ชวนทุกฝ่ายแก้ปัญหาให้คนพิการ ทั้งการเข้าถึงข้อมูล เดินทาง และกาบัตรเลือกตั้ง ให้คนพิการ 1.7 ล้านคน มีสิทธิ์ใช้เสียง
วันนี้ (11 พ.ย. 2563) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของเครือข่ายคนพิการ เพื่อสร้างโอกาสและการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนพิการ ในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย หวังลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งและโอกาสทางการเมืองของคนพิการ
สุภวัฒน์ เสมอภาค ผู้ประสานงาน องค์การคนพิการสากล ระบุว่า ที่ผ่านมาคนพิการไม่ได้รับความสะดวกในการลงคะแนนเสียงในคูหาเท่าที่ควร เนื่องจากตนเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ต้องนั่งวีลแชร์ และต้องใช้ปากแทนการใช้มือจับปากกา หากต้องก้มตัวลงกากบาทเพื่อลงคะแนนเสียงด้วยตนเอง มีความเสี่ยงสูงที่จะกาไม่ตรงช่องและกลายเป็นบัตรเสียที่เสียคะแนนโดยปริยาย การแก้ปัญหาคือต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยยกโต๊ะ แทนการก้มตัว
แต่ที่ผ่านมาพบว่า เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการเข้ามายุ่งเกี่ยว อาจเพราะเกรงจะผิดกฎหมายการเลือกตั้งที่การลงคะแนนต้องเป็นความลับ หรือแม้แต่การอนุญาตให้ผู้ที่คนพิการไว้ใจ เข้าให้ความช่วยเหลือก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ทั้งที่ระเบียบการเลือกตั้งระบุเอาไว้แล้วว่า “ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนแก่คนพิการและทุพพลภาพ… หรือให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจเป็นผู้ทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งแทนโดยความยินยอม…”
“หากกังวลกลัวจะมีการล็อกสเปกหรือการซื้อคะแนน การมีหัวคะแนน แต่หน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วยมักจะใช้วิธีการพิจารณาเอาเองและไม่ยุ่งดีกว่า เพราะเกรงจะผิดกฎหมาย ทั้งที่แต่ละหน่วย มีทั้งเจ้าหน้าที่จาก กกต. เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแม้แต่อาสาสมัคร ดูแลการเลือกตั้งจากหน่วยต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ สามารถให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้เข้ามาช่วยเหลือได้ หรือให้มีการลงชื่อ ลงรายละเอียดของการช่วยเหลือเพื่อให้มีความโปร่งใส เพราะคนพิการเองก็ยังต้องมีการฝึกในการเข้าคูหา การใช้สิทธิเลือกตั้ง การกากบาทลงคะแนนด้วยเช่นกัน ในส่วนพื้นที่การเข้าถึงจะต้องไม่มีพื้นที่ขรุขระ พื้นที่ยกระดับ อันเป็นอุปสรรคในการเข้าถึง รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ เช่น หากจัดที่โรงเรียน เอาโต๊ะนักเรียนมาใช้ ซึ่งวีลแชร์ใช้ไม่ได้ และการประชาสัมพันธ์ จะต้องมีการใช้ตัวช่วยต่าง ๆ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่านี้ เช่น มีล่ามภาษามือ แอปพลิเคชันที่เหมาะสม จะช่วยให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น”
สุภวัฒน์ เสมอภาค | ผู้ประสานงาน องค์การคนพิการสากล
สอดคล้องกับ ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายเครือข่าย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย คนพิการทางการได้ยิน ระบุว่า ที่ผ่านมามีข้อมูลที่ถูกนำเสนอผ่านภาษามือน้อย ทำให้ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายหรือคุณสมบัติผู้สมัครเลือกตั้งได้เพียงพอ และบางคนก็ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับคนพิการ นอกจากนั้นยังพบว่า ในคูหาเลือกตั้งยังขาดเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจภาษามือ ทำให้คนพิการทางการได้ยิน ไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าคูหาเลือกตั้ง
“ก่อนการเลือกตั้งอยากให้มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง อยากให้มีสื่อเผยแพร่ในภาษามือ มีล่ามช่วยในการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้ และเลือกได้ตามใจชอบว่าคนไหนมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง และเวลาไปเลือกจะได้รู้ว่าหมายเลขไหนเป็นใครบ้าง เช่น ทำเป็นคลิปวิดีโอในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ตลอดจนขั้นตอนการเดินทางไปลงคะแนนในคูหาก็ให้มีภาพในแต่ละขั้นตอนการลงคะแนน เพราะคนหูหนวกรับรู้ด้วยภาพ หรือให้มีล่ามแนะนำและพาไปทำในขั้นตอนต่าง ๆ เมื่อก่อนคนหูหนวกเข้าถึงยาก กลัวว่าจะใช้สิทธิ์ได้หรือเปล่า ทางสมาคมคนหูหนวกประชาสัมพันธ์ให้ไปใช้สิทธิ์แต่พอไปถึงคูหาแล้ว ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จึงต้องกาหมายเลขไปมั่ว ๆ และอยากให้มีการจัดการเลือกตั้งก่อนจะถึงวันจริง คนที่เกิดในกรุงเทพฯ อยากให้บอกก่อนว่าแต่ละอำเภอมีจุดไหนบ้างที่เปิดให้มีการเลือกตั้ง”
ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายเครือข่าย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีข้อกังวลถึงเรื่องการใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งของคนพิการทางจิตหรือทางสติปัญญาที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ไม่มีความสามารถในการทำความเข้าใจหรือตัดสินใจได้เองว่าจะเลือกผู้สมัครคนใด เป็นช่องว่างที่ทำให้ผู้ดูแลใช้โอกาสนี้แนะนำให้คนพิการเลือกตามที่ตนเห็นเหมาะสม ซึ่งอาจเป็นการชี้นำทางความคิดมากกว่าอำนวยความสะดวก
สำหรับข้อมูลที่ได้นำเสนอกันในครั้งนี้ จะถูกบันทึกโดยโครงการ ปปร. สถาบันพระปกเกล้า เพื่อหาแนวทางในการหารือ และแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป เพื่อให้คนพิการที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้ง 1.7 ล้านคน มีโอกาสในการใช้เสียงเลือกตัวแทนท้องถิ่น ผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น