ปรับตัวหารายได้เสริม ขายผลิตภัณฑ์เกษตรผ่านโซเชียล เสนอ อสม. ปูพรมสแกนทุกชุมชน เรียกความเชื่อมั่น กลับคืน จ.เชียงราย
วันนี้ (7 ธ.ค. 2563) ‘ผกากานต์ รุ่งประชารัตน์’ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ผู้ประกอบการร้านกาแฟบนดอยผาหมี อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังจากโควิด-19 ระบาดรอบแรก ต้องปิดร้านตามมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่เดือน มี.ค. - พ.ค. เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อเริ่มเปิดเมื่อเดือน ก.ค. ก็ประคับประคองร้านมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ค่อยมีลูกค้า จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงต้นเดือน พ.ย. เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมา เมื่อทุกอย่างกำลังจะดีขึ้นเพียง 3 สัปดาห์ ก็พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายแรกในจังหวัดเชียงราย ที่ลักลอบข้ามแดนมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
เธอบอกว่าภาระที่เคยลงทุนไว้ก่อนหน้านี้ วางแผนว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง ก็ทำให้ต้องขาดทุนซ้ำ จึงต้องการให้รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า โควิด-19 ไม่น่ากลัวและสามารถป้องกันได้ เข้ามาท่องเที่ยวได้ ขอเสนอว่าให้เรียกความเชื่อมั่นด้วยการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ตรวจสแกนพื้นที่อย่างละเอียด แล้วติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ความปลอดภัย เป็นรายชุมชน แต่ยืนยันจะเดินหน้าธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนต่อไป โดยใช้มาตรการทางสาธารณสุข เธอบอกอีกว่าส่วนตัวไม่กลัวโรคโควิด แต่ก็มีมาตรการป้องกันเป็นอย่างดี
“ถ้าถามถึงการปรับตัว หลังมีโควิด ก็รู้แล้วว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิม เอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงมองหาผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่จะสามารถขายออนไลน์ เช่น ส้ม ผลไม้ที่ปลูกกันเยอะในพื้นที่ผาหมี ก็สามารถนำมาขายออนไลน์สร้างรายได้ในช่วงโควิดทดแทน แต่รายได้ส่วนนี้ยังถือว่าไม่มีสัดส่วนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับภาระหนี้สิน ที่นำมาลงทุนก่อสร้างธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน”
ด้าน ‘ศรินรัตน์ พฤกษาพันธ์ทวี’ ชาวอาข่า ผู้ประกอบการ ภูฟ้าซาแจะ โฮมสเตย์ บอกว่า นักท่องเที่ยวขอเลื่อนห้องพักเกิน 50% แต่ไม่สามารถคืนเงินมัดจำได้ ทำให้แต่เพียงเลื่อนวันเข้าพัก กลัวว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ ลูกจ้างจะได้รับผลกระทบ เพราะต้องจ่ายค่าจ้างทุกเดือน
“ที่ผ่านมาก็เห็นรัฐบาลช่วยเหลือเยียวยามีทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่กระตุ้นการท่องเที่ยว รวมไปถึงการพักชำระหนี้ แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่จะไม่กล้าเข้ามา วอนสื่อมวลชนบอกถึงความปลอดภัยที่มีอยู่ ในสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ด้วยว่าสามารถมาท่องเที่ยวได้และทำตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเต็มที่”
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังมีนักท่องเที่ยวจาก กทม. บางส่วนมาเที่ยว จ.เชียงราย แม้จะรู้ข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อ จากการสอบถามนักท่องท่องจากท่องเที่ยวจาก กทม. กล่าวว่า วางแผนไว้ว่าจะมาในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่ก่อนทราบข่าว แต่หลังทราบข่าวก็ไม่ยกเลิกแผนท่องเที่ยวที่เชียงราย เพราะหาวันลาได้ยาก และมีความเชื่อมั่นในมาตรการทางสาธารณสุขของชุมชน
“อีกใจหนึ่งก็อยากช่วยผู้ประกอบการในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งรู้ดีว่าได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน มองว่าแหล่งท่องเที่ยวชุมชนธรรมชาติ มีพื้นที่บริเวณกว้างสามารถรักษาระยะห่างได้ และที่นี่ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ไม่เคยมีผู้ติดเชื้อหรือเป็นสถานที่เสี่ยงสัมผัส ก็คิดว่าไม่ควรจะเหมารวม จนเกิดความกลัวจนเกินไป วันนี้เข้ามาพร้อมกันทั้งครอบครัว มั่นใจว่าหากป้องกันตนเอง ตามที่แพทย์แนะนำ หน้ากากอนามัย บ้างมือบ่อย ไม่ไปที่แออัด จะช่วยป้องกันโรคได้”