกร้ององค์กรด้านสิทธิเด็กให้ออกมาปกป้องสิทธิเด็ก ทั้งที่เด็กออกมาเรียกร้องสิทธิในการมีอนาคตที่ดี ไม่ควรต้องให้เด็กต้องเจอกระบวนการทางกฎหมายที่มองเขาเหมือนเป็นนักโทษการเมือง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว