ไทยเผชิญฝุ่น แบบไม่รู้ตัวมากกว่า 20 ปี

นักวิจัยจาก 28 หน่วยงาน จับมือตั้งกลุ่มวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย แก้ปัญหาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ PM 2.5

วันนี้ (23 พ.ย. 2563) ผู้เชี่ยวชาญจาก 5 หน่วยงาน และ 23 มหาวิทยาลัย ร่วมมือกันตั้งโครงการภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย หลังปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ คือ ปัญหาใกล้ตัวและมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ไทยเผชิญมานานกว่า 20 ปี

องค์การอนามัยโลก รายงานว่ามะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของการเสียชีวิตทั่วโลก ปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 8.8 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 6 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลก โดยมะเร็งปอดคิดเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 1.69 ล้านคน

แม้ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการรักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคระบบทางเดินหายใจในประเทศไทยจะยังไม่ชัดเจน แต่คาดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะมีส่วนช่วยให้กรมควบคุมมลพิษออกมาตรการในการควบคุมมลพิษทางอากาศ และลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐได้หลายล้านบาท มีการประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคมะเร็งตกคนละ 2 ล้านบาทโดยประมาณซึ่งความเป็นจริงอาจสูงกว่านี้หลายเท่า

ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกมีผลทำให้หลายชาติหันมาสนใจผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทยและภูมิอากาศโลก ที่เริ่มมีความแปรปรวนของฤดูกาล อุณหภูมิของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขุึ้น และปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงมลพิษทางอากาศที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่มี 28 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา ลงนามความร่วมมือวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย เพื่อลดปัญหาและวางแผนพัฒนาประเทศ และมีเป้าหมาย สร้างนักวิจัยด้านบรรยากาศ 5-10 ปีข้างหน้า

ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ความสำคัญของการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ซึ่งรวมถึงคุณภาพอากาศ พบว่าประเทศไทยมีผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ทำให้งานวิจัยที่ได้กระจัดกระจาย ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหา ที่เกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 เพราะปัญหานี้มันซับซ้อนเกินกว่าหน่วยงานเดียวจะทำ ความร่วมมือครั้งนี้จะมีวัถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำแผนที่นำทางของการวิจัยแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดสร้างห้องปฎิบัติการกลาง เร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูล สร้างนวัตกรรม พัฒนาบุคลากร และการผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ปกรณ์ เพ็ชรประยูร หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เปิดเผยว่าจิสด้าเก็บข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าประเทศไทยเผชิญฝุ่นละอองขนาดเล็ก และฝุ่น PM2.5 มายาวนาน ขณะที่ ภาพถ่ายดาวเทียมบางส่วนระบุแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้น PM2.5 ของไทย ปี 1998-2016 มีค่าความเข้มข้นกระจุกในพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ จังหวัดน่าน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮองสอน ซึ่งอยู่ในจุดเสี่ยงค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานมานาน 20 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติที่เก็บมาตั้งแต่ไทยยังไม่มีการนำเครื่องมือวัดเข้ามาเมื่อ 2-3ปีก่อน ที่เพิ่งจะมีเครื่องวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมานาน เช่น เหตุการณ์ในกรุงลอนดอน เมื่อปี 2495 เกิดหมอกควันสีดำอมเหลืองปกคลุมทั่วพื้นที่กลางกรุงลอนดอนของประเทศอังกฤษ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้คร่าชีวิตประชาชนไปมากถึง 12,000 คน และหลายประเทศก็ต่างเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ รวมถึงประเทศไทยเอง มีปัญหามลพิษมานานกว่า 20 ปี และก็เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ปริมาณฝุ่น PM10 และ PM2.5 ที่เป็นปัญหาประจำทุกปี

ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ระบุ ภาคใต้มักเกิดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และภาคเหนือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์