‘วิทยากร เชียงกูล’ เสนอ 2 ฝ่ายเลิกเอาชนะ ยังไม่สาย เจรจาลับ หาทางออก

ประเมินเปิดประชุมสภาฯ ไม่ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง หวั่น สาระถกเถียงในสภาฯ หนีไม่พ้นโจมตีฝ่ายตรงข้าม เชื่อบทบาท ส.ส. – ส.ว.บางส่วน ทำให้เกิดทางออกยาก

รศ.วิทยากร เชียงกูล อาจารย์พิเศษวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองเวลานี้ กับ The Active โดยยืนยันว่า ทุกฝ่ายต้องถอยกันคนละก้าว ที่ไม่ใช่ถอยกันตามชั้นเชิงการเมือง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน เพราะความเชื่อมั่นในตัวเองที่สูงเกินไป โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล ที่อย่างไรก็ยังเชื่อว่า ตัวเองมาแบบถูกต้อง ไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย และก็มีหน้าที่จัดการกับคนที่ทำผิดกฎหมาย

ส่วนทางฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุม ก็มองว่า การเคลื่อนไหวยังยึดรูปแบบเก่า ๆ คิดว่าใช้จำนวนคนจะกดดันได้ บีบได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ตอนนี้ ที่สำคัญ คือ ผู้ชุมนุมตั้งเงื่อนไขที่อาจไม่ได้มองจากโลกแห่งความจริง

โดยมองว่า 3 ข้อเรียกร้อง คือ ข้อ 1. ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ถือว่าเป็นไปไม่ได้ในตอนนี้ เนื่องจากยังไม่เห็นทางไปต่อว่าหากนายกฯ ลาออกแล้วจะอย่างไรกันต่อ เพราะรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้แก้ ดังนั้น การได้มาซึ่งนายกฯ ก็น่าจะได้กลุ่มเดิม ๆ เข้ามา แล้วปัญหาก็จะไม่จบ

ส่วนข้อ 3. ที่เสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ตอนนี้เช่นกัน เพราะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของผู้คนมากเกินไป จะยิ่งสร้างความแตกแยกกว่าเดิม ดังนั้น มีเพียงข้อ 2 คือ แก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องขับเคลื่อน เรียกร้องเรื่องนี้ให้ชัดเจน และภาครัฐเองก็ต้องแสดงความจริงใจเรื่องนี้ด้วย

“ข้อ 3 ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อยากให้ตัดออกไปก่อนเลย เพราะมองว่ายังไม่ใช่เวลา เรื่องสถาบันฯ กับคนไทยกลายเป็นประเพณี คล้ายจะเป็นเหมือนเรื่องศาสนาไปแล้ว ซึ่งประเทศที่มีความขัดแย้งด้วยประเด็นเหล่านี้ บทสรุปไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย ดังนั้น สิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรทำ คือ ใจเย็น ๆ เพราะเชื่อว่าประเด็นนี้จะปรับตัวไปตามวิวัฒนาการของสังคมเอง”

นอกจากนี้ รศ.วิทยากร ยังส่งข้อแนะนำถึงรัฐบาล ว่าควรกำหนดกรอบเวลาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อแสดงความจริงใจ

“ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องจริงใจแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดกรอบเวลาแก้ให้จบภายใน 6 เดือน หรือเท่าไรก็ว่าไป แล้วรัฐบาลก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ให้ประชาชนไปตัดสิน เลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ภายใต้กติกาใหม่ ทุกอย่างจะจบได้”

รวมถึงอยากเห็นผู้ชุมนุมชูประเด็นปฏิรูปสังคมให้เข้มข้น ให้มากกว่าข้อเรียกร้องทางการเมืองกลุ่มเฉพาะ เช่น ปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างไรให้ฟื้นจากวิกฤตโควิด-19 จะแก้ปัญหาคนตกงานอย่างไร แก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างไร รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องการลิดรอนสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาภาครัฐอย่างไร

รศ.วิทยากร ยังแสดงความเห็นต่อกรณีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ อาจไม่ใช่ทางออกของปัญหาการเมืองตอนนี้ เพราะสาระสำคัญที่รัฐบาลตั้งไว้ในการเปิดประชุมสภาฯ ยังเห็นว่าเป็นประเด็นที่เน้นโจมตีฝั่งตรงข้าม ไม่ใช่การถกเถียงแก้ปัญหา แต่เน้นโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งยังเห็นว่า แม้จะพยายามหาทางออกด้วยกลไกสภาฯ แต่ด้วยคุณสมบัติของ ส.ส. และ ส.ว. ตอนนี้ ก็ถือว่ายังมองไม่เห็นทางออก เพราะสมาชิกรัฐสภาบางส่วนยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น การจะไปคาดหวังให้จริงจังกับการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญที่อาจทำให้ ส.ว.ถูกลดอำนาจลง ก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก

ดังนั้น ส.ว. เองต้องไม่กลัวสูญเสียอำนาจ และเลือกที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม ลดอำนาจตัวเองลงบ้าง เพราะหากจะยกเลิก ส.ว.ไปเลยอาจทำได้ยาก ดังนั้น เอาแค่ลดอำนาจ ส.ว. ไม่ต้องมาเลือกนายกรัฐมนตรี แค่นี้ก็น่าจะทำให้บรรยากาศหลาย ๆ อย่างดีขึ้น แต่ก็ต้องคุยกันก่อนให้ได้ข้อสรุปก่อน

ขณะที่ทางออกต่อสถานการณ์ตอนนี้ รศ.วิทยากร เชื่อว่า ยังไม่สายที่จะพูดถึงการเจรจา เพราะในโลกของการเมืองการเจรจายังใช้ได้เสมอ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเจรจากันอย่างเป็นทางการ ซึ่งรัฐบาลอาจส่งตัวแทนที่เป็นใครก็ได้มาพูดคุยกับผู้ชุมนุม โดยที่ไม่ใช่ พลเอก ประยุทธ์ ที่สำคัญ คือ ต้องคุยกันแบบลับ ๆ ไม่ต้องคุยออกสื่อ เพราะถ้าออกสื่อจะกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อ โจมตีกันไปมา โดยต่างฝ่ายต่างก็ต้องใจกว้าง ไม่ใช่เอาชนะกันอย่างเดียว

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น