“ทุกคนล้วนติดถ้ำ” ชวนสังคมกู้ภัยผู้คนออกจากถ้ำ

รีวิวภาพยนตร์สารคดี ติดถ้ำ ผ่านเสวนา Doc Talk กู้ภัยถ้ำครั้งที่ 2 วิเคราะห์ วิจารณ์ จากผู้เชี่ยวชาญ 5 สาขาวิชาชีพ

เสวนา Doc Talk: กู้ภัยถ้ำ ครั้งที่ 2 หนึ่งในกิจกรรมเปิดตัวภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ” (The Caved Life) โดย The Active ไทยพีบีเอส และความร่วมมือจาก Documentary Club ชวนผู้ชมพูดคุยหลังรับชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ พร้อมมุมมองของนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมจากปมปัญหาที่อยู่ในท้องเรื่องของตัวละคร

ผศ.ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เดิมทีคนคิดว่าสารคดีอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้มีองค์ประกอบทางการเล่าเรื่อง โครงเรื่องเหมือนการทำภาพยนตร์ เป็นเรื่องจริงที่ใช้องค์ประกอบของเรื่องแต่ง จะเห็นได้ว่าทุกเรื่องมีตัวละครศูนย์กลาง แต่โลกข้างนอกพวกเขา คือ คนชายขอบทั้งสิ้น

เขาบอกว่า สารคดีพาไปแคปเจอร์เรื่องจริงของคนบางคน เรื่องบางเรื่องที่เลือกมานำเสนอ ตามทิศทางการเล่าของผู้กำกับ อาจมีการ Set Up ไม่เป็นไปตามธรรมชาติทั้งหมด แต่ก็มีคุณค่าในเรื่องของตัวเอง โดยยกตัวอย่างเรื่อง “น้ำวน” ที่ทุกอย่างยังวนอยู่ที่เดิม การใช้สารเคมียังคงดำรงอยู่ แม้จะมีการแบนสารเคมีก็ตาม รวมถึงสภาวะชนบทของประเทศไทย

“คนแก่เลี้ยงเด็ก สะท้อนการดึงคนจากพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรเชิงเดี่ยว หรืออุตสาหกรรมการเกษตร และวกกลับมาพูดถึงการแบนสารเคมี คนที่แบนไม่ใช่คนใช้ คนใช้ยากจะเปลี่ยนแปลง ขณะที่คนรุ่นหลานก็ที่ไม่มีสิทธิ์เลือกอะไรเลย หนังมันทำให้เกิดข้อแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากมาย แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการปะทะระหว่างเรื่องของปัจเจกบุคคลกับนโยบายภาครัฐ”

ผศ.ภาสกร บอกอีกว่า หากต้องการจะใช้ศิลปะขับเคลื่อนสังคม แนวคิดนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดแต่เกิดมานานแล้ว แต่เครื่องมือทางศิลปะ หนัง ละคร จะทำงานได้แต่ไม่อยู่โดดเดี่ยว เพราะแม้เป็นสิ่งดี แต่ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อะไรมาก ต้องอาศัยเครื่องมืออื่น ๆ ที่ใหญ่กว่ามัน หรือพามันไปขยับเขยื่อนปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี บอกว่า ตอนแรกตั้งใจจะมาพูด แต่พอดูแล้วพูดไม่ออก ตอนที่ตัวละครพูดว่า “ค้านกันอยู่นั่นแหละ มาดูชีวิตจริงสิ” พอมาดูชีวิตจริงเราจะเห็นอะไร คือ สิ่งที่ผู้กำกับอธิบายให้เราเห็นนั่นเอง ดึงเราออกจากสมรภูมิทางความคิด นโยบายต่าง ๆ สู่ความจริงที่ชีวิตคนต้องเผชิญ มันยังปนเปื้อน

“วังน้ำวนในความหมายของหนัง ผมมองว่าเป็นเหมือนถ้ำขนาดใหญ่ที่หลุดไม่พ้นการแก้ปัญหาที่ไม่ไปไหน เพราะเราไม่เห็นความจริงทั้งหมด ในความเป็นจริงยังมาอีกหลายประเด็นต่อเนื่องจากเคมีการเกษตร ทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจครัวเรือน การออกมาจากปัญหาเหล่านั้นก็ยังไม่มีแนวทางชัดเจน แต่หวังว่าหนังเรื่องนี้จะถูกส่งต่อไปเผยแพร่ที่อื่นรวมถึงมีการนำเสนอเนื้อหาต่อเนื่องเพื่อขยายประเด็นที่กว้างขึ้น”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า เขาเกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น ตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อนเพื่อทำงานเรื่องภัยพิบัติ อย่างเรื่องปางหนองหล่ม หินถล่มตอนเกิดแผ่นดินไหว ก็เคยไปในพื้นที่นั้น จึงเข้าใจบริบทพื้นที่มากขึ้นแต่ก็ยังกังวลถึงเนื้อหาที่ยังไม่ชัดเจน

“เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจมากกว่า สำหรับเรื่องของสมาชิกทีมหมูป่าที่ติดถ้ำ แล้วกลายเป็นกระแสทั่วโลก เป็นเรื่องที่โด่งดังและได้รับความสนใจเพราะว่าปัญหาชัดกว่า ความน่ากลัวชัดกว่า มีตัวละครชัดเจน และยังมีข้อเร่งเร้าของช่วงเวลาที่ทำให้ทุกคนร่วมหนุนไปพร้อมกัน แต่กังวลว่าทั้ง 4 เรื่องนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกสนใจ”

อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 4 เรื่องตั้งอยู่บนหลักการ ตั้งอยู่-ดับไป ซึ่งต้องช่วยกันถกเถียง ขบคิด ซึ่งวิธีการชวนคุยแบบนี้ เชื่อว่าจะช่วยขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ต่อไปได้ และเกิดผลสำเร็จ

ด้าน ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส บอกว่า จากการลงพื้นที่ทำข่าวเมื่อสองปีที่แล้วในเหตุการณ์สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีติดถ้ำ เราพบว่า พื้นที่นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง แต่บางเรื่องไม่สามารถทำข่าวได้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ เมื่อมีโอกาสหยิบประเด็นเหล่านั้นมาผลิตเป็นภาพยนตร์สารคดีจึงตั้งใจที่จะสื่อสารกับสังคม

“ในแวดวงการทำหนังสารคดีแบบนี้มีโอกาสที่จะทำไม่มากนัก ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยพีบีเอสได้ทำ สะท้อนหลายเรื่องที่เราไปเห็นอยู่ตรงนั้น ว่าทำไม เรื่องราวของชาวนาที่ช่วยรองรับน้ำไม่ถูกติดตามต่อ เราจึงตั้งใจไปถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้ เรารู้ว่าชีวิตของเขาก็ไม่ต่างจากเด็กติดถ้ำ แต่พวกเขาไม่รู้หรือลืมว่าตัวเองก็ติดถ้ำ พวกเราทุกคนตรงนี้ติดถ้ำอยู่หรอเปล่า แต่ไม่รู้สึกว่าตัวเองติดถ้ำ เพราะคิดว่าตัวเองก็ใช้ชีวิตต่อไปได้”

ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมฯ ยังบอกอีกว่า ถึงแม้ว่าหนังเหล่านี้จะมีเพียงตัวละครหรือประเด็นทางสังคมเพียง 4 เรื่อง แต่ในความเป็นจริง ยังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังต้องติดตามต่อ อยากให้นำภาพยนตร์เหล่านี้ไปฉายในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อขยายต่อการรับรู้และชวนสังคมแก้ปัญหาไปพร้อมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้